svasdssvasds

ผ่าแผน "กู้โลกเดือด” ปตท.สผ. ดัน “EP Net Zero 2050” รุก CCS จิ๊กซอว์สำคัญ

ผ่าแผน "กู้โลกเดือด” ปตท.สผ. ดัน “EP Net Zero 2050” รุก CCS จิ๊กซอว์สำคัญ

ผ่าแผน“กู้โลกเดือด” ปตท.สผ. ดันกลยุทธ์ “EP Net Zero 2050” รุกเทคโนโลยี CCS “ดักจับ-กักเก็บคาร์บอน” จิ๊กซอว์สำคัญสู่ Net Zero

ผลกระทบจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกรับรู้อย่างเห็นได้ชัด เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าเดิมทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์อย่างไม่ต้องสงสัย ขณะที่ผลกระทบไม่ได้มีแค่สภาพอากาศ ฤดูกาล และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อสังคมทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอด ความปลอดภัย เศรษฐกิจ  สิ่งเหล่านี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น หากทุกประเทศทั่วโลกไม่ร่วมมือแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างสุดกำลังในทันที

ผ่าแผน \"กู้โลกเดือด” ปตท.สผ. ดัน “EP Net Zero 2050” รุก CCS จิ๊กซอว์สำคัญ

แม้ไทยไม่ได้เป็นประเทศหลักใน “การปล่อยก๊าซเรือนกระจก” แต่ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมากที่สุดของโลก ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) จึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเร่งดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่พยายามทุ่มเทสรรพกำลังในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็น “องค์กรคาร์บอนต่ำ” หนึ่งในนั้นคือ “บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.”

“เป็นที่ทราบกันว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change มีแนวโน้มจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนควรตระหนัก ปตท.สผ. ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว โดยมีการเฝ้าระวังเชิงรุก มีการประเมินความเสี่ยงด้าน Climate Change อย่างต่อเนื่องในทุกปี เพื่อบริหารจัดการและปรับปรุงการดำเนินงานของบริษัทในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น” มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) กล่าว

ภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน โอกาสที่โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นน่าจะมากกว่า 2 องศาเซลเซียส จากที่เคยคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 หรือ 2050 จะช่วยกันให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจปรับตัว ปรับเป้าหมายและหาวิธีการเข้าสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions)

ผ่าแผน \"กู้โลกเดือด” ปตท.สผ. ดัน “EP Net Zero 2050” รุก CCS จิ๊กซอว์สำคัญ

ดันกลยุทธ์ EP Net Zero 2050 สู้โลกร้อน

ปตท.สผ. มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ได้มีการดำเนินงานเพื่อหลีกเลี่ยงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับโครงการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ในปี 2565 ปตท.สผ. สามารถลดความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 25 ซึ่งบรรลุเป้าหมายเร็วกว่าที่ตั้งไว้ 8 ปี โดยมีปริมาณการหลีกเลี่ยงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมตั้งแต่ปี 2556 ทั้งหมดประมาณ 8.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต่อมาได้มีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ด้วยการดำเนินงานผ่านแนวคิด "EP Net Zero 2050" ซึ่งครอบคลุม Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง และ Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ โดยมี 2 แนวทาง

  • Exploring for Lower Carbon E&P Portfolio ผ่านการบริหารจัดการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อมุ่งสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ โดยเลือกลงทุนในโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero Greenhouse Gas Emissions และเน้นลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติ โดยนำปัจจัยเกี่ยวกับความเข้มของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาพิจารณาประกอบการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ
  • Production and Planet in Balance เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต โดยเดินหน้าเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) หรือ CCS ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก ศึกษาโอกาสและ เทคโนโลยีที่จะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization) หรือ  CCU โดยเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าหรือวัสดุเพื่ออนาคต รวมถึงมุ่งสู่การปล่อยก๊าซส่วนเกินซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์ (Zero Routine Flare) สำหรับโครงการใหม่ในอนาคต ด้วยการนำก๊าซที่เกิดขึ้นจากการเผาทิ้งในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยี CCS รวมทั้งเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม และหาโอกาสในการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทฯ ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังร่วมสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก (Carbon Removal Project) และมีเป้าหมายในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกสะสมกว่า 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ในปี 2593 พร้อมดำเนิน โครงการเพื่อสังคมภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศใต้ทะเลและชายฝั่ง เพราะทะเลและระบบนิเวศชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ จะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพ

ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ จึงมุ่งมั่นในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง  โดยร่วมมือกันภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS โดยเริ่มจากการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง

“โลกได้เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด (Energy Transition) แต่การเปลี่ยนผ่านนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในข้ามคืน ด้วยปัจจัยหลายประการ ดังนั้น โลกยังต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ปตท.สผ. ในฐานะบริษัทที่มีภารกิจในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จึงมุ่งมั่นที่จะค้นหาและผลิตพลังงานที่มีความสะอาดมากยิ่งขึ้น รวมถึงพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศและส่งเสริมนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่กัน”

