svasdssvasds

สัตว์แพทย์ เผยวิธีป้องกันเชื้ออันตรายจากอีกัวนาเขียว ย้ำ! อย่าตื่นตระหนก

สัตว์แพทย์ เผยวิธีป้องกันเชื้ออันตรายจากอีกัวนาเขียว ย้ำ! อย่าตื่นตระหนก

นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์คลองหลวง เผยวิธีป้องกันเชื้อซัลโมเนลลาจาก 'อีกัวนาเขียว' แค่ล้างมือให้สะอาด ไม่สัมผัสอุจจาระโดยตรง และกินอาหารปรุงสุก เพียงพอแล้ว ย้ำอีกว่า ให้ตื่นตัว แต่อย่าตื่นตูม

จากกรณี ‘อีกัวนาเขียว’ สัตว์เลื้อยคลาน 4 ขา หน้าตาไม่รับแขก ได้กรีธาทัพบุกในพื้นที่บ้านห้วยบุ้ง ต.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี จนทำให้ชาวบ้านทนไม่ไหว ออกมาส่งเสียงถึงผู้เกี่ยวข้อง วอนช่วยเข้ามาจัดการจำกัดการแพร่ขยายพันธุ์ของอีกัวนาเขียว

ล่าสุด ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว เพื่อดำเนินการจับ ‘อีกัวนาเขียว’ ด้วยการใช้บ่วงเหวี่ยงไปที่ลำคอของมัน แล้วจับคล้ายคลึงกับวิธีที่ชาวบ้านใช้จับจักปอม

เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี จับอีกัวนาเขียว Cr. Nation Photo

เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี จับอีกัวนาเขียว Cr. Nation Photo

ผลปรากฏว่า เจ้าหน้าที่สอยมาได้ 6 ตัว จากจำนวนเกือบ 100 ตัว เตรียมวางแผนกันอีกรอบเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการจำกัดการแพร่พันธุ์ของสัตว์ต่างถิ่นชนิดนี้ เพราะหากปล่อยเอาไว้ อาจเพิ่มปริมาณได้ถึง 1 หมื่นตัว และชาวบ้านอาจได้รับอันตรายจากเชื้อแบคทีเรียที่มาพร้อมอุจจาระของ ‘อีกัวนาเขียว' อีกด้วย

สำนักข่าว Spring News จึงได้สอบถามไปยัง นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์คลองหลวง ในกรณีเรื่องสุขอนามัยของประชาชน การระมัดระวังในการใช้ชีวิตท่ามกลางดง ‘อีกัวนา’ พร้อมทั้งแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพิษสงของ ‘อีกัวนาเขียว’ ที่กำลังแพร่สะพัดไปบนโลกออนไลน์ด้วย

***ขอให้ประชาชนตื่นตัว แต่อย่าตื่นตระหนัก! นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์หรือ หมอวีกล่าว

นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา กล่าวว่า เชื้อซัลโมเนลลาคือ แบคทีเรียปกติ ที่มีอยู่ในสัตว์เลื้อยคลานแทบทุกชนิดอยู่แล้ว ซึ่งเชื้อดังกล่าวจะผสมอยู่ในอุจจาระ หรืออะไรก็ตามที่ผ่านออกมาช่องทวารรวม ช่องปัสสาวะ ช่องเพศ หรือลำไส้

นอกจากนี้ เชื้อซัลโมเนลลาจะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิห้อง หรือตั้งแต่อุณหภูมิ 28°c เรื่อยไปจนถึง 70°c และเชื้อจะแข็งแรงได้ดียิ่งขึ้นหากอุณหภูมิบริเวณนั้นอยู่ที่ตัวเลขราว ๆ 37°c

เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี จับอีกัวนาเขียว Cr. Nation Photo

อันตรายจากเชื้อซัลโมเนลลา

อาการเบื้องต้นที่นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ แจ้งคือ ผู้ใดที่มีอาการ ถ่ายเหลว ท้องเสีย มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน หรือปวดศีรษะ แล้วอาศัยอยู่ในบริเวณการแพร่พันธุ์ของอีกัวนาเขียว หรือพื้นที่ที่มีสัตว์เลื้อยคลานอาศัยอยู่เยอะ ให้สันนิษฐานว่า อาจได้รับเชื้อซัลโมเนลลา

