svasdssvasds

จากกรณีปารีณา รุกป่า ! ย้อนตำนานคดีดัง ส.ป.ก.4-01

จากกรณีปารีณา รุกป่า ! ย้อนตำนานคดีดัง ส.ป.ก.4-01

ย้อนรอยคดีดังในอดีต เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ส.ป.ก.4-01 ที่ยังอยู่ในความทรงจำของสังคม จนถึงทุกวันนี้

เป็นเรื่องที่สังคมกำลังจับตาอย่างแทบไม่กระพริบ กับกรณีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กับปมการถือครองที่ดิน ส.ป.ก.กว่า 1,700 ไร่ ที่ถูกไล่บี้ขยี้อย่างหนัก ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 62 ซึ่งจากการตรวจพื้นที่ส่วนหนึ่งจำนวน 690 ไร่ ของเจ้าหน้าที่ พบว่าเนื้อที่ประมาณ 46 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนพื้นที่อีกกว่า 1,000 ไร่ นั้น ยังไม่ได้รับการระบุพิกัดจาก น.ส.ปารีณา

จากกรณีปารีณา รุกป่า ! ย้อนตำนานคดีดัง ส.ป.ก.4-01

และเมื่อเอ่ยถึงเรื่อง ส.ป.ก.4-01 ก็ทำให้หลายคนนึกถึงคดีดังที่ยังอยู่ในความทรงจำของสังคม สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 37 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลเรื่องการปฏิรูปที่ดิน ได้เป็นประธานในพิธีมอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้กับราษฎรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจำนวน 486 ราย พื้นที่ทั้งหมด 10,536 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา

แต่ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นอย่างรุนแรง เมื่อมีรายชื่อผู้รับสิทธิ์ เป็นบุคคลในตระกูลเศรษฐีภูเก็ต จำนวนหลายราย โดยเฉพาะเมื่อปรากฏชื่อของ นายทศพร เทพบุตร ซึ่งเป็นสามีของ นางอัญชลี วานิช เทพบุตร ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์

กระทั่งต่อมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีคำสั่งที่ 658/2537 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ที่ออกให้กับราษฎรที่จังหวัดภูเก็ต

โดยการสรุปผลการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 จังหวัดภูเก็ต ระบุว่า มีปัญหา 2 ประการ คือ 1. พื้นที่บางจุดเป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ และ 2. พบปัญหาในการพิจารณาการปฏิบัติ ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิ์ได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พงศ.2535 ในข้อ 6 (6) และข้อ 8 (1) รวมทั้งความหมายของคำว่า “เกษตรกร”

จากกรณีปารีณา รุกป่า ! ย้อนตำนานคดีดัง ส.ป.ก.4-01

ต่อมาพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ทั้งสองได้ลาออกจากตำแหน่งเสียก่อน จึงไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในญัตติดังกล่าว ก่อนที่จะมีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ในวันที่ 17-18 พ.ค. 38

และหลังการอภิปรายจบลง พรรคพลังธรรม ที่มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำพรรค ณ ขณะนั้น โดยเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ได้มีมติงดออกเสียง ด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลไม่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้ อีกทั้งสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นสมาชิกกลุ่ม 16 ได้ประกาศจะไม่ยกมือให้ฝ่ายรัฐบาล จึงกดดันให้ นายชวน หลีกภัย ต้องประกาศยุบสภา

ส่วนทางด้านคดีความที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต เป็นโจทก์ฟ้อง นายทศพร เทพบุตร สามีของนางอัญชลี วานิช เทพบุตร โดยในปี 52 ศาลฎีกา พิพากษาให้ นายทศพร ออกจากพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติตามที่ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด

เรื่องเกี่ยวกับป่า เรื่องเกี่ยวกับ สปก.4-01 เคยทำให้ผู้เกี่ยวข้องจบแบบไม่สวยมาแล้ว ส่วนเรื่องของ น.ส.ปารีณา ที่กำลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในวันนี้ จะลงเอยอย่างไรนั้น ก็ต้องติดตามกันต่อไป   

 

อ้างอิงจาก สถาบันพระปกเกล้า

 

 

related