svasdssvasds

รู้จัก 'อีกัวนาเขียว' สัตว์ต่างถิ่น ถูกปล่อยอิสระ จนระบาดหนักที่ จ.ลพบุรี

รู้จัก 'อีกัวนาเขียว' สัตว์ต่างถิ่น ถูกปล่อยอิสระ จนระบาดหนักที่ จ.ลพบุรี

หลังจากที่พื้นที่บ้านห้วยบุ้ง ต.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถูก 'อีกัวนาเขียว' บุกรุกอย่างหนัก จนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ออกมาชี้แจ้งแล้ว หากปล่อยให้ 'อีกัวนาเขียว' พลุกพล่าน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 50,000 บาท

หลังจากวันที่ 13 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา ชาวบ้านพื้นที่บ้านห้วยบุ้ง ต.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ได้ร้องเรียนผ่านสื่อว่า ขณะนี้ถูก ‘อีกัวนาเขียว’ บุกรุกหนัก และพบว่าเอเลี่ยนสปีชีส์รายนี้กำลังแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วเร็ว

บางหลุมมีไข่ของอีกัวนาเขียวถึง 100 ใบ ชาวบ้านกระทบหนัก รบกวนการใช้ชีวิต แถมสร้างความเสียหายให้กับพีชผลทางเกษตร มิหนำซ้ำยังมีผู้เคราะห์ร้ายถูกอีกัวนาเขียวกัดจนนิ้วขาดอีกด้วย

ล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่อนแถลงการณ์ออกมาแล้ว โดยระบุว่า ได้รับการรายงานเรื่องการแพร่กระจายพันธุ์ของอีกัวนา สัตว์ต่างถิ่น ในพื้นที่เขาพระยาเดินธง อ. พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจ้งเพิ่มว่า อีกัวนาเขียว คือสัตว์ป่าควบคุมกลุ่มที่ 1 ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ เป็นสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ลำดับที่ 690

นอกจากนี้ อีกัวนาเขียวถือเป็นสัตว์ที่ได้รับคุ้มครองตามกฎหมายตามมาตรา 9 พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ. 2565

แนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาแพร่พันธุ์ของ ‘อีกัวนาเขียว’ ตามประกาศของกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีดังนี้

  1. ผู้ใดพบเห็นอีกัวนาเขียว ให้โทรแจ้งสายด่วนหมายเลข 1362 กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อประสานเจ้าหน้าที่ที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียง เข้าไปจับและนำไปส่งตามสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าต่อไป
  2. ผู้ใดที่ครอบครองอีกัวนาเขียว ให้นำข้อมูลมาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ พื้นที่ต่างจังหวัดให้แจ้งเรื่องไปยังสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในท้องถิ่น สำหรับกทมฯ ให้แจ้งไปยังกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติฯ

หลังจากที่กระแสข่าวของ ‘อีกัวนาเขียว’ สะพัดออกไปบนโลกออนไลน์ ทำให้มีผู้คนแวะเวียนกันมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างออกรส

บ้างพูดเชิงติดตลกว่า ในเมื่อมันแพร่พันธุ์เยอะขนาดนี้ ทำไมไม่จับกินเป็นอาหารไปเลย ได้น้ำจิ้มซีฟู้ดเผ็ดกินกันคู่กันรสชาติน่าจะนัวไม่น้อย

Spring News ชวนทำความรู้จักกับ อีกัวนาเขียว เพิ่มเติม ถึงสัตว์สี่ขาเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่กำลังวางฐานทัพอยู่ที่ จ.ลพบุรีในขณะนี้

Info อีกัวนาเขียว

อีกัวนาเขียว เอเลี่ยนสปีชีส์

อีกัวนาเขียว หรือในชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Iguana iguana คือสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า พบมากในแถบเม็กซิโก อเมริกากลาง รวมทั้งบริเวณเกาะต่าง ๆ ของทะเลแคริบเบียน

อีกัวนาเขียวไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นของประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในหมวดเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species)  ลักษณะภายนอกปกคลุมไปด้วยเกล็ด มีหนามอยู่บริเวณแผงหลังของลำตัว

อีกัวนาเขียวไซส์ใหญ่ หนามอาจยาวได้ถึง 4 นิ้ว ที่บริเวณใต้ลำคอมีเหนียง และมีเกล็ดแผ่นใหญ่เป็นรูปวงกลมที่เรียกว่า Subtympanic Shield ในตัวผู้วงกลมดังกล่าวจะมีลักษณะนูนออกมาเล็กน้อย

เกล็ดแผ่นใหญ่เป็นรูปวงกลมเรียกว่า Subtympanic Shield

ลักษณะเด่นของอีกัวนาเขียวคือ มีหางที่ยาวไว้สำหรับป้องกันตัวเองจากสัตว์ผู้ล่า เมื่อรับรู้ถึงภัยที่ใกล้เข้ามา อีกัวนาเขียวจะฟาดหางใส่ศัตรูเพื่อสร้างความเจ็บปวด นอกจากนี้ยังสามารถสละหางบางส่วนทิ้งได้ เพื่อช่วยให้วิ่งได้เร็วขึ้นเมื่อต้องการหนีออกจากสถานการณ์ที่อันตราย

อีกัวนาเขียวระบาดหนักที่ จ. ลพบุรี หางอีกัวนามีความยาวถึง 1.2 - 1.7 เมตร

แม้ชื่อจะเป็น ‘อีกัวนาเขียว’ แต่เกร็ดตามลำตัวสามารถเป็นไปได้หลายสีเช่น เขียว เหลือง น้ำตาล ซึ่งสัตว์จำพวกกิ้งก่าเช่นนี้ ก็จะปรับสีของเกล็ดบนตัวไปตามอุณหภูมิของโลก วันใดที่มีอากาศเย็น เกล็ดบริเวณลำตัวจะมีสีออกคล้ำ และเมื่ออากาศร้อนขึ้นสีของเกร็ดก็จะสดขึ้น

เกล็ดของอิกัวนาเขียวเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิ

กินอะไรเป็นอาหาร?

อีกัวนาเขียวเป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ ในช่วงแรกจะกินแมลง หอยหรือสัตว์เล็ก แต่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ก็จะเริ่มเปลี่ยนมากินพืช ดอกไม้หรือใบไม้แทน ดังเช่นที่ชาวบ้านลพบุรีแจ้งว่า อีกัวนาเขียวได้เข้ามากินถั่วฝักยาวและมันสำปะหรังจนเกลี้ยงไร่

ขนาดและน้ำหนัก

เมื่อโผล่หน้าออกจากไข่จะมีน้ำหนักที่ 12 กรัม จากนั้นน้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้นไปที่ 1 กิโลกรัม เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ความยาวตั้งแต่หัวจนถึงโคนหางจะอยู่ที่ 1.2 - 1.7 เมตร เฉพาะหางอย่างเดียวอาจมีความยาวได้ถึง 30 - 42 เซนติเมตร สำหรับอีกัวขาเขียวที่โตเต็มวัยสามารถมีน้ำหนักมากถึง 7.5 กิโลกรัม

หางอีกัวนามีความยาวถึง 1.2 - 1.7 เมตร

อายุเฉลี่ย

อายุเฉลี่ยที่มากที่สุดของ ‘อีกัวนาเขียว’ คือ 20 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นอีกัวนาเขียวที่อาศัยอยู่ในป่า ส่วนอีกัวนาเลี้ยงจะมีอายุขัยน้อยลงไปตามลำดับ (10-20 ปี) เพราะได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสม

ความนิยมของอีกัวนาเขียวในไทย

อย่างที่กล่าวไปว่า อีกัวนาเขียวไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ฉะนั้น อีกัวนาเขียวจึงถูกนำเข้ามาจากประเทศแถบอเมริกากลาง หรือบริเวณหมู่เกาะแคริบเบียน พบว่าเริ่มมีการนำเข้ามาอย่างแพร่หลายในช่วงปี 2531 ถึงปี 2561ตัวเลขการนำเข้าอีกัวนาเขียวอยู่ราว 1 หมื่นตัว และตัวเลขการส่งออกอยู่ที่ราว 3 หมื่นตัว

เหตุที่มีการส่งออกอีกัวนาเขียวเพราะว่า ในช่วงหลัง ๆ คนเริ่มนิยมเลี้ยงอีกัวนาในระบบปิดกันมากยิ่งขึ้น ในประเทศไทยมีการซื้อขายอีกัวนาเขียวกันอย่างแพร่หลาย

