svasdssvasds

คปก.ไฟเขียว แปลง ส.ป.ก 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 22 ล้านไร่

คปก.ไฟเขียว แปลง ส.ป.ก 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 22 ล้านไร่

คปก.ไฟเขียวแปลงที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนด หลังถือครองครบ 5 ปี เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน และตกถึงมือทายาทในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เร่งรัดการออกโฉนดที่ดิน 50 ล้านไร่ แจกโฉนดฉบับแรก ภายใน 15 ม.ค. 67

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ครั้งที่ 5/2566 ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรุงเทพฯ ว่า ในวันนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ

  1. การจัดที่ดินยังคงเป็นไปเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามศักยภาพของพื้นที่ 
  2. สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด 
  3. ต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก. กำหนด 
  4. สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ
  5. ต้องถือครอง ส.ป.ก. 4-01 และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ 

คปก.ไฟเขียว แปลง ส.ป.ก 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 22 ล้านไร่  

“กระทรวงเกษตรฯ โดย ส.ป.ก. จะส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่เกษตรกรได้ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567 อย่างแน่นอน และจะทยอยให้ ส.ป.ก. จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการออกโฉนดให้กับเกษตรกรทุกจังหวัดที่เข้าหลักเกณฑ์ตามลำดับ ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างแท้จริง สามารถตกทอดถึงมือทายาท และเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดอาชีพด้านเกษตรได้อย่างยั่งยืนต่อไปด้วย” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบ “โครงการตรวจสอบและดำเนินการกรณีเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินถึงแก่ความตายในเขตปฏิรูปที่ดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” วงเงิน 22.5 ล้านบาท เพื่อให้ ส.ป.ก. นำไปใช้จ่ายเพื่อเร่งรัดและติดตามให้ทายาทเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ถึงแก่ความตายมาแจ้งขอรับสิทธิการจัดที่ดินแทนที่ (รับมรดก) ซึ่งยังไม่มาแสดงตนอีก จำนวน 171,434 ราย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ตามมติ คปก. ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่เห็นชอบให้ขยายระยเวลาออกไปอีก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2566

คปก.ไฟเขียว แปลง ส.ป.ก 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 22 ล้านไร่

ทั้งนี้มีมติเห็นชอบ “โครงการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกหนี้เงินกู้กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามนโยบายรัฐบาล ระยะเวลา 3 ปี” ตามระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การให้กู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2554 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

  • เงินต้นเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท
  • สถานะเป็นลูกหนี้ปกติ
  • สามารถขอผ่อนผันการชำระเงินต้นรายงวดและงดเว้นดอกเบี้ยเงินกู้ของเงินรายงวดที่ครบกำหนดชำระ โดยระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567หลังจากครบระยะแรกจะมีการประเมินผลเพื่อที่จะนำไปสู่การปรับปรุงและดำเนินการระยะ 2 และ 3 ต่อไป

โดยมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไขโครงการนี้ จำนวน 17,806 ราย คิดเป็นต้นเงินที่พักชำระหนี้รวม 630 ล้านบาท และเป็นดอกเบี้ยที่งดเว้นรวมปีละ 25.2 ล้านบาท ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าเงื่อนไขสามารถยื่นลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่ ส.ป.ก. จังหวัดทุกจังหวัดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

อย่างไรก้ตามกระทรวงเกษตรฯ โดย ส.ป.ก. จะส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่เกษตรกรได้ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567

ประเภทที่ดินในประเทศไทย

โฉนดที่ดิน น.ส.4 (ครุฑสีแดง) 

โฉนดที่ดิน น.ส.4 (ครุฑสีแดง)  คือหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ ออกโดยกรมที่ดินตามประมวลกฎหมาย โดยผู้มีโฉนดไว้ในครอบครองก็ถือได้ว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนั้นอย่างสมบูรณ์และสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นได้อย่างเต็มที่

ซึ่งโฉนดที่ดินประเภทนี้สามารถทำการ ซื้อ - ขาย โอน จดจำนอง หรือใช้ค้ำประกันได้ แต่ผู้ซื้อและผู้ขายนั้นจะต้องทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่สำนักงานกรมที่ดิน เท่านั้น

ข้อควรระวัง : ที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ปล่อยทิ้งร้างไว้เกิน 10 ปี และที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ปล่อยทิ้งร้างไว้เกิน 5 ปี ที่ดินดังกล่าวจะตกเป็นของรัฐตามกฎหมาย 

