svasdssvasds

ทำไมกานาถึงมีขยะเสื้อผ้ามากกว่าปลาในทะเล? ผลพวงภัยร้ายจาก 'Fast Fashion'

ทำไมกานาถึงมีขยะเสื้อผ้ามากกว่าปลาในทะเล? ผลพวงภัยร้ายจาก 'Fast Fashion'

ตลาด “คันตามันโต” ในประเทศกานาขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในตลาดขายสินค้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทว่า สื้อผ้ามือสองที่ขายไม่ออกมักถูกทิ้งกลายเป็นขยะในทะเล เรื่องนี้เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน ติดตามได้ที่บทความนี้

ขยะในทะเลกานามีมากแค่ไหน?

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นี อาร์มาห์ และคนงานชาวประมงนับ 30 ชีวิต ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงในการยกแห่สุดหนักขึ้นมา หลังออกทำการประมงนอกชายหาดคอร์ล กอนโน ในกรุงอักกรา เมืองหลวงของกานา และสิ่งที่ตกมาได้ก็คือปลาบาร์ราคิวดากับเสื้อผ้ามือสอง

เสื้อผ้าเหล่านั้นถูกโยนทิ้งลงมหาสมุทรแอตแลนติก จากตลาดคันตามันโต ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงอักกรานั่นเอง ที่นั่นใหญ่โต กินพื้นที่มากกว่า 50 ไร่ และเป็นสถานที่วางจำหน่ายเสื้อผ้า รองเท้า หรือสินค้ามือสองอื่นๆที่มาจากประเทศตะวันตกและจีน

Credit ภาพ REUTERS

เสื้อผ้ามือสองในกานามาจากไหน?

หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม OR Foundation รายงานว่า บรรดาพ่อค้าแม่ค้ากานานำเข้าเสื้อผ้าถึง 15 ล้านตัวต่อสัปดาห์ แต่ 40 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าเหล่านั้นกลายเป็นขยะ เพราะเสื้อผ้าที่สภาพไม่ดีและน่าจะนำไปขายต่อไม่ได้แล้ว จะถูกนำไปทิ้งที่บ่อขยะ และบ่อยครั้งพวกมันก็ลงเอยอยู่ที่ทะเล ก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมตามมา

Credit ภาพ REUTERS

กานากลายเป็นประเทศที่นำเข้าเสื้อผ้ามากที่สุดในโลกเมื่อปี 2021 โดยข้อมูลจากหอสังเกตการณ์ความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ หรือ OEC ระบุว่า เสื้อผ้าที่กานานำเข้าในปี 2021 นั้นมีมูลค่า 214 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาจากจีน สหราชอาณาจักรและแคนาดา

กลุ่ม Green Peace ประท้วงที่แฟชั่นวีคที่เทศกาลเบอร์ลิน โดยใช้ขยะจากกานา Credit ภาพ REUTERS

Fast Fashion ฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจกานา?

แต่ปัญหาฟาสต์แฟชั่น (fast fashion) หรือแฟชั่นตามกระแสที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้กานาประสบปัญหา เพราะคลื่นสึนามิของเสื้อผ้ามหาศาลหลั่งไหลมาจากประเทศร่ำรวย ในขณะที่พ่อค้าแม่ค้าชาวกานาขายสินค้าได้ถูกลง เพราะราคาตก เนื่องจากคุณภาพสินค้าลดลงไม่เหมือนเก่า

เทศบาลกรุงอักกราเปิดเผยว่า พวกเขาต้องใช้เงินถึงปีละราว 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 17 ล้านบาท ในการเก็บและกำจัดสินค้าที่ไม่เป็นที่ต้องการจากตลาดคันตามันโต

แต่ถึงกระนั้นก็ยังรับมือได้เพียงแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งของที่เหลือทิ้งจากตลาดแห่งนี้เท่านั้น ส่วนที่เหลือมักถูกนำไปเผา ไม่ก็ทิ้งลงตามระบบนิเวศต่างๆ ก่อให้เกิดปัญหาตามมา เนื่องจากที่กรุงอักกราขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง โดยเฉพาะแหล่งกำจัดขยะ

กองขยะกว้างสุดลูกหูลูกตา ผลพวงจาก Fast Fashion Credit ภาพ Reuters

ชายหาดของกรุงอักกราก็ประสบปัญหา เพราะที่นี่กลายเป็นแหล่งทิ้งขยะ เจ้าหน้าที่พบขยะสูงมากกว่า 1.5 เมตรกองอยู่ตามจุดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกานากลับไม่ได้จริงจังมากนักในการแก้ไขปัญหาเสื้อผ้ามือสอง เพราะพวกเขาเองก็กลัวว่า ถ้าหากเข้าไปทำอะไรมากเกินไป จะไปกระทบกับผู้คน เพราะตลาดคันตามันโตสร้างงานจำนวนมหาศาล

 

ที่มา: Phys.org

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related