svasdssvasds

"ปรับพฤติกรรมแก้ปัญหา" เมื่อตัดสินใจช้า เรื่องนั้นจะกลายเป็นปัญหา

"ปรับพฤติกรรมแก้ปัญหา" เมื่อตัดสินใจช้า เรื่องนั้นจะกลายเป็นปัญหา

เวลาที่เราพูดเรื่องการแก้ปัญหา สิ่งหนึ่งที่แยกกันไม่ออกเลยคือเรื่องการตัดสินใจ ซึ่งอาจจะทำให้เกิด "การเปลี่ยนแปลง" ตามมา ทำให้เวลาเจอปัญหา หลายคนต้องคิดมากขึ้น กลายเป็นตัดสินใจช้าออกไป แต่รู้หรือไม่มันอาจเป็นปัญหาเพิ่มให้เราได้เช่นกัน

เมื่อตัดสินใจช้า เรื่องนั้นจะกลายเป็นปัญหา

เวลาที่เราพูดเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งหนึ่งที่แยกกันไม่ออกเลยคือเรื่องการตัดสินใจ ตั้งแต่เราเริ่มซีรีย์เรื่องการเบื่องานที่ทำ หมดไฟในการทำงาน มาสู่การตัดสินใจหางานใหม่ จนมาถึงการแก้ปัญหา อาทิตย์นี้จะขอเขียนเนื้อหาต่อจากสัปดาห์ก่อนที่เล่าถึงการเปลี่ยนองศาการมองปัญหาทำให้แก้ปัญหาได้ดีขึ้นและเทคนิคการพิจารณาทางแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ที่ไม่ทำให้ปัญหายุ่งยากอิรุงตุงนังมากกว่าเดิม

"การตัดสินใจ" ไม่ต้องรอให้ทุกอย่างพร้อมก่อนเสมอไป Photo : Freepik

มาเล่าย้อนกลับไปในช่วงเวลาก่อนการเกิดปัญหากันค่ะ

อย่างที่รู้กันดีว่าเรื่องราวบางอย่างถ้าเราไม่ตัดสินใจลงมือทำอะไรบางอย่างก่อนเช่น ตัดสินใจออกกำลังกายเป็นประจำ ก่อนที่สุขภาพจะแย่หรือร่างกายจะพัง จากความเครียดและการทำงานหนัก  ดังนั้นเงื่อนไขเรื่องปัญหา การตัดสินใจ และเวลาจึงสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ปัญหาคือเราจะป้องกันการดีเลย์การตัดสินใจได้อย่างไร เชื่อว่าหลายคนมีปัญหานี้ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • รอรวบรวมข้อมูลให้เพียงพอ
  • กังวลมากอยากให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบอย่างไม่มีที่ติ
  • กลัวทำได้ไม่ดีเลยไม่ทำสักที

ไม่สำคัญว่าปัญหานี้จะเกิดจากอะไรเพราะเราต้องแก้ให้ได้ค่ะ

เมื่อตัดสินใจช้า... เรื่องนั้น (อาจ) กลายเป็นปัญหา Photo : Freepik

ลองสำรวจดูว่าสาเหตุที่ทำให้เราพยายามเลื่อนการตัดสินใจคืออะไร

หลายครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวว่าเรามีความกังวลเรื่องอะไรอยู่ ถ้ามีเพื่อนสนิทที่คอยช่วยรับฟังและสะท้อนแง่คิดดีๆ ก็ช่วยได้มาก อย่างตัวเองเคยมีปัญหาการส่งรายงานช้าตลอด ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ยิ่งเป็นวิชาที่ชอบ ยิ่งตั้งใจเท่าไหร่ก็ยิ่งใช้เวลาทำการบ้านหรือรายงานนานมากขึ้น เพราะอยากตั้งใจทำให้ดีที่สุด เลยมัวแต่หาข้อมูลจนวินาทีสุดท้ายค่อยลงมือเขียนรายงาน

ตอนไปเรียนปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษก็ยังเป็นเหมือนเดิม เพิ่มเติมคืองานยากขึ้นเพราะต้องเรียนและทำรายงานเป็นภาษาอังกฤษที่เป็นอุปสรรคใหญ่ ทำให้เราต้องใช้เวลานานมากกว่าเดิม แรกๆส่งช้าประจำเพราะความ Perfectionist พยายามทำให้งานออกมาดีที่สุดเท่าที่ความสามารถอันน้อยนิดจะมี  คะแนนที่ได้น้อยอยู่แล้วก็ยิ่งโดนตัดคะแนนอีก จนวันหนึ่งที่นั่งเครียดอยู่ในห้องสมุดเพื่อนชาวไต้หวันเดินมาคุยพอฟังจบก็แนะนำสั้นๆ ว่า.....

