svasdssvasds

รักษ์โลกให้ถูกทาง ‘ป่าสาละ’ ออกคู่มือ CSR อย่างไรให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง

รักษ์โลกให้ถูกทาง ‘ป่าสาละ’ ออกคู่มือ CSR อย่างไรให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง

บริษัท ป่าสาละ จำกัด ออกคู่มือ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมฉบับนักนิเวศ ตั้งใจแก้ความเชื่อผิดๆ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หวังโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจะเป็นประโยชน์และยั่งยืนอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้เปิดตัวหนังสือ “Anti-Greenwash CSR คู่มือซีเอสอาร์ด้านสิ่งแวดล้อม ฉบับนักนิเวศ” ฉบับเล่มและ e-book (PDF) อย่างเป็นทางการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การก่อตั้งบริษัท ป่าสาละ โดยได้ส่งมอบให้กับ ผู้ให้ทุนวิจัย ลูกค้า พันธมิตร บริษัทที่โดดเด่นด้าน CSR สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ นอกจากนี้ยังได้เผยแพร่ในวงกว้างในรูปแบบ e-book ผ่าน Google Drive โดยเปิดให้แชร์และใช้ได้ในรูปแบบ Creative Commons

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เปิดเผยว่า แรงบันดาลใจในการออกคู่มือ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมฉบับนักนิเวศ มีที่มาจากการที่ตนเองได้คลุกคลีกับวงการธุรกิจด้านความยั่งยืน ทำให้พบว่า บ่อยครั้งที่บริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยงานราชการ มีการดำเนินโครงการ CSR ด้านสิ่งแวดล้อม ที่เมื่อดูเผินๆ เป็นโครงการที่ดี เช่น โครงการปลูกป่า สร้างฝาย แต่กลับมีนักอนุรักษ์ออกมาต่อต้านอยู่เนืองๆ

สฤณี กล่าวว่า สาเหตุที่เธอเลือกใช้คำว่า Anti-Greenwash เป็นปกของคู่มือเล่มนี้ ก็เพราะหลายๆ โครงการ CSR เป็นโครงการที่มักประชาสัมพันธ์ว่าเป็นโครงการที่จะช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับส่งผลกระทบตรงกันข้าม เช่น การสร้างฝาย ที่อาจทำลายระบบนิเวศแหล่งน้ำ หรือการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ที่อาจทำให้เกิดปนเปื้อนในระบบน้ำใต้ดิน เป็นต้น ซึ่งต่างก็มีลักษณะของการฟอกเขียว หรือ greenwash ที่ฉายภาพให้โครงการดูเป็นโครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมกว่าความเป็นจริง

หนังสือ Anti-Greenwash CSR คู่มือซีเอสอาร์ด้านสิ่งแวดล้อม ฉบับนักนิเวศ

“เรามักจะพบว่า เวลามีการทำโครงการ CSR ยอดฮิตเหล่านี้ ก็มักจะมีนักอนุรักษ์ออกมาชี้แจง อธิบายผลกระทบเป็นครั้งๆ ไป ข้อมูล (ในการรณรงค์ให้ความรู้) ค่อนข้างกระจัดกระจาย ดังนั้น เราจึงริเริ่มที่จะร่วมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ในการรวบรวมองค์ความรู้และเทคนิคในการออกแบบโครงการ CSR ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศจนเกินไป” สฤณี กล่าว

“เรามองว่าหลายโครงการ ผู้ริเริ่มโครงการล้วนมีเจตนาดี ที่อยากเห็นสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่โครงการหลายๆ อย่างเช่น การปลูกป่า ปล่อยสัตว์ เหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพราะผู้ริเริ่มโครงการไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ หรือคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศตั้งแต่ต้น ดังนั้นคู่มือฉบับนี้จะช่วยให้สามารถออกแบบโครงการ CSR ที่มีความยั่งยืนและดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงมากยิ่งขึ้น”

สฤณี กล่าวว่า ในคู่มือเล่มนี้ได้มุ่งเน้นไปที่ 7 รูปแบบโครงการ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่นิยม แต่มักได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของโครงการจากเหล่านักสิ่งแวดล้อมอยู่เนื่องๆ คือ การปลูกป่า การปลูกป่าชายเลน การสร้างฝาย การสร้างธนาคารนํ้าใต้ดิน การปลูกปะการัง การปลูกหญ้าทะเล และการปล่อยสัตว์

ตัวอย่างรูปแบบข้อแนะนำในคู่มือ เกี่ยวกับการสร้างฝายให้ถูกวิธี

โดยในคู่มือเล่มนี้จะรวบรวมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาให้ความเห็น ความรู้ ต่อโครงการ CSR ทั้ง 7 รูปแบบนี้ พร้อมคำแนะนำให้โครงการเป็นมิตรต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้คนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางก็สามารถเข้าใจได้ง่าย

สฤณี กล่าวทิ้งท้ายว่า เธอสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ทำกิจกรรม CSR เพราะเป็นกิจกรรมที่จัดทำด้วยเจตนาที่ดี แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกโครงการที่จะบรรลุผลลัพธ์อย่างที่มุ่งหมายไว้ ดังนั้นเธอจึงอยากเห็นการยกระดับโครงการ CSR ให้ตั้งอยู่ย้านพื้นฐานของหลักวิชาการ คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพื่อให้โครงการมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยและโลกของเรากำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย จากทั้งระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมลงจากมลพิษ และสภาวะโลกร้อน

สำหรับผู้ที่สนใจติดต่อขอรับฉบับเล่ม (มีจำนวนจำกัด) สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/NfeUxwmJZcrRP5Rf9 และสำหรับผู้ที่สนใจอ่านออนไลน์ และดาวน์โหลด PDF สามารถเข้าไปโหลดได้ที่ http://www.salforest.com/product.../books/anti-greenwash-csr

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related