นอกจากนี้ บริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ FTEV ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้ริเริ่มโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power Plant) "ลานแสงอรุณ" ขึ้นที่ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร โดยพลังงานดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมในโครงการเอส 1 โดยจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 13,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นอกจากนั้น บริษัทยังได้ร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ในประเทศโอมาน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับอนาคตอีกด้วย

ผ่าแผน \"กู้โลกเดือด” ปตท.สผ. ดัน “EP Net Zero 2050” รุก CCS จิ๊กซอว์สำคัญ

ปตท.สผ. รุกนวัตกรรมรักษ์โลก

ในวิกฤตโลกร้อน ก็ยังเป็น “โอกาส” สำหรับการทลายกรอบคิดในการพัฒนา “นวัตกรรม” ที่ต้อง “รวดเร็วและทันเวลา” โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ “แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม” สอดคล้องกับแนวคิดเชิงรุกของ ปตท.สผ. ที่มองว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

ปตท.สผ. ยังได้ส่งเสริมการพัฒนา VARUNA Smart Forest Solution ภายใต้การดูแลของ ARV ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ โซลูชั่นดังกล่าวได้ผสานเทคโนโลยีดาวเทียมกับการใช้ภาพถ่ายจากโดรนมัลติสเปกตรัม และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้บริหารจัดการพื้นที่สีเขียวและคำนวณคาร์บอนเครดิตรูปแบบใหม่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อการดูแลและติดตามทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้พัฒนา PTTEP Ocean Data Platform ซึ่งรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ พิทักษ์ท้องทะเลของบริษัทฯ ผ่านกลยุทธ์ “Ocean for Life” รวมถึงผลการตรวจวัดข้อมูลต่าง ๆ จากแท่นผลิตนอกชายฝั่งของ ปตท.สผ. ได้แก่ ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลสมุทรศาสตร์ รวมถึงอุณหภูมิน้ำทะเล ความขุ่น ค่าออกซิเจนละลายน้ำ และปริมาณความเข้มของคลอโรฟิลล์เอ ปริมาณไมโครพลาสติก และกระแสน้ำ

แพลตฟอร์มนี้เชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของนักวิจัยที่สนใจในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการมีส่วนร่วมในการปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางทะเลอีกด้วย

พลังความร่วมมือเสริมแกร่ง “กู้โลกเดือด” เทคโนโลยี CCS จิ๊กซอว์สำคัญ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการรวมตัวของภาคีเพื่อขับเคลื่อนการทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกัน ครั้งที่ 2  (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2023) ภายใต้แนวคิด “สานพลัง เสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน” มีคณะรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต องค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมการประชุม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ถือเป็นการแสดงพลังความร่วมมือสร้างความยั่งยืนเพื่อช่วยโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ซึ่ง ปตท.สผ. โดย มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. ได้แสดงวิสัยทัศน์การมุ่งสู่องค์กรสีเขียวบนเวทีการประชุม TCAC 2023  

โดยสะท้อนผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเทคโนโลยีที่เป็นไฮไลท์สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็น กลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 ได้คือ เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) หรือ CCS โดยนำองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการ โดยริเริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2564 ที่แหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย คาดว่าจะกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี และสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2570 อีกทั้ง ปตท.สผ. ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ CCS ในพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทยควบคู่กันไปด้วย

ผ่าแผน \"กู้โลกเดือด” ปตท.สผ. ดัน “EP Net Zero 2050” รุก CCS จิ๊กซอว์สำคัญ

ทั้งยังชี้ให้ภาคเครือข่ายเห็นว่า ปตท.สผ. ร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ในโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Eastern Thailand CCS Hub ซึ่งจะเริ่มศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง

“การดำเนินโครงการ CCS ให้ประสบความสำเร็จ ต้องได้รับการสนับสนุนในหลายด้าน ทั้งในด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค รวมถึงต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่งค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันผลักดันให้โครงการ CCS ประสบความสำเร็จ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่การเป็น Carbon Neutrality และ Net Zero ในปี 2593 และ ในปี 2608 ตามลำดับ”

ผ่าแผน \"กู้โลกเดือด” ปตท.สผ. ดัน “EP Net Zero 2050” รุก CCS จิ๊กซอว์สำคัญ

จากการประชุมร่วมภาคีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่สามารถทำได้โดยหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ใช้พื้นฐานจากองค์ความรู้ Lesson Learned และความถนัดของแต่ละฝ่ายที่มี เพื่อเป็นแรงกระตุ้น (Catalyst) ในการสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ (Big Impact) เช่นเดียวกับวัตถุประสงค์ของงาน TCAC ที่จัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เน้นการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ และเข้าใจ รวมถึงให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน

“การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องเริ่มต้นจากตัวเรา และส่งผ่านความร่วมมือเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม  ดังนั้น หากเราไม่ปรับเปลี่ยนกันในวันนี้ ก็จะไม่มีโลกที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นต่อไปในวันหน้า”

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

related