svasdssvasds

รู้จัก แร้งประเทศไทย เทศบาลประจำผืนป่า กับพิธีกำจัดศพที่เป็นดีต่อโลกสุดๆ

รู้จัก แร้งประเทศไทย เทศบาลประจำผืนป่า กับพิธีกำจัดศพที่เป็นดีต่อโลกสุดๆ

ชวนใจฟู กับลูกพญาแร้งเกิดใหม่ในไทย ทำไมการเกิดของลูกพญาแร้งจึงสำคัญ ชวนเปิดโลกของแร้งประเทศไทย ที่หายสาบสูญจากป่าไทยไปแล้วกว่า 30 ปี!

ชาวทิเบตเชื่อว่า แร้ง คือ ผู้นำทางดวงวิญญาณของผู้ตายไปยังวิมานสวรรค์ ดังนั้น เมื่อมีคนตาย ชาวทิเบตจะนำศพไปวางเพื่อให้แร้งรุมทึ้ง ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมในการจัดการซากศพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด

สปริงนิวส์ในคอลัมน์ Keep The World จึงอยากชวนผู้อ่านเปิดโลกของแร้ง ว่าจริง ๆ แล้ว สัตว์ที่หากินแต่กับศพไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และแร้งมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศมาก ๆ แต่ตอนนี้ ประชากรแร้งกำลังวิกฤตหนักมาก เกิดอะไรขึ้น? Keep The World จะเล่าให้ฟัง

แร้ง เทศบาลประจำผืนป่า

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับแร้ง

หากพูดถึงแร้ง หรือ อีแร้ง ที่แม้เป็นส่วนหนึ่งของนกตระกูลนกนักล่า แต่วิธีการหาอาหารของมันนั้นช่างแตกต่างกับนักล่าตัวอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะแร้งไม่ฆ่าสัตว์ตัวอื่น แต่จะทำตัวเป็นกล้องวงจรปิด รอเวลาที่เหยื่อเหล่านั้นจะตายลงเสียเอง หรือจะรอให้นักล่าที่ล่าได้ก่อนหน้ากินจนอิ่ม ส่วนที่เหลือหลังจากนั้นก็เป็นเวลาของมันในการ Enjoy eating (หม่ำๆ)

ทั่วโลกมีแร้ง 23 ชนิด มีแร้งในธรรมชาติถิ่นอาศัยเดิมและแร้งอพยพ แร้งแต่ละชนิดจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป แต่หน้าที่หลักของพวกมันที่เหมือนกันคือ การรอกินซาก แต่น่าเศร้าที่ทั่วโลกเหลือแร้งในธรรมชาติ ไม่ถึง 9,000 ตัวแล้ว

แร้ง กินแต่ซาก ไม่ล่าสัตว์เอง

ถิ่นที่อยู่อาศัยของแร้ง

เราสามารถพบแร้งได้ในเอเชียใกล้อินเดีย จีน เมียนมาร์ และอินโดจีน ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก

อุปนิสัยอีแร้ง

แร้งไม่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง มักออกหาอาหารในตอนกลางวัน โดยจะบินเป็นวงกลมบนท้องฟ้าในระดับที่สูงมากพอที่จะมองเห็นการเคลื่อนไหวด้านล่างได้ มีสายตาที่รวดเร็ว และบินในอากาศได้นานถึง 2-3 ชั่วโมงเลย เพื่อมองหาและเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของเหยื่อ

แร้ง บินหาหรือเฝ้าเหยื่อได้นาน 2-3 ชั่วโมง

แร้งในประเทศไทย

ประเทศไทย “เคย” มีแร้งอยู่ในธรรมชาติทั้งหมด 5 ชนิด เป็นแร้งประจำถิ่น 3 ชนิด และแร้งอพยพ 2 ชนิดดังนี้

  • แร้งประจำถิ่นไทย ได้แก่ พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว และแร้งสีน้ำตาล
  • แร้งอพยพ ได้แก่ แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย และ แร้งดำหิมาลัย

ปัจจุบัน แร้งประจำถิ่นไทย อย่างพญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว และแร้งสีน้ำตาล ได้ถูกจัดอยู่ในสถานะที่ สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้วที่แร้งหายไปจากประเทศไทย

รู้จัก แร้งประเทศไทย

พญาแร้งฝูงสุดท้ายเมื่อ 30 ปีก่อน

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 กลางป่าห้วยขาแข้ง ขณะที่พญาแร้งฝูงสุดท้ายกำลังจิกทึ้งซากเก้ง ซึ่งซากเหล่านั้นคืออาหารมื้อสุดท้ายของพวกมัน เพราะซากเก้งดังกล่าวเป็นกับดักของพรานกลุ่มหนึ่งที่ใส่ยาเบื่อไว้ภายใน เพื่อหวังให้เสือมากิน เพื่อเอาหนังเสือผืนใหญ่กลับไปให้นาย แต่โชคร้ายที่ซากนั้นถูกพญาแร้งเจอเข้าเสียก่อน และนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายในบันทึกของแร้งเมืองไทย

