svasdssvasds

อาจารย์ธรณ์ประกาศข่าวดี โลมาอิรวดีกำลังได้เป็นสัตว์สงวนแห่งชาติแล้ว

อาจารย์ธรณ์ประกาศข่าวดี โลมาอิรวดีกำลังได้เป็นสัตว์สงวนแห่งชาติแล้ว

โลมาอิรวดีกำลังได้เป็นสัตว์สงวนแห่งชาติแล้ว หลังวันนี้อาจารย์ธรณ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตร เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการทางทะเลแห่งชาติเสนอโลมาอิรวดีเป็นสัตว์สงวน

วันนี้ (12 พ.ค.) อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับคณะกรรมการทะเลแห่งชาติ (กทช.) เพื่อเสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์สงวน โดยวันนี้ผลการประชุมสรุปว่า ‘เห็นชอบ’

อาจารย์ธรณ์ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า

“น้องโลมายิ้มหวาน คณะกรรมการทะเลแห่งชาติรับข้อเสนอ #โลมาอิรวดีเป็นสัตว์สงวน วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการทะเลชาติ (กทช.) มีท่านรองนายกเป็นประธาน ท่านรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ผมเสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์สงวน ที่ประชุมเห็นชอบครับ

การเป็นสัตว์สงวนมีประโยชน์อย่างไร เรื่องนั้นคงตอบได้ตั้งแต่เต่ามะเฟือง ฉลามวาฬ วาฬบรูด้า/โอมูระ กฎหมายชัดเจน ความสนใจเพิ่มมากขึ้นงบประมาณและการดูแลอนุรักษ์ยกระดับไปอีกขั้น ฯลฯ แต่การผลักดันให้สัตว์สักชนิดเป็นสัตว์สงวน ต้องดูทุกด้านให้ครบ โดยเฉพาะสถานภาพและการถูกคุกคาม

ในกรณีโลมาอิรวดี ที่ถูกจัดสถานภาพ endangered เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับโลก (IUCN) ยังรวมถึง #14สุดท้าย ที่เหลืออยู่ในทะเลสาบสงขลาที่เสี่ยงมากๆๆ ต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่น้ำจืด 1 ใน 5 ของโลก

การผลักดันให้เกิดเป็นผลต้องอาศัยกลไกและต้นเรื่อง ตอนเสนอสี่สัตว์สงวนก็ผ่านกลไกของกรรมการทะเลชาติ จนประสบความสำเร็จ แต่ไม่ใช่นึกจะเสนอก็เสนอ นอกจากข้อมูลครบ ปัญหาชัดเจน ยังต้องมีกระแสสังคมช่วยสนับสนุน นั่นคือเรื่องยากสุด แต่ครั้งก่อนทั้งสี่สัตว์ที่ผ่านมา และโลมาอิรวดีในครั้งนี้ เพื่อนธรณ์มีส่วนสำคัญยิ่ง ยิ่งจริงๆ เพราะทุกไลค์ทุกแชร์ทุกความคิดเห็น ทำให้โลมาอิรวดีกลายเป็นประเด็นที่ทุกคนอยากช่วย จึงไม่มีใครมีความเห็นเป็นอื่น มีแต่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอบคุณเพื่อนธรณ์ทุกท่านไว้ ณ ตรงนี้”

เกร็ดความรู้เรื่องโลมาอิรวดี

โลมาอิรวดีจัดอยู่ในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (EN-Endangered)จัดทำโดย International Union for Conservation of Nature’s (IUCN) หรือ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยโดนประกาศเป็นสัตว์สูญพันธุ์ไปโดยปริยายแล้ว หรือที่เรียกว่า (Functionally Extinct) แต่ก็มีการฟื้นฟูและบำรุงให้กลับมาได้ทันก่อนที่ตัวสุดท้ายจะจากไป โดยเฉพาะเขตสปป.ลาวนั้นเสี่ยงที่สุดและต้องเฝ้าสังเกตดีๆ

โลมาอิรวดี มีชื่อหรือฉายาที่หลากหลายค่ะตามสถานที่ที่พบเจอ เช่น โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง โลมาน้ำจืด โลมาหัวหมอน หรือปลาข่า ในภาษาลาว พวกมันอยู่ในวงศ์โลมามหาสมุทร (Delphinidae) หรือชื่อทางการทางวิทยาศาสตร์คือ Orcaella brevirostris

