svasdssvasds

4 เทรนด์ยอดฮิต ESG ปี66 ยังแรงดีไม่มีตก หลังธุรกิจลุยปรับองค์กร

4 เทรนด์ยอดฮิต ESG ปี66 ยังแรงดีไม่มีตก หลังธุรกิจลุยปรับองค์กร

ESG คือทางรอดสำหรับการทำธุรกิจยุครักษ์โลก พาเปิด 4 เทรนด์ยอดฮิต ESG ปี2566 ที่ยังแรงดีไม่มีตก หลังธุรกิจลุยปรับองค์กร ว่ามีเทรนด์ไหนบ้าง ?

หลายองค์กรเริ่มปรับตัวเองมาสู่ ESG หนึ่งในแนวคิดเพื่อความยั่งยืนที่ภาคธุรกิจต่างๆ นำมาใช้เป็นปัจจัยในการเลือกลงทุน โดยไม่ได้มุ่งเน้นแค่หาผลกำไรที่เป็นตัวเงินแต่เพียงอย่างเดียว พร้อมคำนึงถึง 3 ด้าน

1. E= Environment (สิ่งแวดล้อม) ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ และได้ประสิทธิภาพสูงสุด รักษาและฟื้นฟู ลดการทำธุรกิจที่ทำลายธรรมชาติ

2.S = Social (สังคม) ซึ่งมองว่าคนคือทรัพยากรที่มีคุณค่าขององค์กร การบริหารงานบุคคลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม ทั้งสุขภาพกายและใจของพนักงานเป็นสำคัญ อีกทั้งต้องเอาใจใส่ลูกค้า และการดูแลคนในสังคม

3.G = Governance (ธรรมาภิบาล) ธุรกิจต้องดำเนินธุรกิจโปร่งใส ตรวจสอบได้ ดำเนินงานทุกอย่างโดยสุจริตและเป็นธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โดยเมื่อหลายปีที่ผ่านมามีการพูดถึง ESG กันมาก แต่…ปัจจุบันเรื่องนี้ถูกนำมาใช้ในเชิงปฏิบัติอย่างจริงจังในภาคธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์ยอดฮิต ESG ปี66 ที่มีการพูดถึงกันมาก วันนี้จะพามาดูเทรนด์ยอดฮิต ESG ปี66 ที่ยังแรงดีไม่มีตก หลังธุรกิจลุยปรับองค์กรกันมากขึ้น โดยนายศุภกร เอกชัยไพบูลย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า 4 เทรนด์น่าสนใจในปี 66 ที่สะท้อนถึงบทบาทของธุรกิจยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี มีดังนี้

1. The circular economy is dead : เศรษฐกิจแบบหมุนเวียนตายแล้ว Leon บอกว่าเหตุที่มันตาย เพราะความจริงแล้วมันไม่มีชีวิตตั้งแต่แรก มันเป็นแค่คำศัพท์ด้านความยั่งยืนที่กำลังถูกควบรวมไปกับคำศัพท์ใหม่ว่า net-zero ซึ่งอย่าไปยึดติดกับคำศัพท์ แต่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายและผลลัพธ์ดีกว่าจะได้ไม่ตกขบวน เมื่อ net-zero กำลังมาเพิ่มความเขียวให้ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่

 

2. Better boards : เทรนด์ของธุรกิจปี 2566 Eastman ซึ่งคณะกรรมการของบริษัทจะหันมาใส่ใจประเด็น ESG ที่มีผลกระทบต่อทิศทางธุรกิจ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการกำกับดูแลสำหรับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG จะมีให้เห็นมากขึ้น Eastman บอกว่า “โครงสร้างกรรมการจะมีความหลากหลายโดยไม่จำกัดแค่เพศ เชื้อชาติ แต่รวมถึงอายุและทักษะที่ต้องมีความหลากหลายขึ้นด้วย ผู้ลงทุนจะเริ่มถามความเชี่ยวชาญของบอร์ดในเรื่องการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือเรื่อง ESG อื่นๆ ที่จะกระทบต่อการทำกำไรของบริษัท

3.Blockchain help supply chains : บทความของ Aura Toader ใน MSCI ESG and Climate Trends to Watch for 2023 ระบุว่ากฎหมายเกี่ยวกับแรงงานทาสยุคใหม่ (Modern-slavery) ในสหภาพยุโรป แคนาดา สหรัฐ และออสเตรเลียกำหนดเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศให้ธุรกิจต้องเปิดเผยกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ในห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นธุรกิจที่มีซัพพลายเชนขนาดใหญ่และมีการส่งออกไปประเทศต่างๆ เหล่านี้จะได้รับผลกระทบเต็มๆ จากกฎหมายดังกล่าว

และในปี 2566 จะมีโครงการนำร่องที่ใช้ Blockchain เพื่อเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น Walmart ร่วมมือกับ IBM เพื่อติดตามผลิตภัณฑ์เนื้อหมูในจีน หรือ Unilever นำเทคโนโลยี GreenToken ของ SAP มาใช้เพื่อจัดหาน้ำมันปาล์ม หรือ Ford Motor ใช้ blockchain เพื่อติดตามโคบอลต์ ซึ่งเป็นแร่สำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากเหมืองสู่ผู้ใช้ปลายทาง หากการทดลองนี้ประสบความสำเร็จจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในการจัดการห่วงโซ่อุปทานทั้งโลกเลยทีเดียว

4. Premium on quality data : ผลสำรวจของ EY โดย Narendra Tiwari พบว่าผู้ลงทุนและหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบกฎระเบียบมีความต้องการข้อมูล ESG ที่พรีเมียมและมีคุณภาพมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะผู้ลงทุนจะแสวงหาข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้จากแหล่งข้อมูลที่เป็นดิจิทัล รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ESG ด้วยระบบ AI ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อความรวมเร็วในการตัดสินใจจัดสรรเงินลงทุนในพอร์ตการลงทุนยุคดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม เขายังบอกอีกว่า ปีนี้จะเห็นการผสมผสานของธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่ชัดเจนมากขึ้น และมันจะเป็นประโยชน์มากสำหรับคนที่คิดออกว่าจะคว้าโอกาสจากประเด็นเหล่านี้อย่างไร อยากให้ตระหนักว่า ESG เป็นหลักการที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวกับสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มองเป็นภาระ เราจะไม่อยากทำและหยุดปรับตัว เมื่อธุรกิจหยุดปรับตัวก็เหมือนกับการตั้งเวลารอการปิดตัวเช่นกัน

related