svasdssvasds

วันแรงงาน 2566 "โรคฮิต" มนุษย์เงินเดือน อาการและวิธีรักษา ก่อนเป็นหนัก

วันแรงงาน 2566 "โรคฮิต" มนุษย์เงินเดือน อาการและวิธีรักษา ก่อนเป็นหนัก

วัยทำงานเป็นวัยที่ "มนุษย์เงินเดือน" หลายๆคน พยายามทุ่มแททุกอย่างเพื่องาน ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบ ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย สภาวะความกดดันและความเครียดที่เกิดจากการทำงาน ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย อาจส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆ

 วันแรงงาน 2566 กลุ่มคนวัยแรงงานถือว่า มีความสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนประเทศ แต่ที่ผ่านมาเรามักพบว่า วัยแรงงาน ประสบปัญญาทางสุขภาพ 

ในปัจจุบัน มนุษย์เราต้องทำงานวันละ 8 -10 ชั่วโมง พฤติกรรมในการทำงานจึงเป็นหนึ่งในปัจจัย ที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยสภาพการทำงานที่ต้องรีบเร่ง ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราเปลี่ยนไป ในวันที่ร่างกายยังแข็งแรง คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยใส่ใจกับสุขภาพมาก โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่มักจะลืมคำนึงถึงการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว การทำงานหนักหรือเครียดเกินไปจะทำให้เกิดผลเสียที่ตามมาโดยที่อาจจะไม่รู้ตัว ซึ่งก็คือ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั่นเอง

7 โรคฮิตคุกคามชีวิต "มนุษย์แรงงาน"

โรคปลอกประสาทอักเสบ

 จากข้อมูลทางสถิติ โรคปลอกประสาทอักเสบเป็นโรคใกล้ตัวหญิงวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 20 - 40 ปี หากเป็นมากจะสูญเสียการเคลื่อนไหวของร่างกายจนอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

 สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำต้องระวังโรคนี้เป็นอย่างมาก เพราะการที่เราต้องใช้ข้อมือในท่าทางเดิมเป็นประจำ และมีการใช้งานข้อมือหนักๆ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในการเกิดโรคนี้ก็คือการใช้คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์แบบผิดท่าทางทำให้เกิดการกดทับ จนมีอาการชา เหน็บหรือปวดแสบปวดร้อน ตั้งแต่บริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือและอาจจะลามไปถึงหัวไหล่ได้

วิธีรักษา

 สามารถรักษาได้ด้วยการประคบร้อนหรือกดนวดบริเวณผังผืดที่กดทับเส้นประสาท และลองยืดเส้นยืดสาย นอกจากนี้ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เม้าส์และคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ให้ถูกท่า แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรงจะต้องพบแพทย์เพื่อให้ดูแล ซึ่งการรักษาก็จะมีตั้งแต่การใช้ยาต้านอักเสบ ไปจนถึงการผ่าตัด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• กรดไหลย้อนโรคฮิตชาวออฟฟิต! เคล็ดลับปรับตัวเองป้องกันและรักษากรดไหลย้อน

• รู้จัก "Karoshi Syndrome" โรคฮิตชาวญี่ปุ่น ทำงานหนักจนตาย อาการเป็นอย่างไร

• ส่องนโยบายประชานิยม อดีตถึงปัจจุบัน ก่อนเลือกตั้ง 66 ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไหม ?

ออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยตรงกับพนักงานออฟฟิศ ด้วยพฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนทำงานที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลานานโดยไม่ได้ขยับตัว จนทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง ก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบได้

โรคนี้เกิดจากหลายสาเหตุมาก เช่น การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำ ๆ ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสม จนทำให้คุณเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อแบบธรรมดาๆ ทั่วไปจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง รวมไปถึงอาการชาที่บริเวณแขนหรือมือ จากการที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ

วิธีรักษา

 ป้องกันไม่ให้เกิดออฟฟิศซินโดรมได้ด้วยวิธีการออกกำลังกายด้วยท่าที่เหมาะสม เช่น คนที่ปวดไหล่เป็นประจำ ลองทำท่าบริหารกล้ามเนื้อหัวไหล่ โดยการยกไหล่ขึ้นไปจนสุด แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1-10 จากนั้นกดไหล่ลงไปให้สุด แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1-10 หรือแม้แต่ยืดเหยียดหรือเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างน้อยทุก ๆ 1 ชั่วโมง

โรคเครียดลงกระเพาะ

โรคเครียดลงกระเพาะ ส่วนมากเกิดจากความเครียด เพราะในขณะที่เราเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ จนเกิดการระคายเคือง ส่งผลให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร จะมีอาการดังนี้

• ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ ตอนท้องว่าง

• เสียดหน้าอก อาหารไม่ย่อย

• รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน

• แน่นท้อง ท้องอืด เรอเหม็นเปรี้ยว

• นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท

 

 

วิธีป้องกันโรคเครียดลงกระเพาะ

• ทานอาหารให้ตรงเวลา

• ไม่ทานอาหารรสจัด

• เลี่ยงของมัน ของทอด

• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

• งดแอลกอฮอล์

• ไม่เครียด

โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง จากการที่พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความกดดันอยู่บ่อยครั้ง โรคนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวายอีกด้วย จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 จะมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน

อาการของผู้ป่วย

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอาจจะไม่มีอาการใดๆ เลย หรืออาจจะพบว่ามีอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ และเหนื่อยง่ายผิดปกติ

ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 2 กรณีด้วยกันคือ

• กรณีที่ 1 ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงโดยตรง ได้แก่ภาวะหัวใจวายหรือหลอดเลือดในสมองแตก

• กรณีที่ 2 ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแดงตีบหรือตัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หลอดเลือดสมองตีบ เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหลอดเลือดแดงในไตตีบมากถึงขั้นไตวายเรื้อรังได้

จากข้อมูลทางการแพทย์ระบุไว้ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตจากหัวใจวายถึงร้อยละ 60-75 เสียชีวิตจากหลอดเลือดในสมองอุดตันหรือแตกร้อยละ 20-30 และเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรังร้อยละ 5-10

ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีความดันโลหิตสูง

• อาหาร ควรเลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ไม่หวานจัด

• ออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละ 30 นาที

• ทำจิตใจให้สงบเพื่อจัดการความเครียด

• ไม่สูบบุหรี่

• ไม่ดื่มสุรา

โรคหัวใจ

โรคหัวใจ มักเกิดขึ้นกับคนวัยทำงาน เพราะคนวัยทำงานมีการดำเนินชีวิตที่ต้องทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ประกอบกับการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและรสชาติจัด อีกทั้งไม่มีเวลาออกกำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจได้อย่างง่ายดาย

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ

• เจ็บแน่นหน้าอก มักมีอาการแน่น อึดอัด เหมือนมีสิ่งกดทับกลางอก อาจมีอาการปวดร้าวไปกราม ไหล่ หรือแขนซ้าย มักเป็นมากขึ้นเมื่อออกกำลังและหากมีอาการรุนแรงอาจมีอาการเมื่ออยู่เฉย ๆ

• เหนื่อยง่ายหายใจถี่

• นอนราบไม่ได้

• หัวใจเต้นผิดจังหวะ

• หน้ามืดหมดสติ

ควรไปพบแพทย์หากมีอาการเหล่านี้

• เจ็บหน้าอก

• หายใจถี่ เหนื่อยง่าย

• เป็นลม

โรคหัวใจจะรักษาได้ผลดีหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับอาการของคุณ หากคนในครอบครัวของคุณมีประวัติเป็นโรคหัวใจ นี่คือสิ่งสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่คนทำงานหลายคนมักมองข้ามไป แต่ความจริงแล้วโรคดังกล่าวเป็นภัยเงียบที่หนุ่มสาววัยทำงานควรระวังไว้ เนื่องด้วยชีวิตที่เร่งรีบของคนทำงาน อาจมีตัวเลือกสำหรับอาหารไม่มากนัก ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องบริโภคอาหารรสจัด ของมัน ของทอด หรือน้ำอัดลมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือบางคนที่ทำงานดึกดื่นจนไม่มีเวลากินข้าว ต้องมากินข้าวก่อนนอน เมื่อกินเสร็จก็นอนทันที นับได้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ส่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อน

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

• หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวโดยที่ยังไม่กลืนอาหาร

• ความดันจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าปกติ หรือเกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร

• ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ

• เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

• พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานเสร็จแล้วนอนทันที การรับประทานของมันๆ มากเกินไป

• ภาวะความเครียด โดยผู้ที่มีความเครียดมักมีภาวะหลอดอาหารที่มีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น หลอดอาหารอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาแม้เพียงเล็กน้อย จะมีอาการแสดงทันที

• ปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคอ้วน การตั้งครรภ์ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม การรับประทานยาบางชนิด เป็นต้น

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อีกหนึ่งโรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนเกิดโรคนี้คือ เมื่อปวดปัสสาวะแล้วไม่ยอมลุกไปเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำน้อย หรือเลือกดื่มกาแฟแทนน้ำเปล่า ซึ่งพฤติกรรมที่ทำจนเกิดเป็นนิสัยแบบนี้ส่งผลให้เกิดโรคร้ายได้

สังเกตอาการ ‘กระเพาะปัสสาวะอักเสบ’

 • ปัสสาวะแสบ ขัด สีขุ่น

•  ปัสสาวะบ่อยแบบกะปริบกะปรอย

• ปวดท้องน้อย

• กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

การให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 3-5 วัน แต่ถ้าหากอาการรุนแรงต้องเพิ่มระยะเวลาในการรับยาปฏิชีวนะประมาณ 7-10 วัน

การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

• ดื่มน้ำสะอาดในแต่ละวันให้เพียงพอ โดยเฉพาะหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ จะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะ

• ไม่กลั้นปัสสาวะ

• ทำความสะอาดอวัยวะเพศก่อน จึงค่อยทำความสะอาดทวารหนัก เพื่อป้องกันการติดเชื้อเชื้อแบคทีเรียจากทวารหนักแพร่กระจายไปยังอวัยวะเพศ

•  ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอวัยวะเพศสูตรอ่อนโยน แทนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมี และน้ำหอม

•  การใช้ฝักบัวอาบน้ำแทนการอาบในอ่าง ช่วยลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

• เลือกใช้ชุดนั้นในที่มีเนื้อผ้าระบายได้ดี ลดความอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศ

 อย่างไรก็ตามการทำงานหนักก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การที่ทำงานหนักเกินไปจนสุขภาพร่างกายย่ำแย่ ก็จะส่งผลกระทบกับตัวเองได้ในหลายๆ ด้าน แทนที่เราจะนำเงินที่หามาได้ไปใช้จ่ายอย่างมีความสุข อาจจะต้องมาใช้จ่ายในเรื่องค่ายา ค่ารักษาพยาบาลแทนได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ , โรงพยาบาลเพชรเวช , โรงพยาบาลศิริราช

 

related