ความสำคัญของแร้งต่อระบบนิเวศ

เมื่อเทศบาลประจำผืนป่าหายไป ก็เหมือนเมืองที่ขาดกรมควบคุมโรค เพราะหน้าที่ของแร้งในระบบนิเวศคือการรักษาความสะอาดป่าและการควบคุมโรคระบาด

จะงอยปากที่หนาและแข็งแรงของมันสามารถฉีกเอ็นหรือพังผืด ที่สัตว์ชนิดอื่นมักกินไม่ถึงได้ ทำให้การเก็บกวาดซากสัตว์ของมันเรียกได้ว่าสะอาดหมดจด

ความสำคัญของแร้งต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

กระเพาะของแร้งมีความสามารถพิเศษตรงที่มีกรดเกลือ ซึ่งการย่อยช่วยลดการแพร่กระจายของโรคระบาดในสัตว์ป่า เช่น โรคปากเท้าเปื่อย โรคพิษสุนัขบ้า หากซากสัตว์ถูกปล่อยไว้จนเน่าเปื่อย มีโอกาสเป็นแหล่งเพาะพันธุ์โรคระบาดได้

ดังนั้น กระเพาะของแร้งจึงทำหน้าที่ตัดขาดการระบาดจากซากสู่สัตว์ป่าตัวอื่น ๆ ทำให้ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศยังคงสมดุลและคงความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้ง แร้งคือตัวชี้วัด หากมีแร้งที่ไหน ที่นั่นย่อมอุดมสมบูรณ์

ความพยายามในการฟื้นฟูประชากรแร้งของไทย

30 ปีที่แร้งหายไป หลายคนอาจหมดหวัง แต่คนกลุ่มหนึ่งยังไม่หมดหวัง การร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประชากรแร้งครั้งใหญ่เกิดขึ้นโดย 4 องค์กร คือ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ / กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งได้จัดตั้งโครงการที่ชื่อ “โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย

ความหวังผืนป่าไทยกับการฟื้นฟูประชากรแร้ง ซึ่งได้มีการเพาะพันธุ์พญาแร้งในกรงเลี้ยง โดยพญาแร้งกลุ่มดังกล่าวได้มาจากการพลัดหลงของแร้งขณะอพยพผ่านประเทศไทย และนำมาดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพที่สวนสัตว์นครราชสีมาและสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 5 ตัว นี่จึงถือเป็นความหวังครั้งใหญ่ในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในไทยอีกครั้ง และความพยายามนั้นกำลังประสบความสำเร็จ

ไทยประสบความสำเร็จใจการฟื้นฟูประชากรแร้ง

อีกหนึ่งเรื่องใจฟู ในช่วงปีพ.ศ.2566-2567 คือ โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย มีพญาแร้ง 2 คู่ตั้งท้องและฟักไข่ออกมา

17 มกราคม 2566 ลูกพญาแร้งตัวแรกของไทยเกิดขึ้นโดย พญาแร้งแม่นุ้ย พ่อแจ็ค สวนสัตว์ฯได้นำไข่เข้าตู้ฟัก  จนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ลูกพญาแร้งตัวแรกก็ฟักออกมาลืมตาดูโลก หลังจากอยู่ในตู้ฟักได้ 50 วัน ละเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 แม่นุ้ย พ่อแจ็คก็ออกไข่ใบที่ 2 ซึ่งปกติแล้ว พญาแร้งจะออกไข่ครั้งละใบเท่านั้น

ลูกพญาแร้งตัวแรกลืมตาดูโลก และต้นปี 2567 ก็มีข่าวดีอีกครั้ง พญาแร้งอีกคู่หนึ่ง พ่อป๊อกจากสวนสัตว์โคราช และแม่มิ่งจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง วางไข่ใบแรกในป่าห้วยขาแข้งได้สำเร็จ ถือเป็นลูกพญาแร้งตัวแรกในถิ่นอาศัยเดิม และเหมือนว่าลูกของทั้งสองจะกะเทาะเปลือกไข่ออกมาดูโลกแล้วด้วย

พญาแร้งคู่ที่ 2 ฟักไข่ในป่าห้วยขาแข้ง บททิ้งท้าย

ความหวังครั้งใหม่ได้ก่อกำเนิดขึ้นแล้ว หวังว่าการล่าที่กระทบต่อสัตว์หายากจะลดน้อยลงจนหมดไปด้วยเช่นกัน หากมนุษย์พึงสนใจแต่ประโยชน์ส่วนตน โดยไม่สนใจประโยชน์ส่วนรวมของผืนป่า เมื่อนั้น ป่าจะไม่เหลือให้มนุษย์ได้พึ่งพาอีกต่อไป

ที่มาข้อมูล

คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชนูปถัมภ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related