svasdssvasds

เสียงสะท้อนจากสังคม หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด

เสียงสะท้อนจากสังคม หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด

เสียงสะท้อนจากสังคมที่ดังกระหึ่มและถึ่ขึ้นเรื่อยๆ หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด กับช่วงเวลาสุญญากาศทางกฎหมายในการกำกับควบคุมที่ชัดเจน

หลังจากกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกกัญชา ถอดออกจากยาเสพติด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ก็เกิดแถลงการณ์จากองค์กรต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการที่ SPRiNG ประเมินกระแสความรู้สึกของคนในสังคม ร่วมถึงบุคลากรและองค์กรที่มีข้อเรียงร้องเกี่ยวกับกัญชา ก็ไม่มีใครขัดข้องเรื่องการใช้กัญชาในทางการแพทย์

แต่สิ่งที่กังวลกันก็คือ การถอดกัญชาออกจากยาเสพติด โดยไม่มีกฎหมายหรือมาตรการควบคุมที่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามามาย อาทิ การวางขายกัญชาเพื่อการนันทนาการอย่างโจ๋งครึ่มในหลายๆ ย่าน รวมถึงในร้านขายของชำ ที่ซื้อหากันได้อย่างสะดวกง่ายดาย

และที่ปวดใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ การขายกัญชาใกล้สถาบันการศึกษา รวมถึงแหล่งที่เยาวชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย จนหลายหน่วยงานต้องออกมาป้องกันควบคุมกันเอง ด้วยรัฐบาลก็อ้ำๆ อึ้งๆ พึ่งพาอะไรไม่ได้ พอมีผู้ถามไถ่ไปยังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก็ถูกจับโยงไปยังเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองไปซะงั้น

และเมื่อ SPRiNG ได้ทำรวบรวมเสียงสะท้อนจากสังคมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ตั้งวันที่ 9 มิ.ย. – 25 ก.ค. 2565 รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 47 วัน ก็พบว่ามีการออกมาเรียกร้องเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ  โดยเฉพาะในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ จึงขอหยิบยกมานำเสนอดังต่อไปนี้

เสียงสะท้อนจากสังคม หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด

บทความที่เกี่ยวข้อง

9 มิถุนายน 2565

ก่อนที่กัญชาจะได้รับการปลดล็อกออกจากยาเสพติด 1 วัน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก เยาวชน และสตรีมีครรภ์

พร้อมสนอแนะ ให้รัฐบาลเร่งพิจารณาให้มีมาตรการควบคุมทางกฎหมาย  และขอให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง

โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพิ่งเข้าสภาให้ที่ประชุมโหวตวาระแรก ในวันที่ 10 มิถุนายน ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายสำคัญ เป็นหัวใจหลักในการควบคุม จึงควรมีผลบังคับใช้ก่อนการถอดกัญชาออกจากยาเสพติด ซึ่งกว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ก็ต้องอาศัยระยะเวลาไม่ใช่น้อยๆ ทำให้เกิดสุญญากาศการควบคุมกัญชาตามมาอย่างทุกวันนี้ 

เสียงสะท้อนจากสังคม หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด

10 มิถุนายน 2565

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผอ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พี่ชายฝาแฝดของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงนโยบายกัญชาเสรีว่า มีความย้อนแย้ง เปิดช่องให้ผู้ที่ต้องการใช้เพื่อการนันทนาการ แต่อ้างว่าใช้เพื่อการแพทย์ได้ พร้อมทั้งแสดงความกังวลว่า เยาวชนจะเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้น

11 มิถุนายน 2565

พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดหน้าซัดการเร่งปลดล็อกกัญชา โดยไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อหวังกอบโกยคะแนนเสียง แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม

และไม่เพียงแต่ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ส.ว. ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้นายกฯ ใช้อำนาจบริหาร เช่น การออก พ.ร.ก. หรือคำสั่งนายกฯ ควบคุมการบริโภคกัญชาโดยด่วน

เสียงสะท้อนจากสังคม หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด

13 มิถุนายน 2565

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้กล่าวถึงการเปิดเสรีกัญชาว่า อาจส่งกระทบต่อเด็กและเยาวชน เพราะทำให้พวกเขารู้สึกว่ากัญชาเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับและเข้าถึงได้ง่าย

รวมถึงแสดงความกังวลจากกรณีที่มีการสูบกัญชาร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีความสุ่มเสี่ยงให้เกิดอาการปอดอักเสบเฉียบพลัน จนเสียชีวิตได้

14 มิถุนายน 2565

มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงต่อความปลอดภัยของประชาชน จากการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด

