svasdssvasds

รีวิว ภาพยนตร์ "วองก้า" ชีวิตราชาช็อคโกแลต ที่หวานอม ขมกลืน!

รีวิว ภาพยนตร์ "วองก้า" ชีวิตราชาช็อคโกแลต ที่หวานอม ขมกลืน!

ภาพยนตร์ วองก้า เป็นภาพยนตร์มิลสิคัล-แฟนตาซี เบาสมอง ที่บอกเล่าเรื่องราวของต้นกำเนิดของ เจ้าของโรงงานช็อคโกแลตในตำนาน ก่อนจะมาเป็น "ราชาช็อคโกแลต" ชีวิตเคยถูกโกงเงินค่าที่พัก แถมเสียดสี จิกกัดทุนนิยมได้แสบ ๆ คัน ๆ

ใบปิดภาพยนตร์ "วองก้า" Cr. IMDB

วองก้า” เป็นผลงานภาพยนตร์ที่อิงมาจากนิยายของนักเขียนมือฉมัง Roald Dahl ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวของเจ้าของโรงงานช็อคโกแลตนามว่า “วิลลี่ วองก้า” ซึ่งถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1964 ในชื่อ Charlie and the Chocolate Factory

ถัดมาในปี 1972 Roald Dahl ตีพิมพ์หนังสือในแฟรนไชส์นี้ออกมาอีกเล่มชื่อว่าCharlie and the Great Glass Elevator นวนิยายเล่มดังนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วหลากหลายเวอร์ชั่น

หนังสือ Charlie and the Chocolate Factory (1964)

Roald Dahl นักเขียนเจ้าของผลงาน Charlie and the Chocolate Factory Cr. Flickr / Sally

ผู้ที่รับบท “วิลลี่ วองก้า” คนล่าสุดคือ ทิโมธี ชาลาเมต์ (Timothee Chalamet) ในเวอร์ชั่นปี 2023 เล่าย้อนไปถึงต้นกำเนิดของ ราชาช็อคโกแลต ที่พอจะเป็นเหตุผลว่าทำไมก่อนจะเป็นช็อคโกแลตรสหวานที่ครองใจลูกเด็กเล็กแดงได้ ช็อคโกแลตของวองก้าเคยเป็น “รสขม” มาก่อน

ผู้ที่นั่งแท่นกำกับโลกแฟนตาซีของวองก้าก็คือ “พอล คิง” ผู้กำกับที่สรรสร้าง “แพดดิงตัน” น้องหมีหมวกแดงจากวรรณกรรมชื่อดัง A Bear Called Paddington ให้กลายเป็นป็อปคัลเจอร์โด่งดังไปทั่วโลก แต่กับเรื่อง “วองก้า” จะเป็นอย่างไรติดตามได้ที่บทความนี้

ทิโมธี่ ชาลาเมต์ ในบท วิลลี่ วองก้า Cr. Warner Bros. Picture

ประเด็นที่ชอบจากหนังเรื่องนี้ หลัก ๆ มีอยู่ 2 แกนที่ชอบคือ การตีแผ่กระบวนการใต้โต๊ะของผู้อำนาจที่ฮั้วกับเจ้าหน้าที่รัฐในการเอารัดเอาเปรียบประชาชน และการผูกโยงความฝันเข้ากับมิตรภาพแสนอบอุ่น

แต่บอกใบ้ให้เล็กน้อยว่า พอล คิง ทำหนังเรื่องนี้ให้เคี้ยวง่ายเกินไปสักหน่อย วองก้า (2023) น่าจะเป็นหนังที่เหมาะสำหรับใครก็ตามที่อยากเติมพลังในการใช้ชีวิต เพราะบางเรื่องบางประเด็น ก็ถูกเล่าอย่างเบาบางจนแทบไม่รู้สึก ทั้ง ๆ ที่น่าจะกินอกกินใจผู้ชมได้ไม่อยาก  

