svasdssvasds

กรมสุขภาพจิต แนะตั้งสติเตรียมกายใจให้พร้อมก่อนขับขี่

กรมสุขภาพจิต แนะตั้งสติเตรียมกายใจให้พร้อมก่อนขับขี่

อธิบดีกรมสุขภาพจิตแนะ ไม่ควรหยิบยกปัญหาสุขภาพจิตมาเป็นคำอธิบายในการกระทำไม่ดีต่อผู้อื่นหรือกระทำไม่ดีกับสังคม เพราะจะทำให้สังคมมองภาพลักษณ์ผู้ป่วยจิตเวชในแง่ลบ พร้อมแนะวิธีการป้องกันความรุนแรงที่ควรทำในการขับขี่ยานพาหนะ เพื่อเตรียมกายใจก่อนการเดินทาง ตั้งสติก่อนสตาร์ต

อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต กล่าวว่าในปัจจุบันการเดินทางบนท้องถนนเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความเครียด เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลานานอยู่บนท้องถนนที่มีการจราจรติดขัดรวมถึงต้องผจญกับคนที่ไม่ค่อยเคารพกฏจราจรและขับขี่อันตราย สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกันบนท้องถนนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการบันดาลโทสะบนท้องถนนมักพบได้ตั้งแต่การแสดงภาษากาย การแสดงความรุนแรงทางวาจา การทะเลาะวิวาททางกายภาพ หรือแม้แต่การใช้อาวุธทำร้ายร่างกายกัน โดยส่วนมากมักจะเริ่มจากความรุนแรงเล็กๆ และขยายตัวเป็นความรุนแรงที่ใหญ่ขึ้น การทะเลาะกับคนแปลกหน้าบนท้องถนนอาจนำไปสู่ปัญหาคดีความทางอาญาได้หากไม่มีวิธีการป้องกันที่ดี

กรมสุขภาพจิตแนะวิธีการป้องกันความรุนแรงที่ควรทำในการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนดังนี้

1. เผื่อเวลาก่อนออกเดินทาง เพราะเส้นทางอาจมีการจราจรติดขัดหรือมีอุบัติเหตุ การเผื่อเวลาจะทำให้เราไม่ร้อนรนในการขับขี่

2. ตั้งสติก่อนสตาร์ทรถ ให้มีสติรู้ตัวเสมอว่ากำลังจะไปไหน มีใครรออยู่ รวมถึงเตรียมสภาพกายและจิตใจให้พร้อมก่อนการขับขี่ยานพาหนะ

3. สร้างบรรยากาศดีดีในการขับขี่ โดยการเปิดเพลงที่ชอบแล้วร้องตาม หรือพูดคุยเรื่องราวดีดีกับคนที่โดยสารมาด้วย

4. อย่าคาดหวัง มารยาทบนท้องถนนของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน จึงไม่ควรคาดหวังว่าเราจะปรับพฤติกรรมของคนอื่นได้ ควรมองที่การขับขี่ถูกต้องและปลอดภัยของตัวเองเป็นหลัก

5. เป็นคนใจดีบนท้องถนน โดยขับขี่เคารพกฏจราจร แบ่งปันน้ำใจต่อผู้ร่วมเส้นทาง ให้อภัย ไม่เก็บเอาความรุนแรงจากคนอื่นมาใส่ใจ ไม่มองถนนเป็นสนามแข่งที่ต้องมาเอาชนะกันเน้นการเดินทางถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัยพร้อมรอยยิ้ม

ทั้งนี้อธิบดีกรมสุขภาพจิตยังกล่าวถึงการอ้างถึงปัญหาความรุนแรงบนท้องถนนกับอาการป่วยทางด้านสุขภาพจิตในหลายๆ เหตุการณ์ สังคมไทยควรทำความเข้าใจว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และปัญหาด้านสุขภาพจิตบางกลุ่มโรค เช่น โรคทางอารมณ์ โรควิตกกังวลที่อาจทำให้มีอารมณ์แปรปรวนง่าย เศร้าเสียใจหรือหงุดหงิดได้ง่ายกว่าปกติ อาจทำให้ผู้ป่วยควบคุมอารมณ์ได้ยาก พฤติกรรมหรือการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นล้วนเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคลโดยทุกคนมีสิทธิเลือกวิธีตอบสนองอารมณ์ภายใต้ความรับผิดชอบของตัวเอง ดังนั้นปัญหาสุขภาพจิตจึงไม่ควรถูกยกมาเป็นคำอธิบายในการกระทำไม่ดีต่อผู้อื่นหรือกระทำไม่ดีกับสังคมเพราะจะทำให้สังคมมองภาพลักษณ์ผู้ป่วยจิตเวชในแง่ลบ โดยอธิบดีกรมสุขภาพจิตยังฝากทิ้งท้ายว่า สังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะยืนหยัดในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ที่จะให้อภัย