พร้อมข้อเสนอแนะ อาทิ  ไม่ใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี เพราะจะมีผลต่อพัฒนาการของสมอง , ไม่ใช้กัญชาเพื่อการนันทนาการ และผู้ที่ใช้กัญชาไม่ควรขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักรในระยะ 6 ชั่วโมงหลังใช้กัญชา เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เป็นต้น

ส่วนสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ได้เตือนว่า การนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด เสี่ยงเกิดอาการทางจิตและส่งผลเสียต่อสุขภาพ  

และในวันเดียวกันนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานจากโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ว่ามีผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากการใช้กัญชา รวมถึงแสดงความกังวลต่อสถานศึกษา หวั่นเกรงว่าเยาวชนจะเข้าถึงกัญชาได้โดยง่าย

15 มิถุนายน 2565

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ออกคำสั่ง 9 มาตรการสกัด "กัญชา-กัญชง" ให้โรงเรียนในสังกัด กทม. ปลอดกัญชา 100 %

และในวันเดียวกันนี้ ก็ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกมา กำหนดให้ควันของกัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสูบในที่สาธารณะ ซึ่งอันที่จริง กฎหมายนี้ควรออกมาก่อนการปลดล็อกกัญชาด้วยซ้ำ

เสียงสะท้อนจากสังคม หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด

16 มิถุนายน 2565

มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศให้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดกัญชา กัญชง ห้ามจำหน่าย โฆษณา หรือบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชงในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย

ส่วนวิทยาลัยคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกแถลงการณ์ โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ “ขอให้รัฐบาลออกกฎหมายว่า อาหารที่มีการใส่ส่วนผสมของกัญชา ต้องมีป้ายบ่งบอกชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคทราบและตัดสินใจ"

และในวันเดียวกันนี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้กัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามจำหน่ายให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และสตรีมีครรภ์ / ห้ามสูบในที่สาธารณะ ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

17 มิถุนายน 2565

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้เผยแพร่บทความที่ชื่อว่า “โจทย์ใหญ่ไร้ข้อกำหนด ความปลอดภัยบนท้องถนน หลังปลดล็อกกัญชาเสรี”

โดยบทความดังกล่าวได้ระบุว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นได้ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกัน “การใช้กัญชาส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขับขี่” ดังนั้นการปลดล็อกกัญชา โดยไม่มีมาตรการควบคุมที่ดี จึงสุ่มเสี่ยงยิ่งนักกับการเพิ่มโอกาสให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

บทความชิ้นนี้ของ TDRI ได้ระบุว่า การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ทำให้กัญชาที่แม้จะเป็นยาเสพติดโดยสภาพ ถือว่าไม่เป็นยาเสพติดด้วยผลทางกฎหมาย

และในวันเดียวกันนี้ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ก็ได้ออกแถลงการณ์แบบตีแสกหน้ารัฐบาล โดยมีสาระสำคัญคือ กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ที่ส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพ จึงต้องมีกฎหมายควบคุม ส่วนการใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ และต้องดำเนินการภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ โดยกฎหมายควบคุมการปลูกและการใช้ที่ย่อหย่อน จะส่งผลเสียร้ายแรงต่อสังคม

ต่อมา ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ก็ได้แถลงการณ์ย้ำจุดยืน กัญชาเสรีส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กและวัยรุ่น

และในวันเดียวกันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้มีคำสั่งห้ามให้มีการเสพและบริโภคกัญชาในหน่วยทหารอย่างเด็ดขาด

เสียงสะท้อนจากสังคม หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด

26 มิถุนายน 2565

ส่วนความคิดเห็นของภาคประชาชน จากการสำรวจของสวนดุโพล ก็มีผลสำรวจออกมาดังนี้

1. หลังจากมีการปลดล็อกกัญชาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประชาชนรู้สึกวิตกกังวลมากน้อยเพียงใด

อันดับ 1 ค่อนข้างวิตกกังวล  37.78%

อันดับ 2 วิตกกังวลมาก  32.85%

อันดับ 3 ไม่ค่อยวิตกกังวล 16.27%

อันดับ 4 ไม่วิตกกังวล 13.10%

2. ประชาชนคิดว่าการปลดล็อกกัญชา ณ วันนี้ มีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน

อันดับ 1 มีผลเสียมากกว่า 52.76%

อันดับ 2 ผลดีและผลเสียพอ ๆ กัน 30.17%

อันดับ 3 มีผลดีมากกว่า 17.07%

3. ผลดีของการปลดล็อกกัญชา ?

อันดับ 1 ใช้ประโยชน์ในการรักษาทางการแพทย์ 74.96%

อันดับ 2 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 46.46%

อันดับ 3 ช่วยลดรายจ่ายด้านยารักษาโรคบางประเภท 45.38%

4. ความกังวลที่มีต่อการปลดล็อกกัญชา ?

