svasdssvasds

เตือนสติ ชำระผิด วันออกพรรษา วันพฤหัสบดีที่ 5 ต.ค.นี้

เตือนสติ ชำระผิด วันออกพรรษา วันพฤหัสบดีที่ 5 ต.ค.นี้

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

เมื่อเทศกาลเข้าพรรษาได้ผ่านพ้นไปถึง 3 เดือน ก็จะเป็นช่วงเวลาของ "วันออกพรรษา" ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่วัดในช่วงฤดูฝนตลอด 3 เดือนของพระภิกษุสงฆ์ โดยวันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี

"วันมหาปวารณา" คำว่า "ปวารณา" นั้นแปลว่า อนุญาตหรือยอมให้ โดยในปีนี้ วันออกพรรษา 2560 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ที่เรียกว่า มหาปวารณา ในวันออกพรรษา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากในระหว่างที่เข้าพรรษาอยู่ด้วยกัน พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และการให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนก็จะทำให้รู้ข้อบกพร่องของตน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันได้ด้วย พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้ และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แม้พระผู้ใหญ่จะมีอาวุโสมากกว่า แต่ท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง เพื่อเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย ไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา

 

เตือนสติ ชำระผิด วันออกพรรษา วันพฤหัสบดีที่ 5 ต.ค.นี้

 

ประเพณีเกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา นิยมปฏิบัติอยู่ 2 อย่าง คือ

  1. ประเพณีตักบาตรเทโว หลังวันออกพรรษา

หลังวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมีการ "ตักบาตรเทโว" หรือชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหณะ" แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก โดยสามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" โดยอาหารที่นิยมนำไปใส่บาตรคือ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน

พิธีตักบาตรเทโวโรหณะในปัจจุบันนั้น จะเริ่มตั้งแต่ตอนรุ่งอรุณหลังวันออกพรรษา พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันไดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัด จึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้

 

เตือนสติ ชำระผิด วันออกพรรษา วันพฤหัสบดีที่ 5 ต.ค.นี้

 

  1. ประเพณีเทศน์มหาชาติ หลังวันออกพรรษา

งานเทศน์มหาชาติ นิยมทำกันหลังวันออกพรรษา พ้นหน้ากฐินไปแล้ว ซึ่งกฐินจะทำกัน 1 เดือนหลังออกพรรษา ที่จะร่วมกันทอดกฐินทั้ง จุลกฐิน และมหากฐิน โดยประเพณีงานเทศน์มหาชาติอาจทำในวันขึ้น 8 ค่ำ กลางเดือน 12 หรือในวันแรม 8 ค่ำ ก็ได้ เพราะในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า "งานบุญพระเวส" ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 ก็มี

 

ประเพณีวันออกพรรษา ในแต่ละภาค จะมีประเพณีที่ต่างกันไป

วันออกพรรษา ภาคกลาง

จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาจากบันไดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันไดสวรรค์ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร

จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ณ วัดสะแกกรัง พระภิกษุก็จะเดินลงมาจากเขารับบิณฑบาตจากชาวบ้าน โดยขบวนพระภิกษุสงฆ์ที่ลงมาจากบันไดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูปนำหน้า ทำการสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้า จะใช้พระปางอุ้มบาตร ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตรหรือปางลีลา ตั้งไว้บนรถหรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาต

 

เตือนสติ ชำระผิด วันออกพรรษา วันพฤหัสบดีที่ 5 ต.ค.นี้

 

วันออกพรรษา ภาคใต้

ส่วนทางภาคใต้ก็จะมี ประเพณีชักพระหรือลากพระ ซึ่งก็คือพระพุทธรูปนั่นเอง โดยมี 2 กรณี คือ ชักพระทางบก กับ ชักพระทางน้ำ 

ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนวันชักพระ 2 วัน จะมีพิธีใส่บาตรหน้าล้อ นอกจากอาหารคาวหวานแล้ว ยังมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน คือ "ปัด" หรือข้าวต้มผัดน้ำกะทิห่อด้วยใบมะพร้าว บางที่ห่อด้วยใบกะพ้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง) ในภาคกลางเขาเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ก่อนจะถึงวันออกพรรษา 1-2 สัปดาห์ ทางวัดจะทำเรือบก คือ เอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ 2 ท่อนมาทำเป็นพญานาค 2 ตัว เป็นแม่เรือที่ถูกยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วปูกระดาน วางบุษบก บนบุษบกจะนำพระพุทธรูปยืนรอบบุษบกแล้ววางเครื่องดนตรีไว้บรรเลง เวลาเคลื่อนพระไปสู่บริเวณงานพอเช้าวัน 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะช่วยกันชักพระ โดยถือเชือกขนาดใหญ่ 2 เส้นที่ผูกไว้กับพญานาคทั้ง 2 ตัว เมื่อถึงบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองต่าง ๆ กลางคืนมีงานฉลองอย่างมโหฬาร อย่างการชักพระที่ปัตตานีก็จะมีชาวอิสลามร่วมด้วย

ส่วนพิธีชักพระทางน้ำ ก่อนถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ทางวัดที่อยู่ริมน้ำ ก็จะเตรียมการต่าง ๆ โดยการนำเรือมา 2-3 ลำ มาปูด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือพนมพระประดับประดาด้วยธงทิว ในบุษบกก็ตั้งพระพุทธรูป ในเรือบางที่ก็มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดทางที่เรือเคลื่อนที่ไปสู่จุดกำหนด คือบริเวณงานท่าน้ำที่เป็นบริเวณงานก็จะมีเรือพระหลาย ๆ วัดมาร่วมงาน ปัจจุบันจะนิยมใช้เรือยนต์จูง แทนการพาย เมื่อชักพระถึงบริเวณงานทั้งหมด ทุกวัดที่มาร่วมจะมีการฉลองสมโภชพระ มีการละเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน เช่น แข่งเรือปาโคลน ซัดข้าวต้ม เป็นต้น เมื่อฉลองเสร็จ ก็จะชักพระกลับวัด บางทีก็จะแย่งเรือกัน ฝ่ายใดชนะก็ยึดเรือ ฝ่ายใดแพ้ต้องเสียค่าไถ่ให้ฝ่ายชนะ จึงจะได้เรือคืน

 

 

เตือนสติ ชำระผิด วันออกพรรษา วันพฤหัสบดีที่ 5 ต.ค.นี้

 

"เตือนสติว่าเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกพรรษาหนึ่งแล้วได้คร่าชีวิตมนุษย์ ให้ผู้คนนั้นดำรงอยู่ในความไม่ประมาทและหันมาสร้างกุศล"

"การทำบุญออกพรรษาจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นชำระความผิดของตนได้ คือหลักปวารณา ตนเองไม่รู้ตัวแล้วมองไม่เห็น แต่ผู้อยู่ข้าง ๆ มองเห็นแต่ไม่กล้าเตือน ดังนั้นตนเองต้องปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้ ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นและยั่งยืน"

"คนเราส่วนใหญ่มักจะลำเอียงเข้าข้างตนเองเป็นฝ่ายถูก ความผิดของคนอื่นเห็นง่ายส่วนตนเองนั้นความผิดนั้นเห็นยาก"

"เป็นการให้รู้ถึงการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการเปิดใจซึ่งกันและกัน โดยไม่มีเล่ห์เหลี่ยมลับลมคมในใด ๆ ในการคบหาหรืออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข"

 

ขอบคุณข้อมูลจาก wikipedia

ขอบคุณภาพ จาก Sanook.com

ขอบคุณภาพ จาก กิมหยง.คอม

ขอบคุณภาพ จาก www.watpamahachai.net

ขอบคุณภาพ จาก unseen ถิ่นไทย

related