svasdssvasds

"ไมโครพลาสติก" ในขวดน้ำดื่ม เป็นอันตรายต่อสุขภาพจริงไหม ? อ.เจษฎ์ ไขกระจ่าง

"ไมโครพลาสติก" ในขวดน้ำดื่ม เป็นอันตรายต่อสุขภาพจริงไหม ? อ.เจษฎ์ ไขกระจ่าง

"ไมโครพลาสติก" อันตรายต่อสุขภาพจริงไหม ควรเลิกดื่มน้ำจากขวดพลาสติกหรือเปล่า Spring สรุปให้แบบม้วนเดียวจบ เรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ไว้ อ.เจษฎ์ ยืนยันด้วยตัวเองว่า ยังไม่มีอะไรน่าห่วง อย่าตื่นตระหนกไป ติดตามได้ที่บทความนี้

ถือเป็นเรื่องช็อกอยู่ไม่น้อย เมื่อมีการรายงานว่าในขวดน้ำพลาสติก 1 ขวด อาจมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่กว่า 2 แสนชิ้น คลื่นความสงสัยนี้สร้างความกังวลให้แก่ผู้บริโภคได้พอสมควร

ทว่า หลายคนยังไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างแจ้งเสียที ว่าสรุปแล้ว ชาวบ้านอย่างเรา ๆ ต้องระวังตัวอย่างไร ควรเลิกใช้ขวดน้ำพลาสติกไปเลยไหม

แต่ขอให้ใจเย็นก่อน แม้จะมีการตรวจพบไมโครพลาสติกจริง แต่มีเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ไว้ เพื่อจะได้ไม่ตื่นตระหนกไปมากกว่านี้

ไมโครพลาสติกในขวดน้ำอันตรายจริงมั้ย?

ไมโครพลาสติกในขวดน้ำอันตรายจริงมั้ย?

รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาไขกระจ่างเรื่อง “ไมโครพลาสติก” ถูกพบ ปนเปื้อนในน้ำดื่ม 2 แสนชิ้นต่อลิตร ผ่านเฟสบุ๊ค “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” Spring สรุปมาให้อ่านกันง่าย ๆ ไว้ 3 ประเด็น

อ.เจษฎ์ แจง ไมโครพลาสติก ยังไม่พบหลักฐานว่าเป็นอันตราย

  • ไม่ใช่แค่ไมโครพลาสติก แต่เป็นนาโนพลาสติก

งานวิจัยจาก Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า ได้ใช้แสงเลเซอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ จากนั้นยิงไปที่ตัวอย่างน้ำ 3 ขวด แล้วสังเกตการณ์ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ พบว่า โมเลกุลของพลาสติกถึง 7 ชนิด

วิธีการยิงเลเซอร์เช่นนี้ ทำให้ได้รู้ว่า อนุภาคพลาสติกเพิ่มจาก 10 เท่าเป็น 100 เท่า คิดเป็น 2.4 แสนชิ้นเฉลี่ยในน้ำ 1 ลิตร และกว่า 90% เป็นนาโนพลาสติก (nano plastic) เล็กกว่า 1 ไมโครเมตร ซึ่งนี่ต่างหากคือเรื่องที่น่ากังวล เพราะมันสามารถเข้าร่างกายผ่านระบบทางเดินอาหาร จากการหายใจ เข้าสู่กระแสเลือดได้ ตลอดจนเข้าสู่ร่างกายของเด็กทารก

  • นาโนพลาสติก (ยัง) ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า งานวิจัยที่บ่งชี้ว่านาโนพลาสติกสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้นั้นมีน้อยมาก รวมถึงยังไม่มีหลักฐานที่บอกชัดเจนว่านาโนพลาสติกเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หลายคนอาจตกใจกับตัวเลข 90% ที่พบในขวด แต่เมื่อคำนวณเป็นน้ำหนักจริงแล้วก็นับว่าน้อยมาก  

  • เรื่องที่ต้องกังวลต่อนาโนพลาสติก

อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า นาโนพลาสติกอาจเป็นตัวนำพาสารเคมีอันตรายที่เกิดขั้นตอนการผลิตพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสารเคมีพวกนี้ชัดเจนว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพระบบสืบพันธุ์ของสัตว์และสุขภาพมนุษย์

ยกตัวอย่างเช่น ธาเลต, บิสฟีนอล, ไดออกซิน หรือสารอินทรีย์ที่ปนเปื้อน เหล่านี้เกิดจะอันตรายทันที หากเราได้รับเข้าไปในปริมาณเยอะ ๆ ส่งผลร้ายแรงคือ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง และมีผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญ เช่น ตับ ไต หัวใจ ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์

กินน้ำจากขวดพลาสติกได้เหมือนเดิม อย่าตื่นตระหนก

ถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงพอชั่งน้ำหนักจากทั้ง 2 มุมได้แล้วว่า อนุภาคเล็ก ๆ ที่อยู่ในขวดน้ำดื่มอาจไม่ใช่ไมโครพลาสติกแล้ว แต่เป็นนาโนพลาสติก ซึ่งอาจารย์เจษฐ์สรุปถึงเรื่องนี้ไว้ว่า นาโนพลาสติกขณะนี้ยังไม่ใช่เรื่องอันตราย (มากขนาดนั้น)

แต่ก็ควรตระหนักรู้ไว้ว่า อนุภาคไซส์จิ๋วรายนี้สามารถนำพาผลกระทบแง่ร้ายมาสู่ร่างกายได้ (ถึงชีวิต)

ทั้งนี้ สำหรับใครที่กำลังเป็นกังวล และเกิดระแวงต่อขวดน้ำดื่มในตู้เย็นที่บ้าน ขอให้ใจเย็นไว้ ทางสมาคมน้ำดื่มบรรจุน้ำขวดนานาชาติ (the International Bottled Water Association) ออกาแสดงความคิดเห็นออกสู่สาธารณะ เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกจนเกินไป โดยระบุว่า

 ขณะนี้ ยังไม่มีวิธีการและมาตรฐานร่วมกันทั่วโลกในการตรวจนาโนพลาสติก และยังไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ที่มารองรับเรื่องอันตรายของนาโนพลาสติกต่อสุขภาพ
 

ที่มา: อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฐ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related