svasdssvasds

จีน ถอดรหัสจีโนม 'มนุษย์โบราณ' อายุ 14,000 ปี

จีน ถอดรหัสจีโนม 'มนุษย์โบราณ' อายุ 14,000 ปี

นักวิทยาศาสตร์จีน ถอดรหัสจีโนม 'มนุษย์โบราณ' อายุ 14,000 ปี ชี้ มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมใกล้ชิดกับชนพื้นเมืองอเมริกันกลุ่มแรก

ทีมวิทยาศาสตร์จากสถาบันสัตววิทยาคุนหมิง (Kunming Institute of Zoology) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) นำโดย ฉาง เสี่ยวหมิง (Zhang Xiaoming) เปิดเผยถึงข้อมูลจีโนม (Genome) หรือข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ยุคไพลสโตซีนตอนปลาย (Late Pleistocene) จากภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสารเคอร์เรนท์ ไบโอโลจี (Current Biology Journal) ฉบับออนไลน์ เมื่อวัน 14 ก.ค. ที่ผ่านมา

คณะนักวิทยาศาสตร์จัดลำดับข้อมูลทางพันธุกรรมจากซากร่างชาว "เหมิงจื้อเหริน" (Mengzi Ren: MZR) อายุกว่า 14,000 ปี ซึ่งถูกค้นพบในปี 1989 จากถ้ำแห่งหนึ่งในเมืองเหมิงจื้อ (Mengzi) ของมณฑลยูนนาน (Yunnan) โดยการขุดสำรวจถ้ำดังกล่าวยังพบฟอสซิลมนุษย์มากกว่า 30 ชิ้น รวมถึงฟอสซิลสัตว์ เช่น กวางแดง ลิงกัง (แม็กแคก : Macaque) และหมีดำ

ถ้ำที่ขุดสำรวจพบฟอสซิลมนุษย์ รวมถึงฟอสซิลสัตว์ ตั้งอยู่ในเมืองเหมิงจื้อ มณฑลยูนนาน

หากรวมกับข้อมูลที่มีอยู่เดิม บรรดาผู้เชี่ยวชาญพบการแบ่งชั้นทางพันธุกรรมชัดเจนในประชากรยุคโบราณทางใต้ของเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความแตกต่างระหว่างภูมิภาคตอนใต้กับตอนเหนือช่วงปลายยุคไพลสโตซีน โดยชาว MZR ถูกระบุเป็นคนที่อยู่ในทางใต้ของเอเชียตะวันออกที่มีพันธุกรรมสอดคล้องกับประชากรยุคปัจจุบัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

ภาพวาดมนุษย์โบราณ ชาว "เหมิงจื้อเหริน" ที่ขุดค้นพบ

ฉาง เสี่ยวหมิง เผยว่า ผลวิจัยทางมนุษยวิทยากายภาพของกะโหลกมนุษย์ที่ขุดพบ บ่งชี้ว่าเจ้าของกะโหลกเป็นหญิงสาวสูงราว 155 ซ.ม. มีน้ำหนัก 46 ก.ก. ซึ่งใช้ชีวิตด้วยการล่าสัตว์และรวบรวมอาหารเมื่อประมาณ 14,000 ปีก่อน

กะโหลกมนุษย์โบราณชาว "เหมิงจื้อเหริน" ที่ขุดพบ

นอกจากนั้นยังเสริมว่า ชาว MZR มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมใกล้ชิดกับชนพื้นเมืองอเมริกันกลุ่มแรก

ทั้งนี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ามนุษย์โบราณที่อาศัยอยู่ในถ้ำแถบทางใต้ของเอเชียตะวันออกได้เริ่มอพยพขึ้นเหนือเมื่ออากาศอบอุ่น และอาจมีเส้นทางอพยพตามแนวชายฝั่ง ซึ่งบางส่วนอาจข้ามช่องแคบแบริงและไปจนถึงอเมริกา

related