ชวนทำความรู้จักหญิงเหล็กแห่งทะเลเชจู “แฮนยอ” (Haenyeo) นักดำน้ำสูงวัยที่กลั้นหายใจได้นาน ดำลึก 20 เมตรโดยไม่ใช้อุปกรณ์ พรสวรรค์ที่ส่งผ่าน DNA หลายชั่วรุ่น
นอกชายฝั่งเกาหลีใต้ จินตนาการว่าคุณไปเที่ยวที่เกาะเชจู ณ แดนกิมจิ คุณพบเข้ากับกลุ่มผู้หญิงสูงวัย อายุสักราว 60 ถึง 70 ปี พวกเธอยิ้มร่าหัวเราะเฮอาอารมณ์ดี นั่นคือพวกเธอกำลังดำน้ำลง 20 ม. ท่ามกลางอุณหภูมิน้ำเย็นจัด คนทั่วโลกรู้จักแก๊งหญิงเหล็กเหล่านี้ว่า “Haenyeo”
แฮนยอ (Haenyeo) แปลว่า ผู้หญิงแห่งท้องทะเล หรือ sea women พวกเธอคือนักดำน้ำฝีมือฉกาจอาศัยอยู่ที่เกาะเชจู (jeju island) เกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ดูผิวเผินพวกเธอก็ไม่ต่างจากชาวประมงทั่วไป
โดยปกติแล้ว แฮนยอมีภาพจำว่าเป็นนักดำน้ำที่กลั้นหายใจใต้น้ำได้นาน ใน 1 วันใช้ชีวิตอยู่ในน้ำไปแล้ว 5-6 ชม. ดำน้ำนึก 20 ม. กลั้นหายใจได้นานเฉลี่ย 3 นาที มักมีอาชีพเก็บอาหารทะเลด้วยมือเปล่า อาทิ หอยเม่น หอยเป๋าฮื้อ หรือสาหร่าย เป็นต้น
พวกเธอคือใคร ทำไมถึงมีสกิลการดำน้ำชนิดหาตัวจับยาก และ DNA ของชาวแฮนยอแตกต่างจากคนเกาหลีทั่วไปอย่างไร?
ชาวแฮนยอลงหลักปักฐานอยู่ในภูมิภาคมานี้ (บริเวณเกาะเจจู) มานานหลายพันปี มักหาเลี้ยงชีพด้วยการลงน้ำหาอาหารทะเล มีทักษะการดำน้ำ หายใจใต้น้ำ อดทนต่อแรงดันน้ำ และเดิมทีเป็นอาชีพของผู้ชายเท่านั้น
เมื่อเข้าสู่ยุคเกาหลีสมัยใหม่ แฮนยอกลายเป็นอาชีพของผู้หญิง เพราะประชากรจำนวนมากตายไปกับสงคราม อาทิ เหตุการณ์สังหารหมู่บนเกาะเชจูในช่วงปี 1948-1949 มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตถึง 3 หมื่นราย และถ้านับจากจุดเริ่มต้น (หลายพันปี) จนถึงปัจจุบัน ทักษะการดำน้ำ โครงสร้าง DNA เพิ่งถูกค้นพบว่าได้รับการส่งต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Call Reports พบว่า ชาวแฮนยอมียีนส์ที่สามารถทนอากาศหนาว และแรงดันได้ดี ผู้วิจัยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องปกติที่คนบริเวณใดก็ตามปรับสภาพร่างกายให้อยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ชาวทิเบตที่สามารถอาศัยอยู่บนที่ราบสูงซึ่งมีอากาศเบาบางได้อย่างสบาย ๆ
เมลิสา อิลาร์โด (Melissa Ilardo) ผู้เข้างานวิจัยชิ้นนี้ เล่าว่า การดำน้ำมีความเสี่ยงสูง แม้แต่นักดำน้ำที่ช่ำชองก็อาจหมดสติ หรือถูกกระแสน้ำพัดไปได้ เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกหลานของนักดำน้ำ (หลายพันปี) จะปรับร่างกายให้ดำน้ำได้อย่างชิลล์ ๆ
เวลาเราดำลงไปใต้น้ำ สัญชาตญาณของมนุษย์จะทำงาน อัตราการเต้นหัวใจช้าลง หลอดเลือดหดตัว ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจะปรับการทำงานใหม่ เช่น ม้ามซึ่งมีหน้าที่คอยควบคุมปริมาณโลหิต จะหดตัวเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้มากขึ้น
แล้วชาวแฮนยอล่ะ แตกต่างจากชาวเกาหลีทั่วไป ๆ อย่างไร เมลิสาเก็บตัวอย่างจีโนม (Genome) หรือข้อมูลทางพันธุกรรม (DNA) ของชาวแฮนยอ 30 คน มาเทียบกับผู้หญิงปกติที่ไม่ได้ดำน้ำ 30 คนจากกรุงโซล และเก็บข้อมูลด้านสรีระวิทยาโดยให้ทั้งสองกลุ่มทดลองกลั้นหายใจในน้ำเย็น เพื่อตรวจสอบถึงปฏิกิริยาทางร่างกายว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
สิ่งที่ค้นพบคือ ความดันโลหิตของคนสองกลุ่มแตกต่างกันชัดเจน ชาวแฮนยอมีค่าแรงดันในหลอดเลือดต่ำกว่าประมาณ 10 มม.ปรอท ถ้าเทียบกับผู้เข้าร่วมทดสอบจากกรุงโซล และยีนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความดันโลหิตพบในชาวแฮนยอมากกว่าผู้เข้าร่วมจากกรุงโซล แถมในรายแรกยังพบยีนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเม็ดเลือดแดง ความเจ็บปวด และความไวต่อความเย็นอีกด้วย
จริงอยู่ที่บอกว่าคนท้องไม่ควรไปดำน้ำ แต่สำหรับชาวแฮนยอนี่เป็นเรื่องปกติสามัญ ชาวแฮนยอจะดำน้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันนัดหมอคลอดลูก แต่ใช่ว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ความเสี่ยงที่ต้องแบกรับคืออาการครรภ์เป็นพิษ
“นักดำน้ำมักมีปัญหาความดันโลหิตสูง และอาจทำให้มีลูกน้อยลง เช่น จากเดิมที่อาจมีลูกได้สามคนก็เหลือแค่หนึ่งคน การดำน้ำช่วงตั้งครรภ์อาจหล่อหลอมพันธุกรรมของคนในเกาะเชจู” เธอกล่าวทิ้งท้าย (ซึ่งดีหรือไม่ดี)
ทศวรรษ 1970s มีผู้ประกอบอาชีพแฮนยออยู่ราว 10,000 คน แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 3,000 คน อันมีหลากหลายสาเหตุด้วยกัน
อย่างไรก็ดี มีคนรุ่นใหม่อยู่จำนวนหนึ่งที่สนใจในอาชีพนี้ ซึ่งต้องดูกันไปยาว ๆ เพราะการดำน้ำทำประมงแบบฉบับแฮนยอ ซึ่งเคารพระบบนิเวศ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ หรืออาชีพแฮนยออาจเป็นอีกหนึ่งในอาชีพที่สูญหายไปจากโลก
ที่มา: Pop Sci
ข่าวที่เกี่ยวข้อง