ถ้าเธอส่งช้าก็ไม่แน่ว่าเธอจะทำรายงานได้ดีขึ้น แต่ที่แน่ๆ “เธอโดนตัดคะแนนแน่นอน” รีบทำส่งให้ทันวันนี้เลย ซึ่งหากตรงไหนยังรู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดี ก็ค่อยไปแก้ไขในรายงานชิ้นต่อไปในอาทิตย์หน้า ชีวิตเธอไม่ได้จบแค่รายงานชิ้นนี้นะ วันจันทร์หน้าก็ต้องส่งชิ้นถัดไป

เมื่อตัดสินใจช้า เพราะความ "Perfectionist" (อาจ) กลายเป็นปัญหา Photo : Freepik

ฟังเพื่อนพูดแล้วซึ้งเลย ซื้อความคิดนี้เลยจ้า จริง 100 % รีบทำส่งไป เพราะต่อให้หาข้อมูลเพิ่ม เขียนให้ดีขึ้นก็ไม่แน่ว่าจะโดนใจอาจารย์ได้คะแนนดีขึ้นเสียที่ไหน เอาเป็นว่า “ทำให้ดีที่สุดในระยะเวลาที่มีอยู่ก็แล้วกัน” ซึ่งพอได้รีบทำการบ้านส่งให้ทันเดดไลน์ (deadline) อาทิตย์นั้นแล้ว อาทิตย์ถัดๆ มาก็ไม่เกิดปัญหานี้อีกเลย

พอมาทบทวนจากประสบการณ์ที่เคยเรียน ทฤษฎีการให้คำปรึกษาสมัยที่เรียนจิตวิทยา การแก้ไขปรับเปลี่ยนนิสัยการส่งการบ้านช้าที่เล่ามาเป็นการแก้ไขตาม “ทฤษฎีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างตระหนักรู้” (Cognitive Behavior Therapy) หรือที่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า ทฤษฎี CBT

เราไม่ใช่คนแรกที่ผ่านต้องตัดสินใจ ผิดพลาดได้ แค่ต้องเรียนรู้และแก้ไข Photo : Freepik

ทฤษฎีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างตระหนักรู้ คืออะไร

ทฤษฎี CBT อธิบายแบบสั้นๆ ง่ายๆ ใน 2 บรรทัดได้ว่า ความคิด ความเชื่อ, พฤติกรรม และความรู้สึก ส่งผลไปมาต่อกัน เหมือนรูปสามเหลี่ยมที่มีลูกศรย้อนไปมาตามภาพด้านล่าง เมื่อความเชื่อ, พฤติกรรม และความรู้สึก ส่งผลต่อกันแล้ว การเปลี่ยนสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะส่งผลต่ออีก 2 สิ่งที่เหลือ

ทฤษฎีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างตระหนักรู้ หรือ ทฤษฎี CBT (ภาพจาก : counselling thaland)

จากตัวอย่างเรื่องส่งการบ้านช้าเป็นประจำจนโดนตัดคะแนน พอเพื่อนมาแก้ไขวิธีคิดให้ว่ารีบส่งๆ ไปก่อน แล้วไปแก้ในงานหน้า เพราะต้องส่งงานทุกอาทิตย์อยู่แล้ว พฤติกรรมเราเลยเปลี่ยนไป รีบทำรายงานส่งให้ทันเวลา โดยคงความเป็นมนุษย์เพอร์เฟกต์ไว้ที่ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เรามีเวลา ได้แค่ไหนแค่นั้นก่อน

พอส่งทันก็รู้สึกภูมิใจ ดีใจ จากเดิมที่รู้สึกเครียดตลอดเวลาเมื่อใกล้ต่อส่งงาน ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อความรู้สึกของเรามากว่าถึงจะไม่ดี ไม่เพอร์เฟกต์สุดแต่ก็ส่งทันเวลา หลังจากนั้นก็ไม่เคยโดนตัดคะแนนเพราะส่งงานช้าอีกเลย

