svasdssvasds

'ฤดูหนาว 66' ช้าไป 1 เดือน กรมอุตุฯ เผย ฝนยังตกหนัก คาดอาจหนาวกลางเดือนนี้

'ฤดูหนาว 66' ช้าไป 1 เดือน กรมอุตุฯ เผย ฝนยังตกหนัก คาดอาจหนาวกลางเดือนนี้

ผลกระทบจากเอลนีโญทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวช้ากว่าที่คาดถึง 1 เดือน กรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า ให้รอลุ้นสภาพอากาศทั่วประเทศในช่วง 14 - 15 พ.ย. อีกครั้ง แล้วจะพิจารณาประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ

ผ่านมากว่า 1 อาทิตย์แล้ว ที่ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ ฤดูหนาว อย่างเป็นทางการ จากเดิมที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายไว้ว่า อุณหภูมิของประเทศโดยรวมจะลดต่ำลงในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม แต่วันนี้ (7 พ.ย. 66) อากาศยังร้อนปรอทแตก และไม่มีวี่แววว่าจะหนาวเย็นแต่อย่างใด

ล่าสุด กรมอุตุฯ เผยว่า ต้องรอถึงช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 66 เสียก่อน แล้วจะมีการพิจารณาเข้าสู่ฤดูหนาวอีกครั้ง เนื่องจากในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศยังมีฝนตกหนัก อันเป็นผลกระทบมาจากเอลนีโญ ที่ทำให้หน้าฝนของประเทศไทยถูกดีเลย์ออกมา จนกระทบไปถึงการผลัดเข้าสู่ฤดูหนาวในปีนี้

กรมอุตุฯ รอพิจารณาการประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวอีกครั้งกลางเดือน พ.ย. 66

จากข้อมูลของกรมอุตุฯ ที่ได้พยากรณ์อากาศในช่วง 7 วันข้างหน้า พบว่า ประเทศไทยยังมีฝนตกหนักอยู่ในบางพื้นที่ เพราะได้รับความกดอากาศสูงและมวลความเย็นจากประเทศจีน และลาว

โดยอุณหภูมิต่ำสุดในประเทศไทย ณ ขณะนี้อยู่ที่จังหวัดตาก (20 องศาเซลเซียส) ระหว่างนี้ประชาชนทั่วประเทศก็ต้องพบกับฝนฟ้าคะนองไปก่อน จากนั้นช่วงกลางเดือน พ.ย. ตื่นมาลุ้นอีกทีว่า อากาศจะเย็นลงหรือยัง

สามารถดูรายละเอียดพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้าและสภาพอากาศของแต่ละภาคได้ด้านล่าง

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า

วันที่ 7 พ.ย. 66

ประเทศไทยตอนบนได้รับความกดอากาศสูงและมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน ทำให้ประเทศไทยในบางพื้นที่จะมีฝนฟ้าคะนอง

วันที่ 8 – 11 พ.ย. 66

บริเวณความกดอากาศสูงและมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนอ่อนกำลังลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนอาจมีหมอกปกคลุมในตอนเช้า นอกจากนี้ยังมีลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลใต้และอ่าวไทยเข้ามา จึงทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจมีฝนตกหนักในบางแห่ง

หลังจากวันที่ 12 พ.ย.

ประเทศลาวตอนบน ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ถูกมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนเข้าปกคลุม ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและตกหนักได้ในบางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง

สภาพอากาศของแต่ละภาค

ภาคเหนือ

โดยรวมมีหมอกในตอนเช้า มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 30% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งในวันที่ 11 – 12 พ.ย. 66 อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 20 – 26 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยรวมมีหมอกในตอนเช้า มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20% ของพื้นที่ในช่วงวันที่ 7 – 10 พ.ย. 66

ภาคตะวันออกรวมทั้งชายฝั่ง

ในช่วงวันที่ 7 – 8 พ.ย. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20% ของพื้นที่ ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร

ในช่วงวันที่ 9 – 12 พ.ย. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60% ของพื้นที่ มีฝนตกหนักบางแห่ง ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 23 – 27 องศาเซลเซียส

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย)

ในช่วงวันที่ 7 พ.ย. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60% ของพื้นที่ ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร

ในช่วงวันที่ 8 - 12 พ.ย. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80% ของพื้นที่ ทะเลมีคลื่นสูง 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 22 – 26 องศาเซลเซียส

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (อันดามัน)

ในช่วงวันที่ 6 - 7 พ.ย. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60% ของพื้นที่

ในช่วงวันที่ 8 - 12 พ.ย. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80% ของพื้นที่ มีฝนตกหนักในบางแห่งทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 22 – 26 องศาเซลเซียส

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 7 - 8 พ.ย. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 30% ของพื้นที่

ในช่วงวันที่ 9 - 12 พ.ย. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60% ของพื้นที่ มีฝนตกหนักในบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 22 – 26 องศาเซลเซียส

กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ในช่วงวันที่ 7 - 8 พ.ย. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 30% ของพื้นที่

ในช่วงวันที่ 9 - 12 พ.ย. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60% ของพื้นที่ มีฝนตกหนักในบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 24 – 27 องศาเซลเซียส

การคาดหมายสภาพอากาศจากกรมอุตุฯ Cr. TMD

ข้อควรระวัง สำหรับช่วงวันที่ 8 – 12 พ.ย. 66

กรมอุตุฯ ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ราบลุ่ม เริ่มทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองด้วย

ที่มา: TMD

เนื้อหาที่น่าสนใจ

 

 

related