svasdssvasds

เปิดไทม์ไลน์โครงการจีนสำรวจอวกาศ มุ่งสู่การเป็นผู้นำอวกาศ ในปี 2045

เปิดไทม์ไลน์โครงการจีนสำรวจอวกาศ มุ่งสู่การเป็นผู้นำอวกาศ ในปี 2045

ไทม์ไลน์โครงการจีนสำรวจอวกาศ สำรวจนอกโลก มุ่งสู่การเป็นผู้นำอวกาศ ภายในอีก 23 ปีข้างหน้า หรือในปี 2045 โดยเวลานี้จีนถือว่าเป็นประเทศที่ Active งานสำรวจอวกาศเป็นอย่างมาก และมีโปรเจ็คที่น่าสนใจมากมาย

ประเทศจีน นับมีความก้าวหน้าในด้านอวกาศของโลก เพราะจีนเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากสหรัฐฯ และ รัสเซีย (สหภาพโซเวียต เดิม) ที่มีศักยภาพส่งมนุษย์ไปในห้วงอวกาศ และ สร้างสถานีอวกาศของตัวเองได้ 

ในปี 2021 โครงการอวกาศของจีนเพิ่งนำโมดูลหรือโครงสร้างหน่วยแรกของสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) ขึ้นสู่ห้วงอวกาศในวงโคจรใกล้โลกได้สำเร็จ และมีแผนจะติดตั้งโมดูลต่างๆเพิ่มเติม เช่น หน่วยปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ "เมิ่งเทียน" Mengtian science lab ภายในสิ้น 2022

ส่วนในปีหน้า 2023 จีนวางแผนก่อสร้างให้สถานีอวกาศเทียนกงมีระบบผลิตพลังงานเป็นของตัวเอง ระบบสร้างแรงขับเคลื่อน  รวมทั้งมีส่วนที่พักอาศัยของลูกเรือที่แยกต่างหาก นี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการอวกาศของประเทศจีน 

เปิดไทม์ไลน์โครงการจีน สำรวจอวกาศ มุ่งสู่การเป็นผู้นำอวกาศ ในปี 2045
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• จีนทะยานสู่ดวงจันทร์และดาวอังคาร และที่ที่ไกลกว่านั้น

สำหรับโครงการอวกาศของจีน นอกจากจะมีสถานีอวกาศเป็นของตนเองแล้ว จีนยังจะสำรวจดวงดาวและห้วงอวกาศที่ไกลออกไป ไม่ได้ต้องการจะหยุดแค่ดวงจันทร์ หรือ ดาวอังคาร ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด โดยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ จากการเปิดเผยของ State Council information office of China พบว่า จีนมีแผนจะเก็บตัวอย่างหินจากหมู่ดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ใกล้โลกมาวิเคราะห์
.
ส่วนแผนที่วางไว้ว่าจะทำให้สำเร็จภายในปี 2030 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า คือการส่งมนุษย์อวกาศไปลงดวงจันทร์ รวมถึงการส่งยานสำรวจไปเก็บตัวอย่างหินจากดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีด้วย

อย่างไรก็ตาม จีน ไม่ใช่ประเทศเดียว ณ เข็มนาฬิกาปัจจุบัน ที่ต้องการสำรวจอวกาศอย่างจริงจัง เพราะ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) 4 ชาติในทวีปเอเชีย ต่างกำลังตระเตรียมการเพื่อภารกิจสำรวจดวงจันทร์อยู่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียนั้น ได้ดำเนินภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งสำคัญมาเป็นครั้งที่สองแล้ว และมีแผนจะสร้างสถานีอวกาศของตนเองให้สำเร็จภายในปี 2030

องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ซึ่งทำงานร่วมกับองค์การนาซาในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ขณะนี้ยังมีแผนจะวางเครือข่ายดาวเทียมรอบดวงจันทร์ ซึ่งจะทำให้มนุษย์อวกาศที่นั่นสื่อสารกับคนบนโลกได้ง่ายขึ้น

• จีนอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์อวกาศ 

แม้จีนจะไม่ใช่ชาติแรกที่ออกสำรวจนอกโลก แต่จีน จีนส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรได้ในปี 1970 หรือเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว 

ในช่วง10ปีที่ผ่านมา จีนได้ปล่อยจรวดขึ้นสู่ห้วงอวกาศแล้วกว่า 200 ลำ ซึ่งถือว่าจำนวนเยอะมาก ทั้งได้ส่งยานและหุ่นยนต์สำรวจไปลงดวงจันทร์ในภารกิจฉางเอ๋อ 5 เพื่อเก็บตัวอย่างดินหินและส่งกลับมายังโลก

และในหลังภารกิจเซินโจว 14 ประสบความสำเร็จ ในการขนส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศเทียนกงในช่วงต้นปี 2022 นั่นเท่ากับว่าประเทศ จีนได้ส่งมนุษย์ออกไปยังห้วงอวกาศแล้วทั้งหมด 14 คน ถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก  ในขณะที่สหรัฐฯ ยังครองแชมป์ด้วยจำนวนนักบินอวกาศสูงสุด 340 คน ตามมาด้วยรัสเซียที่กว่า 130 คน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกอย่างจะราบลื่น เพราะในปี 2021 จีนต้องพบกับอุปสรรคในการพัฒนากิจการอวกาศครั้งใหญ่ หลังชิ้นส่วนของจรวดลำหนึ่งหลุดออกจากวงโคจรและตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนในปี 2020 มีการปล่อยจรวดที่ประสบความล้มเหลว 2 ครั้ง

เปิดไทม์ไลน์โครงการจีน สำรวจอวกาศ มุ่งสู่การเป็นผู้นำอวกาศ ในปี 2045
ไทม์ไลน์โครงการจีนสำรวจนอกโลก มุ่งสู่การเป็นผู้นำอวกาศ 

- 2022  เสร็จสิ้นงานก่อสร้างสถานีอวกาศเทียนกง 
- 2025  เริ่มงานเก็บตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก
- 2030  ส่งยานเก็บตัวอย่างที่ดาวอังคาร และกลับสู่โลก 
- 2030  ส่งยานไร้คนขับไปดาวพฤหัสบดี ดาวดวงใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ 
- 2030  ส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์
- 2035  โครงการพัฒนาจรวดที่ใช้ขนส่ง แล้วสามารถกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง 
- 2040 สร้างกระสวยพลังงานนิวเคลียร์ 
- 2045 เป็นประเทศผู้นำในด้านการสำรวจอวกาศของโลก

ที่มา Xinhua , NASA , BBC , State Council information office of China 
วันที่ 9 มิ.ย. 2565

 

related