svasdssvasds

ภาพยนตร์นาคปรก เมื่อผ้าเหลืองถูกใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนด้านมืดของมนุษย์

ภาพยนตร์นาคปรก เมื่อผ้าเหลืองถูกใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนด้านมืดของมนุษย์

ภาพยนตร์ "นาคปรก" : เมื่อผ้าเหลืองถูกใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนด้านมืดของมนุษย์ - หนังที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเสมอๆ เวลามี กลิ่นคาว จากแวดวงพระสงฆ์

ในช่วงเวลาที่เข็มนาฬิกาเดินอยู่ ณ ปี 2025 ความ "คาว-ฉาว" ของวงการพุทธศาสนาร้อนแรงอีกครั้งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงในตอนนี้ .  
 
และหากจะพูดถึงวงการภาพยนตร์ไทย ที่เคยพูดถึงประเด็น การตั้งคำถามต่อ วงการพระสงฆ์  - ตั้งคำถามต่อ "ยูนิฟอร์ม" และการตั้งคำถามต่อ "ความดีงาม-จริงลวง" ได้ดีที่สุด เรื่องหนึ่งของไทย คือ ภาพยนตร์เรื่อง  "นาคปรก"  ที่ฉายเมื่อปี 2010 

ในช่วงเวลานั้น ที่ ภาพยนตร์นาคปรก สร้างปรากฏการณ์วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมไทย ด้วยการนำเสนอเรื่องราวที่ท้าทายศรัทธาและตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาต่อสถาบันศาสนา ผ่านชะตากรรมของสามโจรที่หนีการจับกุมและใช้ผ้าเหลืองเป็นเครื่องกำบัง และกว่าที่หนังจะได้ฉายในตอนนั้น ตัวหนังเองก็ต้อง ถูก "ดอง" เป็นเวลา 3 ปี 

"นาคปรก" เล่าเรื่องราวของตัวละคร สิงห์ (เรย์ แมคโดนัลด์), ป่าน (สมชาย เข็มกลัด) และ ปอ (ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์) สามโจรที่ปล้นเงินและนำไปซ่อนไว้ในวัดร้าง แต่เมื่อพวกเขากลับมาอีกครั้ง ที่ซ่อนเงินกลับถูกสร้างโบสถ์ทับไปแล้ว เพื่อเอาเงินคืน ทั้งสามจึงตัดสินใจปลอมตัวเข้ามาบวชเป็นพระในวัดแห่งนั้น เรื่องราวทวีความซับซ้อนขึ้นเมื่อพวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ขณะที่จิตใจยังคงเร่าร้อนด้วยความโลภและแผนการชั่วร้าย แต่ในขณะเดียวกัน การได้สัมผัสกับหลักธรรมคำสอนและศรัทธาของผู้คนในวัด ก็เริ่มสั่นคลอนมโนธรรมในใจของพวกเขา

แก่นสำคัญของภาพยนตร์คือการตั้งคำถามว่า "ศาสนาสามารถชำระล้างคนบาปให้กลับกลายเป็นคนดีได้จริงหรือ ?" และ "แก่นแท้ของศรัทธาที่แท้จริง ?" ผ่านการกระทำและพัฒนาการของตัวละครที่ล้วนแต่เป็นสีเทา ไม่มีใครดีสุดขั้วหรือเลวสุดโต่ง

ภาพยนตร์นาคปรก เมื่อผ้าเหลืองถูกใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนด้านมืดของมนุษย์
.

ภาพยนตร์นาคปรก "เดินแรง" ประเด็นอะไรบ้าง

1. การท้าทายสถาบันศาสนา 

"นาคปรก" กล้าที่จะนำเสนอภาพของ "พระปลอม" ที่ประพฤติผิดวินัยสงฆ์อย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ค่อยได้เห็นในภาพยนตร์ไทย และจุดประกายให้เกิดการถกเถียงอย่างหนักว่าเป็นการทำลายหรือสะท้อนความจริงของสังคมกันแน่ ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นการป้ายสีวงการสงฆ์ แต่อีกฝ่ายกลับมองว่านี่คือการชี้ให้เห็นว่าศาสนาไม่ได้อยู่ที่ผ้าเหลือง แต่อยู่ที่การปฏิบัติของปัจเจกบุคคล

ภาพยนตร์นาคปรก เมื่อผ้าเหลืองถูกใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนด้านมืดของมนุษย์

2. ศรัทธา ปาฏิหาริย์ และการไถ่บาป

ภาพยนตร์นาคปรก ไม่ได้ให้คำตอบสำเร็จรูปว่าศรัทธาคืออะไร แต่ปล่อยให้ผู้ชมขบคิดผ่านสถานการณ์ต่างๆ "ปาฏิหาริย์" ที่เกิดขึ้นในเรื่องไม่ได้มาจากอำนาจเหนือธรรมชาติ แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในจิตใจของมนุษย์ที่เลือกจะทำความดี แม้จะเริ่มต้นมาจากเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ก็ตาม

3. การแสดงที่ยอดเยี่ยม  

หนึ่งในจุดแข็งของ "นาคปรก" คือการแสดงที่เฉียบขาดของทีมนักแสดง โดยเฉพาะ สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ ในบท "หลวงตาชื่น" ที่สามารถคว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากหลายสถาบัน และ อินทิรา เจริญปุระ ที่ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (จากบทหญิงค้าบริการทางเพศ) เช่นกัน การแสดงของพวกเขาช่วยยกระดับความเข้มข้นและความน่าเชื่อถือของเรื่องราวได้เป็นอย่างดี

4. ตอนจบที่พลิกผันและตีความได้หลากหลาย

 ตอนจบของภาพยนตร์สร้างความตกตะลึงและเปิดให้ผู้ชมตีความไปต่างๆ นานา การกระทำของหลวงตาชื่นในท้ายที่สุดได้ทิ้งคำถามสำคัญไว้ว่า แท้จริงแล้วกิเลสและความโลภนั้นสามารถครอบงำได้ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่อยู่ในสถานะที่น่าเคารพศรัทธา

ภาพยนตร์นาคปรก เมื่อผ้าเหลืองถูกใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนด้านมืดของมนุษย์

"นาคปรก" ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิง แต่เป็นภาพยนตร์ที่กระตุ้นให้เกิดการครุ่นคิด ตั้งคำถามต่อประเด็นที่ละเอียดอ่อนในสังคมไทย เรื่องพระเรื่องเจ้า แม้จะเต็มไปด้วยฉากรุนแรงและเนื้อหาที่ล่อแหลม หมิ่นเหม่ แต่สาระสำคัญที่หนังต้องการจะสื่อคือการต่อสู้กันระหว่างด้านสว่างและด้านมืดในจิตใจของมนุษย์

 โดยมี "ศาสนา" เป็นเพียงฉากหลังที่สะท้อนให้เห็นว่า สุดท้ายแล้ว "คนจะดีหรือชั่วไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบ แต่อยู่ที่การกระทำและจิตสำนึกของตนเอง" นับเป็นภาพยนตร์ไทยอีกหนึ่งเรื่องที่ควรค่าแก่การดูและวิเคราะห์ในมิติที่ลึกซึ้งต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related