หากปล่อยให้บุคคลอื่นครอบครองโดยสงบเปิดเผย มีเจตนาเอาเป็นเจ้าของ โดยเจ้าของที่ดินไม่เข้าไปขัดขวาง ติดต่อกันเป็นเวลา 10  ปีติดต่อกัน บุคคลที่เข้าครอบครองนั้นก็จะมีสิทธิไปดำเนินคดีทางศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นโดยการครอบครองได้

เอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ส.3ก. (ครุฑเขียว)

เอกสารที่ออกให้กับผู้ครอบครองที่ดินทั่วไป ที่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศและการกำหนดตำแหน่งที่ดินไว้เป็นหลักแหล่ง เป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อรับรองว่าเจ้าของสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่นั้นๆได้ เจ้าของสามารถนำหลักฐานไปขอออกโฉนดได้  โดยไม่ต้องรอการรังวัดและประกาศจากราชการ 30 วัน

น.ส.3ก. (ครุฑเขียว) ยังไม่ใช่โฉนด ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ แต่ก็สามารถทำการซื้อ ขาย โอน จำนองธนาคารได้

เอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ส.3 น.ส.3 ข. (ครุฑดำ)  

เป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินทั่วไป ไม่มีระวางภาพถ่ายทางอากาศ ไม่มีการกำหนดตำแหน่งที่ดินแน่นอน มีลักษณะเป็นแผนที่รูป อาจใช้การอ้างอิงวัตถุหรือต้นไม้ในบริเวณนั้นเพื่อเขียนร่างแผนที่  

สามารถทำการซื้อ ขาย โอน และสามารถนำไปขอออกโฉนดที่ดินได้เลย โดยไม่ต้องรอการรังวัดและประกาศจากราชการ 

ข้อควรระวัง : ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก. และ น.ส.3 ข.) ใช้เวลาแย่งการครอบครองเพียง 1 ปีเท่านั้น แล้วผู้ที่ถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็จะเสียสิทธิ 

เอกสารสิทธิ์ ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 (ครุฑน้ำเงิน)

เอกสารสิทธิ์ให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ที่ออกโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เจ้าของมีเพียงมีสิทธิในการถือครองและทำประโยชน์ในการเกษตรในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น รายละไม่เกิน 50 ไร่ แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ไม่สามารถซื้อ ขาย  โอน ได้ ยกเว้นเป็นมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรม และหากทายาทได้รับเป็นมรดกตกทอดไปแล้วก็ต้องใช้ประโยชน์โดยการทำเกษตรกรรมเท่านั้น

ข้อควรระวัง : หากฝ่าฝืนไม่ทำตามระเบียบ ทางราชการสามารถยึดคืนได้

น.ส.2 หรือใบจอง

เป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้ประชาชนครอบครองที่ดินชั่วคราว ออกโดยโครงการจัดที่ดินให้ประชาชน มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำประโยชน์ภายใน 6 เดือน และทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี และใช้ที่ดินให้ได้อย่างน้อย 75% ห้ามโอน 5 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่กรณี หากสามารถทำตามข้อกำหนดได้ ก็สามารถนำไปขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้  แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถขายหรือจำนองได้ ยกเว้นเป็นมรดก

ข้อควรระวัง : สำหรับการซื้อขายที่ดินประเภทนี้ คือที่ดินที่มีใบจองนี้จะโอนให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ แต่สามารถตกทอดทางมรดกให้กับลูกหลานได้ ที่ดินประเภทนี้ผู้ได้รับสิทธิมีสิทธินำใบจองมาขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ แต่หนังสือรับรองสิทธิ์ที่ดินที่ออกมานั้นจะต้องตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด 

สทก. หรือ สิทธิทำกิน

หนังสือที่ทางราชในส่วน “กรมป่าไม้” ออกให้ เพื่อให้ประชาชนที่บุกรุกเข้ามาในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีพื้นที่อาศัยและทำประโยชน์ได้ชั่วคราว และไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนสิทธิ์ได้ได้ 

ภ.บ.ท.5 หรือ ใบชำระภาษีบำรุงท้องที่

ใช้เป็นหลักฐานว่า ได้จ่ายภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีแล้ว ไม่ใช่เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ส่วนที่ดินยังคงเป็นของรัฐ เพียงแต่มีการอนุญาตให้คนเข้าไปอาศัยหรือทำประโยชน์ชั่วคราวได้ แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนได้ เจ้าของที่ดินตัวจริงคือรัฐ อาจมีการขอเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องถิ่น หรือภาษีอื่นๆจากผู้อยู่อาศัยเป็นการตอบแทน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

 

 

 

 

related