มนุษย์ประเภทนักคิด ลองเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการ “ลอง ลงมือทำ” ก่อน Photo : Freepik

มนุษย์ประเภทนักคิด อาจต้องปรับพฤติกรรมมากหน่อย

สำหรับคนที่มีบุคลิกภาพแบบนักคิด (Thinker) แบบเรา ลองทบทวนหาสาเหตุการเลื่อนการตัดสินใจให้เจอ แล้วขยับองศา ปรับเปลี่ยนการมองให้เห็นในมุมที่ต่างออกไป หาเหตุผลที่เข้าท่ามาอธิบายเรื่องเดิมในมิติใหม่ๆ วิธีนี้จะช่วยให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น

สำหรับใครที่ไม่เป็นมนุษย์ประเภทนักคิด หรือแม้กระทั่งนักคิดที่รู้สึกว่าวิธีการข้างต้นยากไป ชวนให้ลองวิธีเริ่มที่การเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนด้วยการลงมือทำเลยค่ะ ไม่ต้องคิดอะไรมากตัดสินใจทำในสิ่งที่ต่างออกไป แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ให้ลองเปลี่ยนดูก่อน การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ความรู้สึกของเราเปลี่ยนไป เมื่อความรู้สึกเปลี่ยนไปความคิด ความเชื่อเปลี่ยนไปตามทฤษฎีแนวคิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างตระหนักรู้ (ทฤษฎี CBT)

ขยับองศา ปรับเปลี่ยนการมองให้เห็นในมุมที่ต่างออกไป เพื่อปรับพฤติกรรมจัดการปัญหา Photo : Freepik

ปรับพฤติกรรม แก้ที่มุมมองต่อเรื่องที่เรากำลังตัดสินใจ

การเปลี่ยนแปลงก็เหมือนๆ กับการตัดสินใจไม่ต้องรอให้ทุกอย่างพร้อมก่อน หรือถ้าจะดีเลย์การตัดสินใจออกไปก็ต้องหาให้จุดอ้างอิงให้เจอว่า ต้องตัดสินใจเรื่องนี้อย่างช้าที่สุดเมื่อไหร่ หรือทันที่ที่รู้เรื่องนี้ เราต้องตัดสินใจเรื่องนี้ได้แล้ว เช่น เราจะจองตั๋วเครื่องบินทันทีเมื่อมีการยืนยันนัดหมายสัมภาษณ์งาน เป็นต้น เพราะการตัดสินใจบางอย่างช้าเกินไปก็นำมาซึ่งปัญหา

สำหรับใครที่กังวลในเรื่องที่ต้องตัดสินใจมาก ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องที่มีความสำคัญกับเรามาก เรามีแนวโน้มว่าจะตัดสินใจช้า เพราะต้องการรวบรวมข้อมูล หรือรอดูท่าทีของคนที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ว่าความล่าช้าจะเกิดจากอะไร "ให้แก้ที่มุมมองต่อเรื่องที่เรากำลังตัดสินใจ" ให้คิดเหมือนว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่

เราไม่ใช่คนแรกที่ต้องผ่านการตัดสินใจกับเรื่องแบบนี้ ถ้ามีการตัดสินใจผิดพลาดเราสามารถตัดสินใจใหม่ได้ การตัดสินใจเหมือนทางแยกที่เราข้ามแยกนี้ไปแล้วเราก็เจอแยกใหม่

ถ้าคิดแบบนี้แล้วยังรู้สึกไม่มั่นใจให้ลองคิดแผนสำรองรับมือกับการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่เรียกว่า Worst Case Scenario หรือหากตัดสินใจแล้วเกิดผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดเราจะรับมืออย่างไร  การคิดแผนเตรียมพร้อมไว้ย่อมทำให้เราวางใจ คลายกังวล และรู้สึกมั่นคงในการตัดสินใจมากกว่าขึ้นได้

ขอเอาใจช่วยให้ทุกคนมั่นใจกับทุกๆ การตัดสินใจในครั้งต่อไปนะคะ  

บทความอื่นที่น่าสนใจ

บทความ : เพชร ทิพย์สุวรรณ

อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ

ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant

 

related