svasdssvasds

ปลาหุ้มเกราะดึกดำบรรพ์ อาจช่วยไขปริศนาว่าทำไมฟันเราถึงปวด

ปลาหุ้มเกราะดึกดำบรรพ์ อาจช่วยไขปริศนาว่าทำไมฟันเราถึงปวด

นักวิจัยชี้ การศึกษาวิวัฒนาการและโครงสร้างประสาทสัมผัสของปลาหุ้มเกราะอายุ 465 ล้านปี อาจตอบคำถามที่ว่าทำไมฟันของคนเราถึงต้องมีอาการเจ็บปวด

การค้นพบล่าสุดในสาขาบรรพชีวินวิทยาได้ไขความเชื่อมโยงที่น่าสนใจระหว่าง "ปลาหุ้มเกราะ" จากยุคดึกดำบรรพ์ กับอาการปวดฟันของมนุษย์ในปัจจุบัน จากการศึกษาฟอสซิลที่มีอายุกว่า 465 ล้านปี ที่เผยให้เห็นว่าต้นกำเนิดของอาการปวดฟันอาจสืบย้อนไปถึงความสามารถในการรับรู้ของสิ่งมีชีวิตยุคแรกๆ เหล่านี้

โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโกเปิดเผยข้อมูลการค้นพบว่า ตุ่มบนผิวหนังที่เป็นเกราะของปลาหุ้มเกราะซึ่งเรียกว่า โอดอนโทด (odontodes) แท้จริงแล้วมันไม่ใช่เกราะเพื่อป้องกันผิวหนังทั่วไป แต่ยังทำหน้าที่รับความรู้สึกจากภายนอกสู่ภายใน และส่วนประกอบของโอดอนโทดก็นับเป็นวัสดุชนิดเดียวกับส่วนประกอบสำคัญของฟันมนุษย์ ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเคี้ยวอาหาร แต่ยังสามารถถ่ายถอดความรู้สึกร้อน เย็น หรือความเจ็บปวดได้ด้วย

ภาพจำลองปลาหุ้มเกราะ สร้างโดย AI

ผลการวิจัยนี้บ่งชี้ว่า ก่อนที่สัตว์มีกระดูกสันหลังจะพัฒนาโครงกระดูกภายในและโครงสร้างฟันที่ซับซ้อนขึ้นมา พวกมันก็เคยมีกลไกการรับรู้ภายนอกฝังอยู่ในผิวหนัง สอดคล้องกับสมมติฐาน "จากภายนอกสู่ภายใน" ซึ่งเชื่อว่าฟันของคนเราวิวัฒนาการมาจากโครงสร้างการรับรู้ภายนอกร่างกาย และกลไกการรับรู้ของปลาหุ้มเกราะดึกดำบรรพ์ อาจเป็นสิ่งที่วิวัฒนาการมาเป็นเนื้อฟันของมนุษย์

ปลาหุ้มเกราะดึกดำบรรพ์ อาจช่วยไขปริศนาว่าทำไมฟันเราถึงปวด

การค้นพบครั้งนี้ นอกจากจะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจต้นกำเนิดของฟันได้ดีขึ้น ยังช่วยแก้ไขแง่มุมที่เข้าใจผิดกันมาก่อนเกี่ยวกับฟอสซิลยุคดึกดำบรรพ์ ทั้งยังเน้นย้ำถึงธรรมชาติของวิวัฒนาการที่ทำให้สัตว์สายพันธุ์ต่างๆ สามารถปรับตัวได้อย่างน่าทึ่ง เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในแต่ละยุค

งานวิจัยนี้ยังอาจส่งผลต่อชีววิทยาและการแพทย์สมัยใหม่ได้อีกด้วย โดยวิทยาศาสตร์สามารถสำรวจต้นกำเนิดของระบบรับความรู้สึก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาวิธีการรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบรับความรู้สึกในอนาคต