svasdssvasds

10 ปัจจัยเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับหัวใจ

10 ปัจจัยเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับหัวใจ

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

โรคเกี่ยวกับหัวใจติดอันดับ 1 ใน 3 ของโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด และมีแนวโน้มสถิติเพิ่มขึ้นทุกปี บางปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจก็เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริการะบุปัจจัยหลักที่ทำให้คุณเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับหัวใจไว้อย่างน่าสนใจ เพราะหากคุณรู้ว่า คุณกำลังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจในภาวะแวดล้อมที่คุณควบคุมไว้ไม่ได้ คุณจะได้ใส่ใจสิ่งที่คุณควบคุมได้ อย่างเช่นการปรับวิถีชีวิตที่เน้นสุขภาพมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับหัวใจ

อายุ

เมื่อคุณอายุมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจก็มากขึ้นตามไปด้วย คนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากกว่า 80 % มีอายุ 65 ปีหรือแก่กว่านั้น นอกจากนี้ โอกาสที่หญิงสูงวัยที่ป่วยเป็นโรคหัวใจจะเสียชีวิตภายในไม่กี่สัปดาห์ มีสูงกว่าชายสูงวัยที่มีอาการเดียวกัน

เพศชาย

เพศชายมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจมากกว่าเพศหญิง และอาจเกิดอาการในช่วงต้นของชีวิต ถึงแม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจของผู้หญิงจะสูงขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน แต่ก็ยังไม่สูงเท่าค่าสถิติของผู้ชาย

ประวัติครอบครัว

หากคุณมีคนใกล้ชิด เช่นพ่อแม่หรือญาติ ที่เป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย คือผู้ชายก่อนอายุ 55 ปีและผู้หญิงก่อนอายุ 65 ปี คุณมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคหัวใจเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องซ้ำรอยประวัติครอบครัวที่ว่า หากคุณมีวิถีชีวิตที่เน้นการดูแลสุขภาพ หมั่นตรวจสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และคอยเฝ้าระวังอาการต่างๆให้ดี

เชื้อชาติ

คนผิวดำมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าคนผิวขาวหรือคนผิวเหลือง อาจเป็นเพราะมีอัตราความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือโรคน้ำหนักตัวเกินสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนกลุ่มอื่น เช่นเมื่อเป็นโรคความดันสูง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจมีปัญหาได้ง่าย

การสูบบุหรี่

หากคุณสูบบุหรี่และยังไม่พบเหตุผลถูกใจที่จะเลิก ลองอ่านตรงนี้ดู เมื่อคุณสูบบุหรี่ ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจของคุณจะสูงขึ้น 2-4 เท่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เลวร้ายที่สุด เพราะส่งผลกระทบกับปัจจัยอื่นมากมาย ทั้งปัญหาการทำลายหลอดเลือด ปัญหาคอเลสเตอรอล และเสี่ยงต่ออาการเส้นเลือดขอด

คอเลสเตอรอลสูง

ในปัจจุบัน คนจำนวนมากมีระดับคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาโรคหัวใจ ถึงแม้ว่าจะดูเป็นคนร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ก็ตาม แต่หากคอเลสเตอรอลสูงขึ้น ก็มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มขึ้นด้วย

ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหัวใจล้มเหลว เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ ไตวาย และหัวใจวาย

ความดันโลหิตสูงควบคุมได้ด้วยการกินยา นอกจากนี้ การลดน้ำหนัก การทำตัวให้กระฉับกระเฉงมากขึ้น กินเกลือให้น้อยลง และดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง ก็ช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นกัน

วิถีชีวิตแบบนิ่งอยู่กับที่

คิดจะโดดยิมอีกแล้วสิ จำไว้ว่าการใช้ชีวิตแบบไม่แอคทีฟ เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหัวใจ การออกกำลังปานกลาง 30 นาทีต่อสัปดาห์ช่วยลดความเสี่ยงได้มาก แต่ถึงจะไม่ได้ออกกำลังแบบเต็มรูปแบบ การทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง เช่นขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์ ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

น้ำหนักเกิน

คนที่มีไขมันส่วนเกินในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณรอบเอว มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคหัวใจหรือหัวใจล้มเหลว แม้จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นใดอีกก็ตาม ข่าวดีคือ มีอาหารง่ายๆที่ดีต่อหัวใจและรอบเอวของคุณ เช่นการเน้นกินปลา ผลไม้ ผักและไขมันดีอย่างน้ำมันมะกอก เป็นต้น

โรคเบาหวาน

หากคุณเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจของคุณจะเพิ่มขึ้นมาก ถึงแม้ว่าการควบคุมน้ำตาลในเลือดจะช่วยได้ก็ตาม ผู้หญิงที่เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจเมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่น โรคเบาหวานทำให้หลอดเลือดตีบ และผู้หญิงโดยทั่วไปมักมีหลอดเลือดเล็กกว่าผู้ชายอยู่แล้ว โชคดีที่ว่า การออกกำลังและการกินอาหารเน้นสุขภาพ ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจลงได้