ชวนดู ภาพยนตร์ Casino (1995) ที่เล่าถึง เบื้องหลังความหรูหรา คือเกมแห่งอำนาจลาสเวกัส ความรัก และความพังทลาย ผลงานมาสเตอร์พีซจาก มาร์ติน สกอร์เซซี่
"No one stays at the top forever." ไม่มีใคร ไม่มีใครใหญ่ค้ำฟ้า อยู่บนจุดสูงสุดได้ตลอดไป — และลาสเวกัสก็รู้เรื่องนี้ดี
ในยุค 1970s- 1980s เมืองลาสเวกัสไม่ใช่แค่เมืองกาสิโน แต่มันคือสนามเด็กเล่นของเหล่าบรรดามาเฟีย สถานที่ที่เงินสดอาบด้วยแสงนีออน กับเบื้องหลังที่มีทั้งความรัก ความรุนแรง และความโลภ
นี่คือโลกในภาพยนตร์เรื่อง Casino (1995) หรือชื่อไทยคือ "ร้อนรัก หักเหลี่ยมคาสิโน" ผลงานมาสเตอร์พีซจาก มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับเบอร์ใหญ่แห่งวงการฮอลลิวู้ด ที่สร้างจากหนังสือ Casino: Love and Honor in Las Vegas ของ Nicholas Pileggi นักข่าวอาชญากรรม ซึ่งตีแผ่ลึกถึงยุครุ่งเรืองขององค์กรใต้ดินในเมืองคนบาป และอาจจะเหมาะสมกับบริบทในประเทศไทย ตอนนี้ ที่ประเด็น "กาสิโน" เป็นที่ถกเถียงกันทุกหัวมุมเมืองในประเทศ
เมื่อ 30 ปีที่แล้ว - เมืองลาสเวกัสเป็นหัวข้อที่มาร์ติน สกอร์เซซี พูดถึง และเขาแสดงให้เห็นว่าเมืองนี้ทำให้คนอย่าง Ace, Ginger และ Nicky ตัวละครหลักของเรื่อง เจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร จากนั้นก็ทิ้งพวกเขาไป เพราะเครื่องจักรในเวกัสทำกำไรและทรงพลังเกินกว่าที่จะปล่อยให้ใครมาชะลอการดำเนินงานได้
ความน่าสนใจของ หนัง Casino (1995) หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีอยู่หลายประเด็น
• งบประมาณแค่ชุดเสื้อผ้าก็ปาไปกว่า 1 ล้านดอลลาร์ เดอนีโรมีชุดเปลี่ยนกว่า 70 ชุด ส่วนชารอน สโตน จัดเต็ม 40 ชุด
• ฉากสนทนาเดือด ๆ ของโรเบิร์ต เดอนีโร กับโจ เพสซิ ไม่มีสคริปต์ พวกเขา “อิมโพรไวส์” หรือด้นสด ตามจังหวะและพลังของตัวละครจริง ๆ
• ตัวประกอบกว่า 7,000 คน ทำให้ลาสเวกัสในจอมีชีวิตจริงพอ ๆ กับบนถนน
• คำว่า “F***” F World ปรากฏในหนังมากถึง 435 ครั้ง — เฉลี่ย 2.4 ครั้งต่อนาที!
แซม “เอซ” รอธสไตน์ Sam "Ace" Rothstein (รับบทโดย โรเบิร์ต เดอ นีโร) ไม่ใช่เจ้าพ่อ แต่เป็นคนที่ "ระบบ" เลือกมาให้ควบคุมกาสิโน เขาไม่ใช่นักเลง แต่มีสมองที่ทำเงินให้กลุ่มมาเฟียอย่างมหาศาล — แล้วปัญหาคืออะไร?
เขาตกหลุมรัก จินเจอร์ (ชารอน สโตน) นักพนันสาวที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และปัญหา ขณะที่ นิคกี้ (โจ เพสซิ) เพื่อนซี้จอมบ้าระห่ำ กลับกลายเป็นระเบิดเวลาที่คอยป่วนจนทุกอย่างเริ่มพัง และทุกอย่างเกิดขึ้นโดยมีฉากหลังเป็นความเข้มข้นของการแย่งชิงอำนาจเป็นใหญ่ในกาสิโน
หนังเรื่องนี้ มาร์ติน สกอร์เซซี ร่วมเขียนบทกับนิโคลัส พิเลกกี นานถึง 5 เดือน แต่ปล่อยให้นักแสดง “หลุดกรอบ” เพื่อให้ได้ความดิบ ความจริง ความเจ็บปวด ทุกซีนคือละครชีวิตที่ไม่มีการเทคสอง
แม้หนังจะไม่ใช่บล็อกบัสเตอร์ทำเงินถล่มทลาย (รายได้รวม 116 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 40 ล้านเหรียญ) แต่ Casino คือพิมพ์เขียวของ “หนังอาชญากรรมแบบคลาสสิก” ที่เปิดโปงวงในของธุรกิจกาสิโนแบบหมดเปลือก ตั้งแต่การรับจ้างควบคุมผลกำไร ไปจนถึงการเก็บส่วนแบ่งสกปรกส่งกลับชิคาโก
นักแสดงที่ไม่ใช่แค่ “เล่นดี” แต่ “อยู่จริง”
แม้ หนังจะมีอายุ 30 ปีแล้ว และเด็กวัยรุ่น Gen Z เด็ก Gen Alpha จะเกิดไม่ทันความคลาสสิกของหนังเรื่องนี้ แต่ด้วยความ "ดีงาม" ของหนัง เชื่อว่า นี่คือหนังอีกเรื่องหนึ่ง ที่คนรุ่นใหม่ควรดู และศึกษาศิลปะในตัวหนัง ศิลปะการเล่าเรื่อง
ตัวหนัง Casino มันมีทั้งความซับซ้อนทางอารมณ์ แก่นเรื่องมาเฟีย และความพินาศของระบบที่ไม่มีใครคุมได้ในท้ายที่สุด Casino ไม่ใช่แค่หนังอาชญากรรม แต่มันคือคำเตือนว่า “ไม่มีใครอยู่จุดสูงสุดตลอดไป”
ที่มา cinephiliabeyond.org