svasdssvasds

หลักการเลือกคนเข้าทำงาน แบบไม่ต้องทนเสียเวลา Toxic ทั้งสองฝ่าย

หลักการเลือกคนเข้าทำงาน แบบไม่ต้องทนเสียเวลา Toxic ทั้งสองฝ่าย

"การคัดเลือกพนักงานที่ดีคือการเลือกคนที่เหมาะกับงานและเข้ากันได้กับทีม รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร  ไม่ใช่การคัดเลือกคนที่ดีที่สุด" Work Life Balance อาทิตย์นี้ ว่าด้วยเรื่องหลักการเลือกคนเข้าทำงาน แบบไม่ต้องทนเสียเวลา Toxic ทั้ง 2 ฝ่าย

หลักการเลือกคนทำงาน ไปด้วยกันไม่ได้ อย่าเสียเวลา

  • เคยทดลองคบกับใครแล้วรู้สึกเสียเวลาเปล่าหรือเปล่า?
  • รู้สึกว่าไม่น่าจะไปกันได้แต่ไม่รู้แน่ชัดว่าเราไม่เหมาะกันตรงไหน?

Work Life Balance อาทิตย์นี้เป็นเรื่องการจับคู่ระหว่างคนและงาน ทำอย่างไรถึงจะรู้ได้ว่าคนที่มาสมัครงานหรือพนักงานใหม่ที่อยู่ในช่วงทดลองงานเหมาะกับตำแหน่งที่เปิดรับอยู่หรือเปล่า?  รวมถึงทำอย่างไรถึงจะรู้ได้เร็วว่าพนักงานหรือผู้สมัครคนนี้เป็นคนที่ใช่หรือเปล่า?

การประเมินได้เร็วทำให้ต่างฝ่าย ต่างไม่เสียเวลาต่อกัน และไม่เสียพลังงานในการปรับตัว สอนและเรียนรู้งานกลายเป็นการ Burn Out หรือ Toxic ทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านกันเลยค่ะ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า การคัดเลือกพนักงานที่ดีคือการเลือกคนที่เหมาะกับงานและเข้ากันได้กับทีม รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร  ไม่ใช่การคัดเลือกคนที่ดีที่สุด ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์บางอย่างที่โดดเด่นเป็นที่ดึงดูดมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ จะกลายเป็นกับดักการตัดสินใจเลือกคนผิด

หลักการเลือกคนเข้าทำงาน แบบไม่ต้องทนเสียเวลาทั้งพนักงานและองค์กร

การตัดสินใจรับคนที่ดีที่สุดมาทำงานจะเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “เธอดีเกินไป” ตามมา ในสายงาน HR จะเรียกผู้สมัครประเภทนี้ว่า “Over Qualify” หรือมีคุณสมบัติที่มากเกินกว่าที่ต้องการ ผลที่ตามมาคือเมื่อรับมาแล้วจะอยู่ได้ไม่นาน ทำให้ต้องประกาศรับคนใหม่ซึ่งเป็นต้นทุนการบริหารจัดการและการสอนงาน เหมือนกับการเปลี่ยนแฟนบ่อยๆ ที่ต้องเสียเวลาเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน ดีไม่ดีตอนเลิกกันยังเสียความรู้สึกอีกด้วย

วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาการรับคนที่ไม่เหมาะสมมาทำงาน คือการประเมินด้วยคำถามง่ายๆ 2 ข้อ

  1. ตำแหน่งนี้มีความรับผิดชอบที่สำคัญอะไรบ้าง ต้องการความสำเร็จแบบไหน ให้คิดแบบไม่มีข้อจำกัดเลย คิดแบบสุดโต่งไปเลย
  2. คนที่ทำงานแบบตามคำตอบในข้อ 1 ได้ต้องมีคุณสมบัติและทักษะอะไรบ้าง

ให้ลิสต์ออกมาให้ครบทุกข้อ จากนั้นให้เลือกข้อที่คิดว่าจำเป็นต้องมี ถ้าไม่มีทำงานในตำแหน่งนี้ไม่ได้แน่นอน รายการที่ได้มาจะเหมือนสเปกแฟนที่อยากได้ ถ้าไม่มีข้อต่อไปนี้ไม่คบด้วยแน่นอน

การคัดเลือกพนักงานที่ดีคือการเลือกคนที่เหมาะกับงานและเข้ากันได้กับทีม รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร  ไม่ใช่การคัดเลือกคนที่ดีที่สุด

คำตอบในข้อ 2 จะถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจและออกแบบคำถามสัมภาษณ์งาน ทันทีที่เราประเมินจากการพูดคุยแล้วพบว่าผู้สมัครไม่มีคุณสมบัติที่ว่ามา เราควรตัดบทสนทนาจบการพูดคุยอย่างสุภาพ หากไม่แน่ใจเราสามารถบันทึกไว้แล้วประเมินอีกครั้งตอนนัดมาสัมภาษณ์แบบพบหน้ากัน ซึ่งจะง่ายกว่าเพราะสามารถเตรียมคำถาม แบบทดสอบ หรือให้ทดลองทำงาน รวมทั้งสังเกตสีหน้าแววตาตอนผู้สมัครตอบคำถามได้ชัดเจนกว่าตอนสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