อีกัวนาเขียวไซส์เล็กสนนราคาตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป และสำหรับอีกัวนาที่มีสีสันและลวดลายสวยงามราคาสามารถดีดขึ้นไปถึงหลักหมื่น เมื่อมีความต้องการสูงก็ทำให้เกิดการเพาะพันธุ์กันอย่างแพร่หลาย

การเพาะพันธุ์อีกัวนาเขียว

แหล่งเพาะพันธุ์ในบางแห่งของประเทศไทย เพาะพันธุ์อีกัวนาเขียวด้วยการปล่อยให้อยู่รวมกันเป็นฝูง และปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองตามวิถีธรรมชาติ ซึ่งลักษณะนี้นับว่าไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมเท่าไร

ลองนึกภาพว่าเมื่อถึงช่วงที่อีกัวนาต้องวางไข่ ภายในสภาพแวดล้อมที่มีอีกัวนาเดินพล่านเต็มไปหมด อาจทำให้ไข่ได้รับความเสียหายหรืออาจทำให้ตัวอ่อนของอีกัวนาไม่แข็งแรงได้ ฉะนั้นทางที่ดี แหล่งเพาะพันธุ์ควรมีการจัดการไข่ที่ดีเพื่อไม่ให้ไข่เสียหรือเกิดการติดเชื้อ

ธรรมชาติของอีกัวน่าตัวเมียคือ เมื่อถึงเวลาที่จะวางไข่อีกัวนาตัวเมียจะขุดหลุมไว้สำหรับวางไข่ ดังนั้นหากไม่มีการจัดการเรื่องการผสมพันธุ์ของอีกัวนาเขียวที่เหมาะสม ไข่ที่ออกมาก็จะไม่มีประสิทธิภาพ

อีกัวนาเขียวระบาดที่ จ.ลพบุรีส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างไร?

ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์บอกว่า สัตว์เลื้อยคลานอย่าง ‘อีกัวน่าเขียว’ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและเป็นพาหะของเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลล่า(Salmonella) ซึ่งมีฤทธิ์ในการทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้หากได้รับเชื้อดังกล่าวเข้าไป

อิกัวนาเขียวระบาดหนักที่ จ.ลพบุรี

อิกัวนาเขียวระบาดหนักที่ จ.ลพบุรี

สถานการณ์ตอนนี้ที่จังหวัดลพบุรี ชาวบ้านพบอีกัวนาเขียวหลายร้อยตัวทั่วในบริเวณพื้นที่ ดังนั้นอีกัวนาเขียวหากไปเกลือกกลั้วกับพืชผักผลไม้ของชาวบ้าน หรือไปอุจจาระลงแหล่งน้ำในหมู่บ้าน

เมื่อชาวบ้านนำไปบริโภคต่อโดยไม่ผ่านการทำความสะอาดที่มากเพียงพอ ชาวบ้านอาจได้รับเชื้อดังกล่าว จนก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยเช่น อาการท้องร่วง ได้

ผลกระทบอีกเรื่องของอีกัวนาเขียว คือ ในฐานะเอเลียนสปีชีส์ อีกัวนาเขียวยังไปรุกรานสัตว์พื้นถิ่นของอย่างกิ้งก่าด้วย นอกจากแย่งแหล่งอาหารกันแล้ว กิ้งก่าไซส์เล็กบางตัวอาจถูกอีกัวนาเขียวกินเป็นอาหารด้วย

กล่าวคือกิ้งก่าในฐานะที่เป็นสัตว์ผู้มีลำดับห่วงโซ่อาหารต่ำกว่าอีกัวน่าเขียวย่อมเสียเปรียบในหลาย ๆ มิติ

ย้ำอีกครั้ง หากพบเห็นสามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตามข้อมูลที่แจ้งไว้ด้านบน หรือสามารถอ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สำหรับใครที่ครอบครองอีกัวนาเขียว และปล่อยให้สัตว์เลี้ยงของตนพลุกพล่านอย่างอิสระ จนรบกวนการระบบนิเวศในพื้นที่นั้น ๆ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากจะเลี้ยงต้องเลี้ยงไปตลอด หรือถ้าไม่มีความประสงค์จะเลี้ยงแล้วให้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฯ เพื่อนำมาดูแลต่อ

ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

        Ryt9

       khaokhaew

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related