อันดับ 1 ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ที่เหมาะสม 84.58%

อันดับ 2 เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย อยากรู้อยากลอง 82.16%

อันดับ 3 การไม่มีแนวทางปฏิบัติ / กฎหมายลูกรองรับที่ชัดเจน 73.73%

5. ประชาชนคิดว่าควรดำเนินการอย่างไรกับกัญชาเสรี ณ วันนี้

อันดับ 1 จำกัดการใช้ โดยเฉพาะเยาวชน สถานศึกษาควรเป็นแหล่งปลอดกัญชา 88.38%

อันดับ 2 มีมาตรการเฝ้าระวัง ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการใช้ในอาหาร 82.26%

อันดับ 3 ควบคุมการโฆษณาเกินจริง มีเครื่องหมายหรือข้อความเตือนอย่างชัดเจน 81.6 %

6. ประชาชนคิดว่าการปลดล็อกกัญชาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่

อันดับ 1 เกี่ยวข้องแน่นอน 60.54%

อันดับ 2 น่าจะเกี่ยวข้อง 27.99%

อันดับ 3 ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง 9.53%

อันดับ 4 ไม่เกี่ยวข้องแน่นอน 1.94%

เสียงสะท้อนจากสังคม หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด

28 มิถุนายน 2565

"เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย" ก็ได้ออกแถงการณ์แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการใช้กัญชาด้วยวัตถุประสงค์อื่น นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ 

และหากปรากฎว่าภายใน 30 วันหลังการประกาศปลดล็อกกัญชา แล้วพบว่ามีการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม หรือเสี่ยงต่ออันตราย ในระหว่างที่กฎหมายประกอบ หรือกฎหมายลูกยังไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ รัฐบาลควรรีบทบทวน หรือปรับแก้ไขข้อกฎหมาย เพื่อป้องกันความสูญเสีย หรือผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้

30 มิถุนายน 2565

กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงของกระทรวงมหาดไทย โดยมีสาระสำคัญคือ ควบคุมมิให้มีการใช้กัญชากัญชงเพื่อการนันทนาการในสถานที่ราชการ

รวมถึงควบคุมมิให้มีการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนของกัญชากัญชงและมิให้นำอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการผสมของกัญชา กัญชง เข้ามาบริโภคในบริเวณสถานที่ราชการ

1 กรกฎาคม 2565

มหาเถรสมาคม มีมติ ห้ามทุกวัดเพาะปลูกกัญชา กัญชง ใบกระท่อม รวมถึงห้ามพระภิกษุ สามเณร เสพกัญชา กัญชง ใบกระท่อม เว้นแต่เป็นการบำบัดรักษาโรคตามแพทย์สั่ง

และในวันเดียวกันนี้ เครือข่ายผู้ปกครอง องค์กรเด็กและเยาวชน กว่า 33 องค์กร ได้ยื่นหนังสือถึงประธาน กมธ.ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง เน้นให้ใช้ทางการแพทย์ ไม่ใช่เพื่อการนันทนาการ ควบคุมการเข้าถึงเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และกลุ่มเปราะบาง ฯลฯ

เสียงสะท้อนจากสังคม หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด

4 กรกฎาคม 2565

สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ ออกแถลงการณ์ฉบับบที่ 2 เรียกร้องให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามเดิม โดยให้ใช้เฉพาะการแพทย์เท่านั้น

7 กรกฎาคม 2565

เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้อง ขอให้ออกมาตรการ 'ปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะ สุญญากาศทันที' และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทย

8 กรกฎาคม 2565

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเรื่องกัญชา ต้องใช้เพื่อการแพทย์เท่านั้น ห้ามใช้เพื่อการนันทนาการโดยเด็ดขาด

และในวันเดียวกันนี้ ภาคีเครือข่ายองค์กรมุสลิม 25 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลให้นำกัญชาเข้าเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามเดิม โดยให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น

9 กรกฎาคม 2565

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กัญชาเสรีอันตรายมากหากไม่มีการควบคุม ยิ่งมีการโฆษณาสรรพคุณต่างๆ ของกัญชา ยิ่งเป็นการเชื้อเชิญให้เยาวชน "อยากรู้-อยากลอง"

เสียงสะท้อนจากสังคม หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด

13 กรกฎาคม 2565

แพทยสภา ออกประกาศเรื่องไม่ใช้กัญชาในทางที่ผิด พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่า หลังจากปลดล็อกกัญชา มีผู้ใช้ กัญชาจำนวนมากเจ็บป่วยฉุกเฉิน ประสาทหลอน ทำร้ายตนเองและผู้อื่น เพิ่มภาระงานให้ห้องฉุกเฉินโดยไม่จำเป็น