ทุนนิยมทานมูมมาม

เส้นทางการเป็น “ราชาช็อคโกแลต” ของวองก้ามิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้ความสามารถในการสรรสร้างช็อคโกแลตจะไม่เป็นสองรองใคร แต่ในสังคมมักจะมี “มือที่มองไม่เห็น” คอยคลอเคล้าเย้าแหย่ให้การหนทางการเปิดโรงงานช็อคโกแลตของวองก้านั้นโรยไปด้วย “หนามของกุหลาบ”

วองก้าถูกกลั่นแกล้ง จากผู้ค้าช็อคโกแลตในเมือง ที่รวมหัวกันได้แก่ Slugworth, (แสดงโดย Paterson D. Joseph) Prodnose (แสดงโดย Matt Lucas), Fickelgruber (แสดงโดย Mathew Baynton)  

3 บิ๊กผู้ผลิตช็อคโกแลตของเมือง Cr. Warner Bros. Picture

เท่านั้นยังไม่พอ ขาใหญ่พวกนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ด้วยการพินอบพิเทาทุกอย่างเพื่อปรนเปรอนายทุนเหล่านี้

แม้เราจะรู้ดีว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ในการทำธุรกิจเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแม้แต่ประเทศสารขันฑ์ก็ตามที จะความไม่แฟร์จะบังเกิดทันที เมื่อผู้ค้ารายใหญ่เล่น “ตุกติก” ด้วยการยืมมือผู้มีอำนาจในสังคมมากลั่นแกล้งคู่แข่งที่ไร้ต้นทุนต่อต้าน

หัวหน้าตำรวจคือหมากเบี้ยที่ถูกชักใยด้วย 3 ทหารเสือวงการช็อคโกแลต ทว่า ค่าตอบแทนกลับมิใช่เบี้ยหอย แต่เป็น “ช็อคโกแลต” ที่ถูกป้อนใส่ปาก จนในตอนท้ายของเรื่อง ตำรวจผู้นี้ ตัวอวบอ้วนจนแทบขึ้น-ลงรถไม่ได้แล้ว

ตำรวจฮั้วกับนายทุนช็อคโกแลต Cr. Warner Bros. Picture

แต่อย่าลืมว่า นี่คือโลกแฟนตาซี ในความเป็นจริง ค่าตอบแทนที่ผู้มีอำนาจมักหยิบติดไม้ติดมือไปฝากคนในตำแหน่ง อาจมิใช่ “ช็อคโกแลต” รสหวานอร่อย ส่วนจะเป็นอะไรนั้นก็คงต้องขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้อ่านแล้วล่ะ...

ช็อคโกแลตรส “มิตรภาพ” หวานบ้าง ขมบ้าง แต่อิ่มท้อง

ย้อนกลับไปช่วงเริ่มเรื่อง วองก้าถูก Tricky เรื่องสัญญาการเช่าห้อง ทำให้วองก้าติดหน้าค่าเช่าในราคาที่แพงหูฉี่ ระหว่างนั้นเอง วองก้าได้เจอกับมิตรภาพ “แผนกซักรีด” 

หากใครดูรับชมหนังเรื่องนี้แล้ว ก็จะพบว่า ความสัมพันธ์ของวองก้าและผองเพื่อนค่อย ๆ ไต่ความสนิทสนม ความไว้เนื้อเชื่อใจ และร่วมกันระดมไอเดียเพื่อวางแผนหลบหนีเจ้าของบ้านใจทราม เพื่อออกไปสู่โลกกว้าง

Noodle เด็กกำพร้าผู้เป็นเพื่อนของวองก้า Cr. Warner Bros. Picture

ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง น่าจะเป็นประเด็นที่เด่นเด้งออกมาจากเรื่องมากที่สุดแล้ว เพราะมันชวนตั้งคำถามว่า เราจะไล่ล่าความฝันไปจนชีวิตหาไม่

หรือจะแวะพักเบรกแล้วมีความสุขกับคนรอบ ๆ ตัว ที่คอยยื่นมือมาช่วยเหลือ คอยดันหลัง คอยประคับประครองยามเราอ่อนล้า เพื่อให้เรามีพลังไปตะลุยล่าความฝันต่อ