เช่นเดียวกับกรณีที่สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์หากค้นพบว่าไม่ใช่คนของเรา ไม่เหมาะกับงานของเรา อย่าพยายามฝืนคุยต่อเพราะจะทำให้หาเหตุผลในการรับเข้ามาทำงาน สุดท้ายถ้าไปกันไม่รอดก็จะเสียเวลาทั้ง 2 ฝ่าย

กรณีที่มีคุณสมบัติบางข้อไม่แน่ใจแต่ประเมินรวมๆ แล้วคิดว่า "ดีพอที่ลองรับเข้ามาร่วมงานกัน" เหมือนทดลองเป็นแฟนกันดูก่อน ซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะให้โอกาสกันทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตามเรายังต้องยึดลิสต์คำตอบข้อ 2 ไว้อย่างเหนี่ยวแน่น ช่วงเวลาทดลองร่วมงานจะเป็นโอกาสให้เราได้พิสูจน์กันโดยใช้คำตอบข้อ 2 เป็นเกณฑ์การคัดเลือก

หลักการเลือกคนเข้าทำงาน แบบไม่ต้องทนเสียเวลา Toxic

เทคนิคที่สำคัญคือต้องมอบหมายงานที่ทำให้ได้แสดงศักยภาพของสิ่งที่เราต้องการประเมิน เหมือนเราอยากได้แฟนที่เข้ากับครอบครัวเราได้ เราก็ควรจัดทริปครอบครัวไปเที่ยวพร้อมแฟน เพื่อดูว่าแฟนเรามีท่าทีอย่างไรตอนไปเที่ยว ผ่านเกณฑ์ที่เราคาดหวังไว้หรือเปล่า ฟังดูคล้ายๆ กันจัดฉากทดลองใจ ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ค่ะ

คำถามคือทำไมต้องทำถึงขนาดนั้นด้วย??

ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีจังหวะที่แฟนและครอบครัวได้มีกิจกรรมร่วมกันแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเข้ากันได้หรือเปล่า เมื่อวันเวลาผ่านไปแล้วมารู้ที่หลังว่าแฟนและครอบครัวเราไปกันไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ผูกพันกันไปแล้ว รักกันไปแล้ว เสียดายหรือไม่ก็สงสารจนไม่อยากเลิกกัน

พนักงานใหม่ก็เหมือนกันค่ะเราจะไม่อยากเลิกจ้าง ส่วนใหญ่ให้ต่อทดลองงาน ซึ่งเสียเวลาทั้ง 2 ฝ่าย หากช่วงเวลาทดลองานเกิน 120 วันแล้วไม่ผ่านทดลองงานบริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยแรงงาน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเสียใจและเสียความรู้สึก

คำแนะนำคือยึดเกณฑ์การคัดเลือกของตำแหน่งนั้นให้ดี คุณสมบัติข้อไหนที่จำเป็นต้องมี ถ้าไม่มีก็ต้องคัดออก คุณสมบัติข้อไหนที่ต้องทดสอบ ทดลองให้แน่ใจว่ามีแน่ก็ต้องให้ทดลองแต่เนิ่นๆ รีบมอบหมายให้ทำก่อนเลย จะได้เห็นผลงานและฟีดแบคได้ทันที

พนักงานใหม่จะได้มีโอกาสปรับปรุงหรือถ้าทำไม่ได้ก็จะได้รู้ตัวแต่เนิ่นๆ หากไปกันต่อไม่ได้จริงๆ จะได้ไม่เสียความรู้สึกต่อกัน  สิ่งสำคัญคือรู้ให้เร็ว แจ้งให้ไว ไปต่อไม่ได้ก็แยกย้ายกันไป สร้างความคาดหวังที่ถูกต้องให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ช่วยกันดู ช่วยกันประเมิน

ทุกอย่างมีต้นทุน

โดยเฉพาะต้นทุนเวลาและต้นทุนทางความรู้สึกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเรียกคืนมาได้ การคัดเลือกพนักงานก็เหมือนการคบกับหาคนรู้ใจ ทันทีที่รู้ว่าไม่ใช่ก็ไม่ควรไปต่อ รีบแยกย้ายไปหาคนใหม่ ส่วนจะรู้ว่าใช่หรือไม่ใช่ก็ต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจน และต้องอย่าลืมสื่อสารบอกฟีดแบคให้ทดลองปรับตัวสักระยะหนึ่ง เมื่อถึงตามกำหนดระยะเวลาแล้วถ้าไปต่อไม่ได้ก็อย่าได้ฝืน หนทางข้างหน้ายังมีงานดีๆ และคนดีๆ รอเราอยู่ 

หมายเหตุ : เนื้อหาของบทความเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร “คัดคนที่ใช่ สัมภาษณ์อย่างไรให้อยู่หมัด”

บทความอื่นที่น่าสนใจ

บทความ : เพชร ทิพย์สุวรรณ

อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ

ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant

related