svasdssvasds

ย้อนศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 56 กลยุทธ์โค้งสุดท้าย ดันสุขุมพันธุ์ คว้าชัย

ย้อนศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 56 กลยุทธ์โค้งสุดท้าย ดันสุขุมพันธุ์ คว้าชัย

กรณีศึกษาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556 การพลิกเกมของประชาธิปัตย์ และสุขุมพันธุ์ ที่ได้รับชัยชนะจากกลยุทธ์โค้งสุดท้าย

กำลังขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565 แม้ตอนนี้ผลโพลส่วนใหญ่จะออกมาในทิศทางที่ว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 แต่ถ้าย้อนไปยังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก่อนในปี 2556 โพลหลายสำนักก็ถูกแหกยับมาแล้ว และถูกยกให้กรณีศึกษาทางการเมืองในแง่ของยุทธวิธี ซึ่งหากมีการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 22 พ.ค. 65 ประวัติศาสตร์ก็อาจซ้ำรอยได้

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตัวแทนประชาธิปัตย์ ชิงผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2

ว่ากันว่าในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556 ประชาธิปัตย์ ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงชิงตำแหน่งสมัยที่ 2 อย่างไม่มั่นใจนัก เพราะผลงานในสมัยแรก ไม่ค่อยสร้างความประทับใจให้กับชาว กทม. เท่าที่ควร

แต่ด้วยไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า อีกทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ต้องการลงสนามเพื่อรักษาแชมป์ และหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งลง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็อาจลงทำศึกในนามผู้สมัครอิสระ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็มีแนวโน้มตัดคะแนนกันเองในฐานเสียงของพรรค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จึงได้ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้ง ด้วยประการฉะนี้

ส่วนพรรคเพื่อไทย ก็ส่ง “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” ที่ชาวบ้านต่างคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี เป็นผู้ท้าชิง

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม.

บทความที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

สถานการณ์การเมืองช่วงปี 2556

ช่วงต้นปี 2556 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การเมืองไทยแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน นั่นก็คือฝั่งเอาทักษิณ กับไม่เอาทักษิณ ซึ่งด้วยอารมณ์ทางการเมืองเช่นนี้ หากประชาธิปัตย์ส่งผู้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่มีภาพลักษณ์โดดเด่น โอกาสคว้าชัยชนะก็มีค่อนข้างสูง

แต่เมื่อเลือกที่จะส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ลงป้องกันแชมป์ ก็ทำให้พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ฝ่ายตัวเองค่อนข้างได้เปรียบ ด้วย พล.ต.อ.พงศพัศ เป็นนายตำรวจที่เติบโตมาจากสายงานมวลชน มีความถนัดในด้านการประชาสัมพันธ์ รู้จักธรรมชาติของสื่อ และเล่นกับสื่อเป็น

ซึ่งก็เป็นไปตามคาด คะแนนนิยมของ พล.ต.อ.พงศพัศ ชนะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แทบทุกสำนักโพล ตั้งแต่ช่วงออกสตาร์ท จนใกล้ถึงวันเลือกตั้ง แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์พลิกล็อก อันเนื่องมาจากช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง

พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556

โค้งสุดท้าย เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556

ในช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556 พรรคประชาธิปัตย์ ระดมแกนนำทุกระดับตะลุยหาเสียงอย่างดุเดือดให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดยสิ่งที่เป็นไฮไลต์ หาใช่นโยบายที่โดดเด่น เจ๋งเป้ง แต่คือการโจมตีทักษิณ ชินวัตร ปลุกความหวาดผวาว่า พรรคเพื่อไทยจะกินรวบทั้งประเทศ ทั้งสนามการเมืองใหญ่ และสนามการเมืองท้องถิ่น สร้างความหวาดหวั่นประมาณว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ใช้ความเกลียดความกลัว ขยี้ฝ่ายตรงข้าม แบบปูพรมทั้ง 50 เขตทั่ว กทม.

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้คะแนนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

หลังจากปิดหีบเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 3 มี.ค. 2556 ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการก็ออกมาว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 และเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้รับคะแนนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยคะแนนกว่า 1.2 ล้าน

รวมถึง พล.ต.อ.พงศพัศ ก็สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้พ่ายแพ้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้สูงที่สุดเช่นกัน โดยได้ไปกว่า 1 ล้านคะแนน และเป็นครั้งแรกที่ผู้ชนะอันดับ 1 และอันดับ 2 ได้รับคะแนนเสียงในระดับเกินล้าน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม.

กรณีศึกษาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556 กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565

ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ สถานการณ์ทางการเมืองที่มีการแบ่งขั้วแบ่งข้าง ก็ยังมีอยู่ แต่ไม่รุนแรงเท่าช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556 อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ในช่วงขาลงด้วยปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้ามากมาย

แต่อย่าลืมว่า ประชาธิปัตย์ผูกขาดสมรภูมินี้มาตั้งแต่ปี 2547 แม้ว่าในปี 2559 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง แต่ผู้ที่เข้ามารับไม้ต่อก็คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. ในเวลานั้น ซึ่งก็คือ หนึ่งในทีมงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ นั่นเอง

ส่วนในฝั่งพรรคเพื่อไทย แม้ครั้งนี้ไม่ได้ส่งผู้สมัครลง แต่ก็ถูกเชื่อมโยงกับชัชชาติ ทำให้เขามักถูกโจมตีว่า อิสระไม่จริง เพราะมีเงาของพรรคเพื่อไทยทับทาบอยู่ แม้ที่ผ่านมาเจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธความเชื่อมโยงต่างๆ แล้วก็ตาม  

และหากโฟกัสที่กลุ่มตัวเต็งทั้ง 6 คน ก็สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ที่มีฐานเสียงทับซ้อนกัน ดังนี้

กลุ่มที่ 1

1. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

2. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล

3. ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย

กลุ่มที่ 2

1. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ

2. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์

3. สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ มุก “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” อาจไม่ขลังเหมือนครั้งก่อน แต่สิ่งที่เป็นความหวังของกลุ่ม 2 ก็คือ การตัดคะแนนกันเองแบบสะบั้นหั่นแหลกของกลุ่มที่ 1

โดยเฉพาะชัชชาติ กับวิโรจน์ เพราะถึงแม้ชัชชาติจะได้รับความนิยมที่สูง อีกทั้งได้ฐานเสียงของเพื่อไทยเป็นแนวร่วม แต่อย่าลืมว่า พรรคก้าวไกล หรือพรรคอนาคตใหม่ในอดีต เป็นพรรคที่ได้รับคะแนนสูงที่สุดใน กทม. ในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562

ซึ่งมีการคาดกันว่า วิโรจน์จะชนะหรือไม่ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ต้องได้คะแนนอย่างเป็นกอบเป็นกำ และยิ่งเป็นกอบเป็นกำมากเท่าใด ก็ยิ่งตัดคะแนนของชัชชาติ และทำให้ผู้สมัครฯ ในกลุ่มที่ 2 มีโอกาสมากขึ้นเท่านั้น

ส่วนในกลุ่มที่ 2 หากสมมติว่า 1 ใน 3 ผู้สมัคร สามารถสร้างกระแสให้ฐานแฟนคลับในกลุ่มนี้คิดเชิงกลยุทธ์ ทุ่มคะแนนให้กับตนหรือใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มได้สำเร็จ ผู้สมัครในกลุ่มนี้ก็มีลุ้น แต่แนวทางนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นัก

related