ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
จบลงอย่างสวยงามสำหรับละครฟอร์มยักษ์ รากนครา ทางช่อง 3 กับฉากที่ตราตรึงของ น้ำฝน พัชรินทร์ กับบทบาท เจ้านางหลวงปัทมสุดา แห่งเมืองมัณฑ์ ส่วนสำคัญทำให้เมืองมัณฑ์ล่มสลาย ซึ่งตัวละครดังกล่าวนั้น เป็นการนำบุคคลจริงในประวัติศาสตร์มาเป็นต้นแบบ ปรับแต่งเรื่องราวให้เหมาะกับนวนิยายมากขึ้น โดยเป็นเรื่องราวของ ราชินีศุภยาลัต มเหสีของพระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า
โดยในประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า พระนางศุภยาลัต ไม่พอใจที่อังกฤษให้ค่าสัมปทานป่าไม้น้อย และฝรั่งเศสทำท่าจะเข้ามาเสนอให้มากกว่าประกอบกับมีการกล่าวหาว่าอังกฤษลอบ ตัดไม้เกินกว่าที่ได้รับสัมปทาน พม่าเลยสั่งปรับอย่างหนักถึง 1 ล้านรูปี ฝ่ายอังกฤษก็ไม่พอใจจึงยื่นเรื่องประท้วง แต่พม่าไม่ยอม ตอนนั้นพระนางศุภยาลัตคิดว่าตัวเองมีฝรั่งเศสหนุนหลัง แต่พอเกิดเรื่องเข้าจริงๆ ฝรั่งเศสก็วางตัวเป็นกลาง
วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2428 อังกฤษก็เริ่มส่งข้อเรียกร้องขั้นเด็ดขาด ซึ่งพม่ายอมไม่ได้ เช่น ให้อังกฤษเป็นคนควบคุมนโยบายการค้าการเดินเรือของพม่าทั้งหมด ฯลฯ มิฉะนั้นจะรบกับพม่า (ขณะนั้นอังกฤษได้ยึดพม่าทางใต้ได้แล้วจากสนธิสัญญายันดาโบ ซึ่งทำขึ้นในสมัยกษัตริย์องค์ก่อนๆของพม่า)
พระ นางศุภยาลัตประกาศรบอังกฤษด้วยความหยิ่งทนงว่าพม่านั้นเป็นชาติมหาอำนาจในเอเชียอาคเนย์ เคยชนะมาแล้วแม้แต่จีน หลงละเมอเพ้อพกอยู่กับอดีตอันยิ่งใหญ่ของพม่า โดยไม่เคยสนใจความก้าวหน้าของชาติมหาอำนาจตะวันตกเลย
พระเจ้าธีบอตามพระทัยมเหสีจึงสั่งให้เตรียมพลไปรบตามแบบโบราณ มีการแต่งทัพตามตำราพิชียสงคราม ฝ่ายอังกฤษให้นายพลแฮร์รี เพนเดอร์กาส นำทหารทั้งฝรั่งและอินเดียเคลื่อนทัพเรือเข้ามาจากย่างกุ้งบุกไปตามลำน้ำอิรวดี ซึ่งฝ่ายทหารพม่านั้นก็ได้ต้านทานตามป้อมต่างๆ แต่สุดกำลังที่จะสู้กับอาวุธสมัยใหม่ได้ ทัพอังกฤษจึงเคลื่อนเข้าสู่กรุงมัณฑะเลย์อย่างง่ายดาย โดยใช้เวลาเพียง 14 วัน เมื่อมาถึงราชสำนักมัณฑะเลย์ก็ได้ยอมรับความพ่ายแพ้แต่โดยดี
หลังจากอังกฤษยึดพม่าได้ ก็ได้ส่งพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตไปประทับถาวรที่เมืองรัตนคีรีเมืองเล็กๆทางชายฝั่งทะเล ทางใต้เมืองบอมเบย์ (มุมไบในปัจจุบัน) ทรงได้รับเงินเดือนจากอังกฤษตอนที่ประทับอยู่ที่อินเดียตอนแรก 10,000 รูปี ภายหลังลดลงมาเหลือ 6,000 รูปี มีรถให้ใช้ 2 คัน และรถม้าอีก 3 คัน โดยอาศัยอยู่ที่อินเดียนาน 31 ปี จนพระเจ้าธีบอจึงสิ้นพระชนม์ที่เมืองรัตนคีรี พระนางจึงได้รับอนุญาตให้พาลูกสาวไปอยู่ย่างกุ้ง ส่วนพระศพพระเจ้าธีบอนั้นฝังไว้ที่อินเดีย
ต่อมาพระนางได้กลับมาสู่พม่าที่เมืองย่างกุ้ง โดยอยู่ในตำหนักที่อังกฤษจัดถวายให้ในเมืองย่างกุ้ง นาน 10 ปี จึงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ขณะพระชนมายุ 65 พรรษา การจัดการพระศพก็เป็นไปอย่างธรรมดา ไม่มีพิธีรีตอง ไม่ต่างจากคนทั่วไป ไม่เหลือเค้าโครงใดๆให้เห็นว่าครั้งหนึ่งนางเคยเป็นพระราชินีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของพม่า
ปัจจุบันยังมีที่ฝังพระศพอยู่ในย่างกุ้ง โดยรัฐบาลอังกฤษจัดการให้ตามธรรมเนียม แต่ไม่อนุญาตให้เชิญพระศพขึ้นไปที่ราชธานีกรุงมัณฑะเลย์ คงอนุญาตเพียงแต่ทำเป็นมณฑปบรรจุพระอัฐิ อยู่ที่ถนนเจดีย์ชเวดากอง (Shwe Dagon Pagoda Rd.) ห่างจากบันไดด้านทิศใต้ของพระเจดีย์ชเวดากองมาประมาณ 200 เมตร สร้างเป็นกู่ทรงมณฑปยอดปราสาทแบบพม่า ก่ออิฐฉาบปูนขาว รูปทรงคล้ายที่ฝังพระศพของพระเจ้ามินดงในกรุงมัณฑะเลย์
วังที่รัฐบาลอังกฤษจัดให้พระเจ้าธีบอประทับ ที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย