svasdssvasds

"ทุเรียนไทย" ครองแชมป์ส่งออก ผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ขนส่งไม่เกิน 15 ชม.

"ทุเรียนไทย" ครองแชมป์ส่งออก ผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ขนส่งไม่เกิน 15 ชม.

ทุเรียนไทยครองแชมป์ส่งออกสูงสุดผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน - สปป.ลาว ลดระยะเวลาขนส่งเหลือ 15 ชั่วโมง รัฐบาลเดินหน้าแผนเชื่อมโยงระบบราง เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย

 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน - สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม – พฤษภาคม) ของปี 2566 มี มูลค่ารวม 2,848.41 ล้านบาท ขยายตัวกว่าร้อยละ 260 จากปี 2565

โดยผลไม้ไทยได้รับความนิยมในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนไทย ซึ่งการใช้รถไฟจีน-ลาว สามารถช่วยลดระยะเวลาการขนส่ง จากที่เคยใช้เวลาผ่านถนนเส้นทาง R3A ประมาณ 2 วัน เหลือใช้เวลาบนรถไฟไม่เกิน 15 ชั่วโมง ทั้งนี้ รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงระบบราง ไทย-สปป.ลาว-จีน เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทย ปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคในอนาคต

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า 10 อันดับแรกของสินค้าที่ส่งออกทางด่านหนองคายผ่านแดน สปป.ลาว ไปจีนมีมูลค่าการส่งออกและขยายตัวสูงที่สุด ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ได้แก่

1) ทุเรียนสด อยู่ที่ 2,073.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 364 เมื่อเทียบกับช่วงกันของปี 2565

2) มังคุดสด 378.65 ล้านบาท

3) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 315.21 ล้านบาท

4) ลำไยสด 37.40 ล้านบาท

5) สินค้าแร่ และเชื้อเพลิงอื่นๆ 17.89 ล้านบาท

6) สับปะรดแปรรูป 11.43 ล้านบาท

7) ส้มโอสด 2.99 ล้านบาท

8) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 2.72 ล้านบาท

9) มะม่วงสด 1.79 ล้านบาท

10) ผลไม้อื่น ๆ 1.52 ล้านบาท ตามลำดับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• กินทุเรียนช่วงฤดูร้อน อันตรายจริงไหม ต้องระวังอะไรบ้าง?

• วิธีแกะทุเรียน ขั้นตอนง่ายๆ ใครก็ทำได้ เคล็ดลับ "เลือกทุเรียน" ให้สุกอร่อย

• ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ส่งออกทุเรียนไทย ทางรถไฟ สู่จีน ล้อหมุน 19 เม.ย. นี้

 ทั้งนี้ รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงระบบราง ไทย-สปป.ลาว-จีน อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ - หนองคาย) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค สำหรับระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ - นครราชสีมา) มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 2569 ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพระบบคมนาคมขนส่งทางรางของไทย เชื่อมโยงภูมิภาค ตลอดจนเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าไปตลาดจีนได้มากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาการขนส่งน้อยลง และยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ในการส่งออกสินค้าไปจีนได้อีกด้วย

“รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางราง ซึ่งเป็นการขนส่งที่สามารถลดต้นทุน เวลา และค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ส่งออกไทย พร้อมเชื่อมั่นว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างครอบคลุมตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการ จะมีส่วนสำคัญ ส่งต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคได้” นางสาวรัชดาฯ กล่าว

related