svasdssvasds

ผอ.สสน. ชี้น้ำท่วมปีนี้กับปี 54 เทียบกันไม่ได้ ยันมวลน้ำไม่ไหลเข้า กทม.แน่

ผอ.สสน. ชี้น้ำท่วมปีนี้กับปี 54 เทียบกันไม่ได้ ยันมวลน้ำไม่ไหลเข้า กทม.แน่

ผอ.สสน.เผยสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้กับปี 54 เทียบกันไม่ได้ ยืนยันมวลน้ำไม่ไหลเข้า กทม.แน่นอน มองวิกฤตน้ำท่วมเป็นแค่ภัยธรรมชาติ เชื่อรัฐบาล-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือไหว แนะประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำได้ผ่านแอป Thai Water

 จากสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ ส่งผลให้เกิดฝนตกทั่วประเทศ และตกหนักในบางพื้นที่ ทั้งยังมีปริมาณน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานี ตลอดจนหลายพื้นที่ทั่วประเทศเกิดเหตุน้ำท่วมซ้ำซาก ทั้งยังครบรอบ 10 ปี มหาอุทกภัย 2554 ยิ่งสร้างความหวาดหวั่นให้คิดไปไกลว่า เป็นไปได้หรือไม่อาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ในปี 2564

 ดร.สุทัศน์ วีสกุล  ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เผยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแตกต่างกันมาก ในปีนี้เหนือพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ปริมาณในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีน้อย แต่ในปี 2554 เขื่อนมีปริมาณน้ำจำนวนมาก หากรวม 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล  เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมทั้งหมด 22,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้มีปริมาณน้ำทั้งหมดแค่ 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ซึ่งต่างกันเกือบเท่าตัว

 และในปี 2554 มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล ในช่วงต้นเดือนตุลาคมเนื่องจากในปีนั้นประเทศไทยมีพายุทั้งหมด 5 ลูก จึงทำให้ปริมาณน้ำเขื่อนภูมิพลมีจำนวนมาก จึงต้องระบายออกมา แต่ในปีนี้การระบายน้ำ จากเขื่อนนั้นเป็นไปได้น้อยเพราะมีช่องว่างในอ่างเก็บน้ำอีกมาก และมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในฤดูแล้งซึ่งคือเดือนหน้า คือเดือนตุลาคม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• น้ำท่วมปี2554 บทเรียนราคาแพงทุบเศรษฐกิจ หวั่นน้ำท่วมปี2564 จะซ้ำรอย !

• เมื่อเจอน้ำท่วม สายด่วน - เบอร์ฉุกเฉิน - แอปพลิเคชั่น ที่ควรต้องรู้ไว้

• ของจำเป็นช่วงน้ำท่วม มีอะไรบ้าง ? พาณิชย์สั่งห้ามขึ้นราคา

 ส่วนใต้จังหวัดนครสวรรค์ลงมาในปีนี้ฝนตกมากโดยเฉพาะพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้จังหวัดนครสวรรค์นั้นมีปริมาณฝนจำนวน 270 มิลลิเมตร และที่ตำบลสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดลำปาง เป็นต้น มีปริมาณน้ำฝนสูงเช่นเดียวกันจึงทำให้เกิดน้ำท่วม และไหลมารวมกันที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีบริมาณน้ำสูง เพราะว่าต้องเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ 2,500 ลบม.ต่อวินาที ส่วนในปี 54 ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามี 3,000-4,000 ลบม.ต่อวินาที รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 54 เกิดจากคันกั้นน้ำแตกเป็นหลัก ทำให้มวลน้ำเคลื่อนที่สู้พื้นดินจึงทำให้ควบคุมไม่ได้ ซึ่งหากนำเหตุการณ์น้ำท่วมปีนี้เปรียบมาเทียบกับปี 2554 ตนคิดว่าไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ 

