svasdssvasds

ชวนรู้จัก โรคกลัวตกกระแส อาการวิตกในโลกออนไลน์ เสพติดการยอมรับจากผู้อื่น

ชวนรู้จัก โรคกลัวตกกระแส อาการวิตกในโลกออนไลน์ เสพติดการยอมรับจากผู้อื่น

Fear of Missing Out เรียกอีกอย่างว่า โรคกลัวตกกระแส เมื่อเราไม่ได้สนใจเนื้อหา แต่จริง ๆ แค่ต้องการยอดไลก์ ยอดแชร์ เพื่อรู้สึกว่าตัวเองรู้เยอะ รู้เท่าทัน และโหยหาการยอมรับ

SHORT CUT

  • โรคกลัวตกกระแส (FOMO) คือความวิตกกังวลที่กลัวจะตามเทรนด์หรือข่าวสารในโลกออนไลน์ไม่ทัน ทำให้ต้องติดตามโซเชียลมีเดียตลอดเวลา
  • ผู้มีอาการจะยึดติดกับยอดไลก์และยอดแชร์เพื่อวัดคุณค่าของตนเอง และเสพติดการได้รับการยอมรับจากผู้อื่นผ่านการแชร์เรื่องราวที่กำลังเป็นกระแส
  • การแชร์ข้อมูลโดยไม่ไตร่ตรองเพียงเพราะกลัวตกกระแส อาจทำให้ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมหรือสงครามข่าวสารได้ง่าย

Fear of Missing Out เรียกอีกอย่างว่า โรคกลัวตกกระแส เมื่อเราไม่ได้สนใจเนื้อหา แต่จริง ๆ แค่ต้องการยอดไลก์ ยอดแชร์ เพื่อรู้สึกว่าตัวเองรู้เยอะ รู้เท่าทัน และโหยหาการยอมรับ

“ฉันต้องเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รู้ก่อนใคร”

“ฉันรู้สึกดีที่ได้แชร์เรื่องนี้ เพื่อบอกว่าฉันรู้เรื่องนี้”

“ถ้าฉันแชร์ข่าวนี้ ต้องมีคนมากดไลก์ให้แน่ ๆ เพราะเป็นสิ่งที่สังคมกำลังให้ความสนใจ”

ก่อนจะโพสต์หรือแชร์ข่าวสารอะไร เคยสำรวจตัวเองไหมว่าเราอยากกดแชร์เพราะอะไร เห็นด้วย วิพากษ์วิจารณ์ หรือบางคนอาจแชร์เพราะใคร ๆ ก็แชร์กัน ถ้าคุณเป็นอย่างหลังล่ะก็ คุณอาจมีอาการที่เรียกว่า Fear of Missing Out หรือ โรคกลัวตกกระแส

ชวนรู้จัก โรคกลัวตกกระแส อาการวิตกในโลกออนไลน์ เสพติดการยอมรับจากผู้อื่น

โรคกลัวตกกระแส หรือ FOMO ระบาดในหมู่คนที่เสพติดการใช้โซเชียลมีเดีย หรือพูดในภาพใหญ่คือ ในยุคที่โซเชียลมีเดียเฟื่องฟู ทำให้ ‘ผู้ใช้’ อย่างเรา ๆ เริ่มมีอาการกลัวตกกระแส กลัวตามไม่ทันเทรนด์ กลัวพลาดในการรับรู้เรื่องราวบางอย่าง หรือพูดง่าย ๆ คือ กลัวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง

ปฏิเสธได้ยากว่า ‘ยอดไลก์ ยอดแชร์’ กลายเป็นความหวัง และเป็นตัววัดความสำเร็จบนโลกออนไลน์ ใครที่มียอดไลก์ยอดแชร์ถล่มทลายแปลว่าคนนั้นมีชื่อเสียง มีอิทธิพลต่อคนบางกลุ่ม กลับกัน เมื่อยอดไลก์ตก กลับทำให้อารมณ์เสีย หงุดหงิด และรู้สึกว่าไม่ได้เป็นคนสำคัญ

มีงานวิจัยที่น่าสนใจมาก ระบุว่า คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตัวว่าตัวเองวนเวียนอยู่กับมือถือ เพื่อดูผลตอบรับในโพสต์ที่ตัวเองเผยแพร่ หรือแชร์ออกไป รวมถึงติดตามกระแสข่าวที่ได้รับความนิยม เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์เหล่านี้