แต่นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ ย้ำว่า ไม่ต้องตื่นตระหนักกับสถานการณ์ดังกล่าวมากนัก เพราะจริง ๆ แล้วเชื้อซัลโมเนลลาอยู่ใกล้กับเรามากกว่าที่คิดเช่น หมา แมวจรจัด แมวที่กินแมลงสาบ หรือแมวที่ตะปบจิ้งจกกินเป็นอาหาร ก็ล้วนเคยตรวจเจอเชื้อซัลโมเนลลากันทั้งนั้น

แม้กระทั่งสัตว์ปีกอย่าง ไก่ เป็ด หรือนกหลาย ๆ ชนิดก็ล้วนมีเชื้อซัลโมเนลลาอยู่ในตัวของมันเองแทบทั้งสิ้น เพราะสัตว์ปีกเหล่านี้ หากเราสืบย้อนไปก็จะพบว่า ได้วิวัฒนาการมาจากตระกูลสัตว์เลื้อยคลาน เพื่อปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมของโลกที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป ดังนั้น แบคทีเรียที่มีอยู่ในสัตว์เลื้อยคลาน ย่อมมีอยู่ในสัตว์ปีกเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

แม้ใกล้ตัวกว่าที่คิด แต่ขอรู้วิธีป้องกันไว้ย่อมสบายใจกว่า

อย่างแรกที่นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ เน้นย้ำให้ประชาชนคำนึงเป็นอันดับแรก ๆ เลยคือ เรื่องการรักษาความสะอาด ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ทำกับข้าว ล้างจาน ออกไปเก็บพืชผักสวนครัว ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อซัลโมเนลลาที่อาจส่งมาถึงเราผ่านอุจจาระหรือฉี่ของอีกัวนาเขียวโดยที่เราไม่ทันได้ระวังตัว

อย่างที่สองคือ เรื่องการประกอบอาหาร หากประชาชนครัวเรือนไหนที่ต้องออกไปหาวัตถุดิบ หรือซื้อข้าวของมาประกอบอาหารรับประทานให้ล้างให้สะอาดเข้าไว้ แต่ในขั้นตอนนี้ นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง หากเราปรุงอาหารให้สุก เท่านี้ก็ปลอดภัยจากเชื้อซัลโมเนลลาแล้ว

อย่างที่เรียนไว้ด้านบน เชื้อซัลโมเนลลาจะเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิตั้งแต่ 28°c เรื่อยไปจนถึง 70°c เมื่อโดนความร้อนจากไฟที่อุณหภูมิสูง ๆ เชื้อดังกล่าวก็จะหายไปเอง หรืออีกวิธีคือ ให้นำวัตถุดิบที่จะนำมาประกอบอาหารหรือเตรียมประกอบอาหารแช่ฟรีซเอาไว้ อุณหภูมิต่ำเกินไปเชื้อซัลโมเนลลาก็ไม่สามารถอยู่ได้เช่นกัน

เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี จับอีกัวนาเขียว Cr. Nation Photo

ส่วนคำถามที่ว่า อีกัวนาเขียวซึ่งอาจมีเชื้อซัลโมเนลลาอยู่ หากจะนำมาทำกินเพื่อกำจัดปริมาณการแพร่พันธุ์เพิ่มอีกแรงจะเป็นอะไรไหม นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ กล่าวว่า การกินเนื้ออีกัวนาเขียวตรง ๆ เลยก็ ‘ไม่เป็นอันตราย’ เช่นกัน หากถูกปรุงสุกเรียบร้อย

แม้หน้าจะโหด แต่อยู่ในโหมดกินพืช

นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ ชำแหละข้อเท็จจริงที่ว่า ‘อีกัวนาเขียว’ สามารถกัดนิ้วคนขาดได้จริงหรือไม่นั้น? ไม่เป็นความจริง

