svasdssvasds

ปิดฉาก โรงพยาบาลบุษราคัม 130 วัน ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 20,000 คน

ปิดฉาก โรงพยาบาลบุษราคัม 130 วัน ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 20,000 คน

กระทรวงสาธารณสุข ประกาศปิดโรงพยาบาลบุษราคัมขนาด 3,700 เตียง ภายหลังจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ลดลง สรุปยอด 130 วันดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 20,436 ราย พร้อมขอบคุณบุคลากรและทุกหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนภารกิจจนลุล่วง

วันนี้ นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม พร้อมด้วยแพทย์หญิงนภาพร สิงขรเขียว นายแพทย์วิชิน โชติปฎิเวชกุล นายแพทย์ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ และนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ นิติการุญ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม แถลงข่าว “130 วันปฏิบัติงานโรงพยาบาลบุษราคัม” ว่า

กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดโรงพยาบาลบุษราคัมที่อิมแพคเมืองทองธานี เป็นโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ ขนาด 3,700 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 อาการปานกลางจนถึงอาการรุนแรงในกทม.และปริมณฑลที่เพิ่มขึ้น ให้เข้าถึงการดูแลรักษา

ในช่วงแรกมีผู้ป่วยวันละ 100 ราย โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคมที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา มีผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นวันละ 300 – 400 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากขึ้น ไม่สามารถส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลหลักที่มีศักยภาพสูงได้  จึงได้เปิดหอผู้ป่วยวิกฤตโกเมน จำนวน 17 เตียง และหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทับทิม 32 เตียง เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ให้ออกซิเจนไฮโฟลว์ ลดการใส่ท่อช่วยหายใจ ลดการเสียชีวิต ตั้งแต่เปิดดำเนินการวันที่ 14 พฤษภาคม -  20 กันยายน 2564 ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 20,436 ราย โดยเป็นผู้ป่วยใน 3 ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 20,289 ราย หอผู้ป่วยวิกฤตโกเมน 92 ราย และหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทับทิม 55 ราย

โรงพยาบาลบุษราคัม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิด-19 คร่าชีวิตคนสหรัฐ มากกว่า ยุค ไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อ 103 ปีก่อนแล้ว

จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 2 ประสิทธิป้องกันเชื้อพุ่ง 94%

"โจ ไบเดน" ใกล้ปิดดีลซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 500 ล้านโดส แจกทั่วโลก

นายแพทย์กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า จากมาตรการล็อกดาวน์ มาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) และมาตรการองค์กร และมาตรการส่วนบุคคลในการป้องกันการติดเชื้ออย่างเข้มข้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงทั้งใน กทม.และปริมณฑล รวมทั้งเกิดนวัตกรรมการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยปรับระบบการดูแลรักษากลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยให้เข้ารับการดูแลรักษาที่บ้านและชุมชน (Home Isolation/Community Isolation) ทำให้ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา โรงพยาบาลบุษราคัมมีผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาประมาณ 5-6 รายต่อวัน

ขณะที่จำนวนเตียงใน Hospitel, เตียงสีเหลืองและสีแดงในโรงพยาบาลต่าง ๆ มีเพียงพอ ดังนั้น เมื่อโรงพยาบาลบุษราคัม ได้ส่งผู้ป่วยที่รักษาหายกลับบ้านหมดทุกรายในวันที่ 20 กันยายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ปิดให้บริการโรงพยาบาลบุษราคัม และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งมีโรงพยาบาลสนามทั้งของภาครัฐและเอกชนในการดูแลผู้ป่วยหลังจากนี้

“ขอขอบคุณรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่อำนวยการสนับสนุนให้โรงพยาบาลบุษราคัม ดำเนินการโดยราบรื่นจนจบภารกิจ ขอบคุณบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทุกกรมทุกสังกัด ทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาคที่มาร่วมปฏิบัติงานในภาวะวิกฤต ด้วยความเต็มใจ แม้จะมีข้อขัดข้องและอุปสรรคบางประการ ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้

“และขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองทัพไทย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ศูนย์รักษาความปลอดภัย โรงเรียนช่างฝีมือทหาร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภ.ปากเกร็ด ภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่อิมแพคในการสนับสนุนงานด้านต่างๆ ขอบคุณประชาชนที่บริจาคอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงสื่อมวลชนในการร่วมเสนอข่าว และเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน” นายแพทย์กิตติศักดิ์กล่าว    

โรงพยาบาลบุษราคัม

ทั้งนี้ โรงพยาบาลบุษราคัม เป็นโรงพยาบาลสนาม ขนาด 3,700 เตียง เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1,100 เตียง ต่อมามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจึงได้เปิดระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 อีก 1,100 เตียง และในเดือนกรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า จึงเปิดดำเนินการในระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 อีก 1,500 เตียง

และเปิดหอผู้ป่วยวิกฤตโกเมน จำนวน 17 เตียง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 เพื่อรับผู้ป่วยใส่ท่อทางเดินหายใจหรือใช้ออกซิเจนไฮโฟลว์ แต่ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังต้องให้ออกซิเจนไฮโฟลว์และการดูแลใกล้ชิด จึงเปิดหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทับทิม จำนวน 32 เตียง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้

related