กรณีชายแดนไทย-กัมพูชา อาจเป็นเหตุการณ์ที่ชวนให้เรากลับมาสำรวจตัวเอง แน่นอนทุกคนมีสิทธิแชร์ และแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่ แต่อยากให้ลองถามตัวเองอีกครั้ง เราสนใจปัญหานี้จริง ๆ หรือแค่แชร์เพราะอยากมีส่วนร่วมกันแน่

เพราะถ้าเป็นอย่างหลัง เราอาจติดกับดักสงครามข่าวสารได้ง่าย ๆ เมื่อเห็นโพสต์ใดที่มีกระแสพูดถึงเยอะ คอมเมนท์กระหน่ำ โรคกลัวตกกระแสอาจโน้มน้าวให้เรากดแชร์ไป โดยที่ไม่รู้ว่านี่เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ หรือต้นทางเกิดแบบนี้จริง ๆ หรือเปล่า

ในแง่การทำงานของสมอง มีการวิเคราะห์ว่ายอดไลก์ ยอดแชร์ ทำให้ผู้ใช้รับรู้ได้ว่ามีคนชอบหรือเห็นด้วยในสิ่งที่เราทำ แล้วพอทำบ่อย ๆ ก็จะเสพติด เสพติดเสียงตอบรับจากผู้อื่น รู้สึกว่าตัวเองเก่ง มีปากมีเสียง มีความรู้ เท่าทันโลก แต่หารู้ไม่ว่า นี่อาจมีผลกระทบในระยะยาว

มีอะไรบ้าง เช่น หลงตัวเอง คิดว่าตัวเองเก่งและถูกเสมอ รับฟังเสียงคนรอบข้างน้อยลง ให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียในทุกลมหายใจ เมื่อไม่คนเห็นแย้ง เห็นต่าง จะรู้สึกไม่พอใจ โกรธแค้น คิดมาก ไม่มีความสุขกับชีวิตจริง และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

คำถามก็คือ แล้วจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคกลัวตกกระแส?

ยุคนี้ ใคร ๆ ก็มีมือถือ หากจะบอกให้ไม่ใช้มือถือ เป็นไปไม่ได้ สิ่งสำคัญที่ควรมีติดตัวเลยก็คือ การรู้เท่าทันและรู้จักคัดกรองข้อมูล นี่ดูจะเป็นเรื่องยากมากในโมงยามที่ปัญญาประดิษญ์ หรือ AI พบเจอได้ในทุกหย่อมหญ้าบนโซเชียลมีเดีย รูปจริง รูปปลอม ข้อความจริง ข้อความเท็จ บางที คนที่ไม่ช่ำพอ อาจหลงกลเอาได้ง่าย ๆ

ทีนี้ มาดูวิธีแบบรูปธรรมที่นำไปใช้กันได้ดีกว่า

อย่างแรก เลี่ยงการไถหน้าจอ หรือหน้าฟีดไปเรื่อยเปื่อย บางที ไม่ได้มีเรื่องสำคัญอะไร แต่เราก็ยังไถนิ้วเลื่อนดูนั่นดูนี่ เผลออีกที ผ่านไป 15-20 นาที โดยที่ไม่ได้ใจความสำคัญใดใดเลย

อย่างที่สอง ทำความเข้าใจว่าโซเชียลมีเดียคือโลกเสมือน ไม่ใช่โลกแห่งความจริงแท้ 100% ทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ต มีสิทธิคลาดเคลื่อนได้เสมอ แม้แต่ชีวิตจริงก็ยังเกิดขึ้นได้

อย่างที่สาม ทำความเข้าใจว่าการพลาดอะไรบางอย่าง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอในชีวิต อันนี้สำคัญ เราทุก ๆ คนล้วนเคยพลาดบางเหตุการณ์ ช่วงเวลาสำคัญกันมาแล้วทั้งนั้น เช่น ตื่นสายไปโรงเรียนไม่ทัน ซึ่งวันนั้นมีดารามาเยี่ยม ไปพี่ขึ้นรถตู้ไปกรุงเทพฯ ไม่ทัน ซึ่งวันนั้น แม่ร้องไห้เพราะคิดถึงพี่ และอีกสารพัด

แต่ถ้าให้เราแนะนำ เป็นข้อแถมคือ ปิดเสียงการแจ้งเตือนมือถือซะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related