เป็นไปได้ยากที่อีกัวนาจะกัดนิ้วคนขาดได้ Cr. Nation Photo

สัตว์เลื้อยคลานไซส์ใหญ่อย่างอีกัวนาเขียว ต่อให้กัดยังไงก็กัดไม่ขาด คำว่านิ้วขาด ฟันของสัตว์ต่างถิ่นผู้นี้ต้องผ่ากระดูก เส้นเอ็น และข้อต่อของนิ้วเราออกไปด้วย

แต่สำหรับผู้ที่ถูกกัด อาจเกิดรอยแผลจนต้องไปเย็บเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะฟันของอีกัวนาเขียวมีลักษณะเหมือนใบเลื่อย  

หากเราคิดลงลึกไปอีกชั้น ทำไมจู่ ๆ ถึงมีคนถูกอีกัวนาเขียว ที่เป็นสัตว์กินพืชที่รักสันโดษเสียนี่กะไรกัดได้นะ?

นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ อธิบายถึงธรรมชาติของอีกัวนาเขียวเพิ่มว่า หากเรานั่งอยู่ที่บ้านของเราเฉย ๆ เราจะไม่มีทางถูก อีกัวนาเขียวกัดแน่ ๆ เพราะอีกัวนาเขียวคือสัตว์กินพืช หมายความว่ามันไม่มีสัญชาตญาณของผู้ล่า

แม้ในวัยเยาว์จะมีกินแมลงตัวเล็ก ๆ บ้างเพื่อต้องการเสริมโปรตีน แต่พอเติบโตเป็นหนุ่มสะพรั่ง ก็หันมากินพืชแบบเต็มตัว ทำให้ส่งผลต่อเนื่องถึงเรื่องการใช้ชีวิตอีกัวนาเขียว มันจะใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ เดินช้า ๆ ทำอะไรช้า ๆ เพราะพลังงานไม่ได้เยอะเนื่องจากกินอาหารสีเขียวเป็นหลัก

อีกัวนาเขียวชอบใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ Cr. Nation Photo

แต่เมื่อไหร่ที่รับรู้ได้ถึงภัยอันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามาถึงตัว มันจะสับแหละ วิ่งหนีแบบไม่คิดชีวิต และ ‘วิ่งเร็วมาก’   

ฉะนั้น หากเราจู่ ๆ ไม่ไปจับ ตอแย บังคับให้มันทำนู่นทำนี่ หรือไปทำให้อิกัวนาเขียวรับรู้ได้ว่า ตัวมันเองกำลังสูญเสียอิสรภาพที่ตัวเองถือครองอยู่ มันก็จะขัดขืนและหนีทันที

ลักษณะคล้ายคลึงกับตัวเงินตัวทองแบบที่เราเคยเห็น สัตว์เลื้อยคลานจำพวก Reptile หรือ Wizard ที่มี 4 ขา มีหางยาว มักจะไม่เข้าใกล้มนุษย์โดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว

นายสัตว์แพทย์ ทวีศักดิ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า หากพินิจกันดี ๆ อีกัวนาสีเขียวน่ากลัวน้อยกว่าหมา แมวเสียอีก ภายใต้วงเล็บว่าหากเราไปบังคับอะไรมัน สัตว์อย่างหมาแมว แม้เจ้าของจะรัก เลี้ยงดูประคบประหงมมาดีแค่ไหน แต่เมื่อไปบังคับก็อาจจะโดน ‘งับ’ เข้าให้

ล่าสุด ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ขอความร่วมมือสำหรับผู้ที่มีอีกัวนาเขียวไว้ในครอบครอง ให้ลงทะเบียนแจ้งจำนวนที่ครอบครอง เพื่อเป็นข้อมูลในการควบคุมจัดการประชากรอิกัวน่าเขียว ผ่านทางช่องทาง QR Code หรือ ลิงค์ https://shorturl.asia/cx3Ig

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนจัดการสัตว์ป่าต่างประเทศ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา หรือโทร. 0 2561 0777 ต่อ 2912

QR CODE  ลงทะเบียนแจ้งการครอบครองอีกัวนา

ลงทะเบียนแจ้งจำนวนการครอบครองอีกัวนาเขียว

ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related