ลักษณะเด่นของพวกมันคือ มีรูปร่างคล้ายโลมา หัวโปนกลมมน ลำตัวสีเทาล้วน บางตัวก็มีสีเทาอ่อน บางตัวก็สีเทาเข้ม ตาเล็ก ปากสั้น ครีบบนมีขนาดเล็กมาก น้ำหนักประมาณ 90- 200 กิโลกรัม มีฟัน 12-19 ซี่ที่ขากรรไกรทั้งสองข้าง ตัวเมียจะตั้งท้อง 9 เดือนและคลอดลูกโลมาออกมาทีละ 1 ตัวเท่านั้น ซึ่งการผสมพันธุ์และระยะเวลาในการแพร่จำนวนประชากรต่อ 1 ตัวยาวนานขนาดนี้ คงไม่น่าแปลกใจใช่ไหม ทำไมการฟื้นฟูจำนวนประชากรถึงได้ยากเย็นนัก

โลมาอิรวดีพบได้ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแม่น้ำสามสาย ได้แก่ แม่น้ำอิระวดี (เมียนมาร์) มหากัม/มาฮาคัม (เกาะบอร์เนียวชาวอินโดนีเซีย) แม่น้ำจิลิกา ประเทศอินเดีย ปากแม่น้ำบางปะกง ทะเลสาบสงขลาและแม่น้ำโขง โลมาอิรวดีแม่น้ำโขงอาศัยอยู่ในลำน้ำยาว 118 ไมล์ ระหว่างกัมพูชาและสปป.ลาว

อาจารย์ธรณ์ประกาศข่าวดี โลมาอิรวดีกำลังได้เป็นสัตว์สงวนแห่งชาติแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุการตายของโลมาอิรวดี

ต้นเหตุหลักมีอยู่ 2 เหตุผลหลักด้วยกันคือ

  1. การตายโดยตรงจากการทำประมง โลมาต้องตายลงเนื่องจากอุปกรณ์จับปลา อวนลาก หรืออะไรก็ตาม ที่ชาวบ้านใช้หากินตามแม่น้ำและตั้งเป็นกับดักทิ้งไว้ หรือทิ้งเศษซากอวนลงแม่น้ำ ก็จะไปขวางทางของโลมาที่มองไม่เห็นอวน เมื่อว่ายเข้าไปมันก็จะไปพันลำตัวจนไม่สามารถขยับได้ หรือรัดเป็นแผลจนทำให้พวกมันตายลงนั่นเอง
  2. การเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัย ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างเขื่อนและตลิ่งที่จะไปขัดขวางการเคลื่อนตัวของตะกอนที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำอื่นๆที่เป็นแหล่งอาหารของโลมาอีกต่อหนึ่ง

ลำน้ำโขงถือเป็นแหล่งน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอีกแหล่งหนึ่ง ที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลาประมาณ 1,100 สายพันธุ์ และเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ชั้นดีสำหรับชุมชนและผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำ

ผลกระทบต่อมนุษย์

แต่แน่นอนว่า เมื่อการไม่อยู่ของโลมากระทบต่อระบบนิเวศเดิมแล้ว มันยังส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อมนุษย์เราเองด้วย

ประการแรก ส่งผลกระทบต่อผู้คน 60 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณภูมิภาคดังกล่าว เพราะหลายคนมีฐานะยากจน และต้องพึ่งพาแม่น้ำเพื่อหาอาหารและเลี้ยงชีพ เมื่อโลมาไม่อยู่ ระบบนิเวศและจำนวนปลาที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ลดจำนวนลง รวมไปถึงแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์อย่างการล่องเรือเยี่ยมชมโลมาก็ลดน้อยลงไป

ประการที่สอง ต้นเหตุหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการสร้างเขื่อน การสร้างเขื่อนจะเร่งให้เกิดการจมและการหดตัวของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง คุกคามอนาคตของตะกร้าข้าวรายใหญ่ของเวียดนาม ชุมชนประมงนับไม่ถ้วนและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว

แม้ว่าการจากไปของโลมาหนึ่งตัวดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับบางคน แต่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของระบบนิเวศ แม้จำนวนพวกมันอาจมีไม่ยอะเท่ามนุษย์ที่แพร่กระจายไปทั่วทุกสารทิศเหมือนในปัจจุบัน หากลองมองกลับกัน มนุษย์เราเป็นฝ่ายที่ถูกทำลายและเหลือประชากรน้อยมากๆเช่นโลมา คงจะเป็นอะไรที่น่าเศร้าและอารยธรรมมนุษย์ก็ต้องสลายไปเช่นโลมา

 ที่มาข้อมูล

https://www.springnews.co.th/spring-life/821467

https://web.facebook.com/thon.thamrongnawasawat

related