แม้จะไม่ใช่ประเด็นที่ใหม่แกะกล่องอะไร แถมยังเป็นเรื่องที่ถูกเล่าจน “เกล่อ” แต่หากเราเอานิสัยตัวตนของวองก้าเป็นที่ตั้ง “ราชาช็อคโกแลต” ผู้นี้ให้ใจกับคนรอบตัวเต็มร้อยจริง ๆ แต่กลับอดคิดไม่ได้ว่า มันก็เป็นเรื่องอันตรายเหมือนกัน เพราะโลกนี้ไม่ค่อย “ใจดี” กับ “คนใจดี”

ในความหมายคือ ต่อให้เป็นมิตรภาพที่ถูกประคบประหงมมาดีแค่ไหน หากมีเรื่องบาดหมาง คลางแคลงใจเมื่อไร จากเบาะหมอนรองยามอ่อนล้า ก็สามารถเปลี่ยนเป็นมีดคมที่เสียบแทงเราได้เจ็บแสบ บาดลึก และทิ้งรอยแผลเป็นไว้ดูต่างหน้าอีกด้วย

บทสรุป

ในตอนจบของเรื่องวองก้าสามารถรอดชีวิตจากบ่อช็อคโกแลตมาได้ เพราะการช่วยเหลือของ Oompa-Loompa (แสดงโดย Hugh Grant) ขาใหญ่ทั้ง 3 คน ถูกคิดบัญชี จากเรื่องผิดศีลธรรมและผิดกฎหมายที่ได้ทำเอาไว้ แต่เหมือนนั่นจะไม่ใช่ภารกิจของวองก้าอีกต่อไปแล้ว

Hugh Grant ในบท Oompa-Loompa Cr. Warner Bros. Picture

สิ่งที่ทำให้วองก้า “ราชาช็อคโกแลต” ผู้นี้เป็นประกายคือ การที่เขาได้แบ่งปันช็อคโกแลตชิ้นนี้ กับเพื่อน ๆ ให้ได้ลิ้มรสความสุขไปพร้อม ๆ กัน ดูจะเป็นสิ่งที่อุ้มชูหัวใจของวองก้าได้ดีที่สุดแล้ว

ช็อคโกแลตจากแม่ Cr. Warner Bros. Picture

ณ ขณะหนึ่ง ทันทีที่วองก้าหันไปในฝูงชน ใบหน้าของผู้เป็นแม่ก็ปรากฏให้เขาเห็น ย้ำเตือนลู่ทางว่า มาถูกทางแล้วลูกเอ๋ย จงเป็นคนใจดี เก็บเกี่ยวมิตรภาพ ความฝันที่เขียนไว้บนข้างฝา อาจไร้ความหมาย หากไร้คนข้างกายร่วมยินดี ดังที่แม่ของวองก้าพูดเอาไว้ตอนต้นเรื่องว่า

เก็บฝันไว้ให้ดี

เก็บฝันไว้ให้ดี ฝันให้ไกล ไม่มีใครหน้าไหนมาการันตีได้ทั้งนั้นว่ามันจะไม่เกิดขึ้นจริง แต่จงไล่ล่ามันด้วยความรู้สึกสบาย ไม่มีใครการันตีให้เราได้เช่นกันว่าฝันนั้นจะเป็นจริง ชีวิตมันยากและง่ายแค่นี้

โดยรวมภาพยนตร์เรื่อง “วองก้า” ฉบับ พอล คิง เป็นหนังที่แฟนตาซีสมดังคำโปรโมท ปัญหาที่ซัดเข้ามาก็ไม่ได้ดูหนักหนาอะไร ดูไปเรื่อย ๆ ก็จะรู้สึกว่าเดี๋ยวมันก็แก้ไขได้ เดี๋ยวมันก็มีทางรอด สิ่งที่ทำให้เอนจอยมากที่สุดระหว่างดูคืองานสร้าง ศาสตร์ของมิวสิคัลที่อุ้มชูภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้พอให้สดชื่นขึ้นบ้าง

หากใครที่ชื่นชอบภาพยนตร์แฟนตาซี เพลงไพเราะ แถมประเด็นก็ไม่ได้หนักหนาอะไร คิดว่าน่าจะชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ มิแน่อาจช่วยเติมพลังใจในการออกล่าความฝันของตัวเองต่อไป

 

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related