 ทั้งนี้หากมีพายุเข้ามาอีก ตนมองว่าหากฝนตกซ้ำบริเวณเดิม มีน้ำอยู่เป็นต้นทุนอยู่แล้ว และหากยังระบายน้ำไม่หมดก็มีโอกาสท่วมได้ แต่หากแนวทิศทางของพายุแตกต่างไป โดยเฉพาะไปเข้าผ่านที่จังหวัดน่าน แนวทางน้ำก็จะไปเข้าที่เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งจะไปเพิ่มน้ำต้นทุนสำหรับปีหน้าได้ดี แต่จะอย่างไรก็ตามก็ต้องติดตามสถานการณ์ให้ละเอียดอย่างใกล้ชิด

 ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ในขณะนี้ หากระดับน้ำลดลงในระดับสันฝายน้ำล้น การระบายน้ำก็จะหยุด สถานการณ์ก็จะเริ่มคลี่คลาย แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ประมาณไม่เกิน1เดือน พร้อมยืนยันว่ามวลน้ำจะไม่ไหลเข้าสู่กรุงเทพมหานครแน่นอน

 ส่วนการป้องกันอุทกภัยทางสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ มีแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 20 ปี หนึ่งในนั้นก็มีการสร้างโครงสร้างในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และที่กำลังดำเนินการอยู่คือคลองผันน้ำบางบาล-บางไทร โดยกรมชลประทาน ซึ่งจะช่วยให้ระบายน้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ดีขึ้น แต่น้ำก็จะลงมากรุงเทพมหานครได้มากขึ้นเช่นกัน ส่วนการผันน้ำในวิธีอื่นๆ ก็บรรจุไว้ในแผนเรียบร้อยแล้ว

 ทั้งนี้ในเมื่อมีเครื่องมือแล้วก็จะต้องบริหารให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง พร้อมทั้งขอให้ประชาชนปรับตัวโดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในปีนี้ ซึ่งจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 ทั้งนี้กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้นระบายพื้นที่รับน้ำ 1ใน 3 ของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเกิดน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกเช่น แผ่นดินทรุดจากการสูบน้ำบาดาล และน้ำทะเล ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมวัน ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ส่วนปริมาณฝนที่ก่อตัวในกรุงเทพมหานครเอง เนื่องจากความร้อนของเมือง ประมาณร้อยละ 70% ของฝนที่ตก ตรงนี้ในระยะยาวก็จะพิจารณาทำให้กรุงเทพมหานครเป็น Green City ลดการใช้คอนกรีต มีการปลูกต้นไม้จำนวนมาก ให้ความชื้นมากขึ้น อุณหภูมิก็จะดีขึ้นตามไปด้วย และช่วยลดการก่อตัวของฝนอีกด้วย

 อย่างไรก็ตามมองว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพายุเตี้ยนหมู่ ถึงแม้ว่าจะเป็นพายุลูกเดียวที่ผ่านเข้ามาในประเทศไทย แต่ส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่ามีร่องความกดอากาศต่ำและลมมรสุมกำลังแรง ซึ่งก่อนหน้าที่พายุจะเข้ามาก็มีปริมาณฝนอยู่แล้ว ในช่วงต้นเดือนกันยายน เมื่อสมทบกับพายุเตี้ยนหมู่แล้วทำให้เกิดปริมาณที่มากขึ้น ส่วนในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำต้องค่อยเป็นค่อยไปและเพิ่มประสิทธิภาพ เนื่องจากว่าประเทศไทยใช้ระบบชลประทาน ซึ่งเป็นระบบที่ให้น้ำจัดการน้ำ ไม่ได้เป็นระบบที่ช่วยป้องกันน้ำท่วม แต่เป็นระบบเพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก และในเมื่อนำระบบชลประทานมาใช้ จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้าง ซึ่งในแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำก็มีการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้อยู่ ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าหากทุกหน่วยงานร่วมมือกันจะสามารถรับมือและแก้ปัญหาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องได้ ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณฝน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ให้เข้าไปที่แอปพลิเคชั่น Thai Water และ เว็บไซต์ www.Thaiwater.net ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลจาก 51 หน่วยงาน เกิดเป็นคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติขึ้น ข้อมูลมีความเสถียรและเชื่อถือได้ จะมีการอัพเดทข้อมูลทุกๆ 1 ชั่วโมง รวมถึงข้อมูลปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา และคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน

related