และในวันเดียวกันนี้ จุฬาราชมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ กัญชา กัญชง ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้นนำมาใช้ทางการแพทย์ รวมทั้งประกาศให้มัสยิด ชุมชน เป็นเขตปลอดกัญชา กัญชง อีกด้วย

18 กรกฎาคม 2565

เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ทำหนังสือจดหมายเปิดผนึก ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ เรื่องขอชี้แจงทำความเข้าใจต่อกรณีการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดในเวทีโลก

เครือข่ายนักวิชาการฯ ได้ระบุว่า สหประชาชาติมีมติให้ใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น การใช้เพื่อนันทนาการยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายยาเสพติด ดังนั้นการดำเนินการปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดของกระทรวงสาธารณะสุข และที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการร่างกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ในขณะนี้ จึงขัดแย้งกับมติสหประชาชาติ

21 กรกฎาคม 2565

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวผลสำรวจทัศนะของประชาชนต่อนโยบายกัญชาเสรี  พบว่าส่วนใหญ่เป็นห่วงว่าจะใช้ในทางที่ผิด โดยประชาชน 63.5% มองว่ากัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษ และเห็นว่าการเปิดเสรีกัญชามีผลกระทบต่อสังคม เด็ก และเยาวชน จึงต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมที่ชัดเจน

เสียงสะท้อนจากสังคม หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด

22 กรกฎาคม 2565

ในอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้กล่าวว่า รมว.สาธารณสุข จงใจสร้างสุญญากาศกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา ส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อีกทั้งยังกระทบเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ

ส่วน สุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย ได้ระบุว่า นโยบายกัญชาเสรี ละเมิดข้อตกลงสหประชาชชาติ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจ

24 กรกฎาคม 2565

แพทย์รามาฯ 851 ราย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล "ปิดสภาวะกัญชาเสรี” ในสภาวะสุญญากาศทันที เหตุเป็นภัยคุกคามสุขภาพเด็กและเยาวชน กระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ

25 กรกฎาคม 2565

“ราชบัณฑิตยสภา” ออกแถลงการณ์ ให้รัฐบาลมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาเฉพาะในทางการแพทย์เท่านั้น และต้องมีมาตรการป้องกันมิให้นำไปใช้เพื่อการนันทนาการ

และทั้งหมดนี้ ก็คือเสียงสะท้อนจากสังคม หลังจากการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด 47 วัน ซึ่งขอย้ำทิ้งท้ายว่า บุคลากรหรือองค์กรต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องกัญชา ไม่ได้ต่อต้านในแง่ที่จะนำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ แต่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีโดยยังไม่มีกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน ก่อให้เกิดสุญญากาศด้านการกำกับดูแล เปิดช่องให้มีการใช้กัญชาเพื่อการนันทนาการอย่างกว้างขวาง ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างยับเยิน

เสียงสะท้อนจากสังคม หลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด

อ้างอิง

ชมรมแพทย์ชนบท

"ปลดล็อกกัญชา" ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯเสนอ 4 มาตรการควบคุมกัญชาถูกกฎหมาย

จี้นายกฯออกพระราชกำหนดควบคุมกัญชาปิดช่องเสรีห่วงกระทบเด็กและเยาวชน

แพทย์เตือนถึงตาย! สูบกัญชาร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้า ทำปอดอักเสบเฉียบพลัน

มหิดล ออกแถลงการณ์ 8 ข้อ แนะนำเรื่องการใช้ "กัญชา"

"ชัชชาติ" เผยปลดล็อกกัญชาเสรี พบผู้ป่วยเสพเกินขนาด หัวใจล้มเหลวดับ 1 ราย

โจทย์ใหญ่ไร้ข้อกำหนด ความปลอดภัยบนท้องถนน หลังปลดล็อกกัญชาเสรี

คนไทยกับ “กัญชาเสรี”

ปลัดมท.สั่ง "ด่วนที่สุด" ผู้ว่าฯทั่วประเทศ คุมเข้ม7แนวปฏิบัติ "ใช้กัญชา"

มส. เข้ม "กัญชา" สั่งห้าม วัด พระภิกษุ สามเณร งดปลูก-เสพ เด็ดขาด

สำนักวิทย์ฯ ราชบัณฑิตยสภา ออกแถลงจุดยืนต้องใช้กัญชาเพื่อการแพทย์เท่านั้น

เครือข่ายต้านภัยยาเสพติดจี้รัฐแก้กัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศ เหตุยังไม่มีนโยบายควบคุมพอ

ม.หอการค้าไทย แถลงข่าวผลสำรวจทัศนะของประชาชนต่อนโยบายกัญชาเสรี

อภิปรายไม่ไว้วางใจ 65 "ก้าวไกล" ซัด อนุทิน จงใจสร้างสุญญากาศกฎหมายคุมกัญชา 

related