SHORT CUT
"Shinrin-yoku ศาสตร์ญี่ปุ่นแห่งการอาบป่า : เมื่อธรรมชาติไม่เพียงเยียวยาใจ แต่ยังเสริมภูมิคุ้มกันและลดความเครียดได้จริง"
เคยไหม… แค่ได้ยินเสียงใบไม้ไหว หรือลมพัดผ่านต้นไม้สูง ก็รู้สึกหัวใจสงบขึ้นมาเฉย ๆ?
แสงแดดสะท้อนจากลำธารระยิบระยับ กลิ่นดิน กลิ่นไม้ กลิ่นหญ้าอบอวลอยู่รอบตัว นี่แหละ...คือเสน่ห์ของการอยู่ในป่า
ในญี่ปุ่น มีศาสตร์หนึ่งที่เรียกว่า Shinrin-Yoku หรือ “การอาบป่า” ที่ไม่ได้หมายถึงการเดินเขา หรือไปปีนป่าย แต่คือการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า มอง ฟัง สูดกลิ่น สัมผัส และแม้แต่ลิ้มรส เพื่อซึมซับความสงบของธรรมชาติอย่างตั้งใจและช้า ๆ
แนวคิดนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1982 โดย Tomohide Akiyama อดีตหัวหน้าหน่วยงานป่าไม้ของญี่ปุ่น และต่อมาก็ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลเพื่อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า การอยู่ในป่ามีผลดีต่อร่างกายและจิตใจอย่างแท้จริง
หนึ่งในนักวิจัยชั้นนำของศาสตร์นี้คือ ดร. Qing Li แพทย์จาก Nippon Medical School ผู้ศึกษาผลของ phytoncides สารระเหยจากต้นไม้ที่ช่วยปกป้องต้นไม้จากแมลงและเชื้อรา ซึ่งกลายเป็นตัวช่วยชั้นดีที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ดีขึ้น
จากงานวิจัยที่ดร. Li ทำกับกลุ่มพนักงานบริษัทวัยกลางคน เขาพาพวกเขาไปอยู่ในป่าเพียง 3 วัน ผลตรวจเลือดกลับมาบอกว่าร่างกายมีเซลล์ภูมิคุ้มกันมากขึ้น และยังผลิตโปรตีนต้านมะเร็งเพิ่มขึ้นอีกด้วย! เขายังเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไปเดินในเมือง ผลลัพธ์ก็ต่างกันอย่างชัดเจน เมืองไม่ได้ให้ผลดีเหมือนป่าเลย
นอกจากภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นแล้ว การอาบป่ายังช่วยลดความเครียด ลดระดับฮอร์โมนอะดรีนาลีน คอร์ติซอล และแม้แต่ความรู้สึกเศร้า โกรธ หรือวิตกกังวล
คำตอบคือ “ความตั้งใจ” เราไม่ได้ออกแรงเดินเพื่อออกกำลัง แต่เราเดินช้า ๆ ฟังเสียงลมพัด มองแสงลอดใบไม้ ดมกลิ่นเปลือกไม้ และบางครั้ง...แค่นั่งเฉย ๆ ก็พอ
ที่ญี่ปุ่น มีสถานที่ให้ “อาบป่า” อย่างเป็นทางการกว่า 60 แห่ง หนึ่งในนั้นคือป่าธรรมชาติ Kitamoto ในไซตามะ ห่างจากโตเกียวแค่ 90 นาที ที่นี่มีกิจกรรมเดินป่าพร้อมไกด์ พักจิบน้ำชาสมุนไพร ชิมผลไม้ป่า และในบางวันก็มีโยคะใต้ร่มไม้ด้วย
ระหว่างกิจกรรมอาบป่า นักบำบัดธรรมชาติจะชวนให้ผู้เข้าร่วมลองหยิบใบไม้ที่ร่วงอยู่ตามทางขึ้นมา แล้วฉีกออกเบา ๆ เพื่อสูดกลิ่น กลิ่นหอมจาง ๆ ของใบไม้สดนั้นคือการบำบัดที่ธรรมชาติเตรียมไว้ให้โดยไม่ต้องปรุงแต่ง หนึ่งในใบไม้ที่พบได้บ่อยคือ “ใบการบูร” ซึ่งมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและถูกใช้เป็นยากันแมลงตามธรรมชาติ
ตลอดเส้นทาง นักบำบัดจะพาผู้เข้าร่วมหยุดนิ่งเป็นระยะ เพื่อเปิดรับเสียงของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเสียงน้ำไหลเบา ๆ เสียงใบไม้ไหว หรือแม้แต่เงาของใบไม้ที่สะท้อนอยู่บนผิวน้ำ เงาที่บางครั้งดูซับซ้อนและงดงามกว่าตัวใบไม้เสียอีก
กิจกรรมเช่นนี้ไม่ได้เน้นที่ระยะทางหรือความเร็ว แต่ให้ความสำคัญกับการตื่นรู้ของประสาทสัมผัสทั้งห้า เพื่อให้แต่ละคนได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งและสงบ แตกต่างจากการเดินป่าที่เน้นระยะทางมากกว่าบรรยากาศ
หากมีโอกาส ลองไปที่ป่า Akasawa ในจังหวัดนากาโนะ ที่ที่เรียกกันว่า “บ้านเกิดของการอาบป่า” หรือหากอยู่ในโตเกียว ก็ยังมีสวนอุดมไปด้วย phytoncides อย่างสวน Shinjuku Gyoen หรือ Rikugien ก็น่าสนใจไม่น้อย
ที่มา : japantime
ข่าวที่เกี่ยวข้อง