svasdssvasds

รวมดราม่า "รถไฟฟ้าสายสีแดง" จากวันแรกสู่ 20 บาทตลอดสาย

รวมดราม่า "รถไฟฟ้าสายสีแดง" จากวันแรกสู่ 20 บาทตลอดสาย

จากกรณี "รถไฟฟ้าสายสีแดง" ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 แต่ดูเหมือนจะมีคนใช้บริการน้อย โดยหลายคนมองว่าสาเหตุที่ไม่มีคนใช้บริการ เพราะต้องรอรถนาน ไม่มีระบบตั๋วร่วม ทำให้ค่าโดยสารแพง ฯลฯ

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ตามนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของรัฐบาล โดยเริ่มต้นก่อน 2 สาย ประกอบด้วย 

  • รถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
  • รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

หากย้อนกลับไปวันแรกที่รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2564 โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 12 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท หลังจากเปิดใช้งานได้ไม่นาน ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก 

รวมดราม่า "รถไฟฟ้าสายสีแดง" จากวันแรกสู่ 20 บาทตลอดสาย

รวมดราม่า การใช้บริการ "รถไฟฟ้าสายสีแดง" 

วันที่ 9 ธ.ค. 2564 ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Kittinan Narkthong ได้เล่าประสบการณ์ใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงไป-กลับท่าอากาศยานดอนเมือง หรือสนามบินดอนเมือง โดยเริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ไปยังสถานีหลักสอง และสถานีท่าพระ

การเดินเท้าจากสถานีดอนเมือง ไปยังสนามบินดอนเมือง มีสะพานลอยและทางเดินเชื่อมไปยังอาคารผู้โดยสารในประเทศ (Terminal 2) ที่ทางออกหมายเลข 6 เปิดให้สัญจรตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 เป็นต้นมา

แต่เอาเข้าจริงไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะผู้โดยสารขาเข้าและขาออกระหว่างประเทศ (Terminal 1) เดินกันขาลากเลยทีเดียว แต่ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน บางคนสะดวกใช้รถไฟฟ้า บางคนสะดวกรถเมล์ หรือนั่งแท็กซี่เข้า-ออกสนามบิน

โดยปกติผู้เขียนจะเดินทางเข้า-ออกสนามบินดอนเมืองด้วยรถเมล์ ขสมก. ที่มีให้บริการ 4 เส้นทาง ได้แก่ สาย A1 ไปสวนจตุจักร, สาย A2 ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย A3 ไปสวนลุมพินี และสาย A4 ไปสนามหลวง
 

 

 

มาคราวนี้ จากที่เคยใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงไปยังสนามบินดอนเมือง มีคำแนะนำสำหรับคนที่จะใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง โดยเฉพาะคนที่มาจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เผื่อจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

รวมทั้งมีข้อสังเกตบางประการที่อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ให้บริการเดินรถอย่าง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ SRTET ได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้ผู้โดยสารที่มาใช้บริการได้รับความสะดวกสบายมากกว่านี้

เริ่มจากขาไป จากสถานีกลางบางซื่อ ถึงสถานีดอนเมือง ใช้เวลาประมาณ 16-17 นาที จากสถานีกลางบางซื่อ รถออกจากสถานีเที่ยวแรก 05.30 น. เที่ยวสุดท้าย 00.00 น. แต่ความถี่การเดินรถขึ้นอยู่กับช่วงเวลา

โดยตั้งแต่เวลา 05.30-07.00 น. รถออกทุก 20 นาที, เวลา 07.00-09.30 น. รถออกทุก 12 นาที, เวลา 09.30-17.00 น. รถออกทุก 20 นาที, เวลา 17.00-19.30 น. รถออกทุก 12 นาที และเวลา 19.30-24.00 น. รถออกทุก 20 นาที

รวมดราม่า "รถไฟฟ้าสายสีแดง" จากวันแรกสู่ 20 บาทตลอดสาย

อย่างไรก็ตาม การเดินเท้าจากสถานีดอนเมือง ไปยังอาคารผู้โดยสารในประเทศ (Terminal 2) ถ้าเดินแบบไม่เร็วมากจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที เมื่อถึงอาคาร 2 ให้ขึ้นบันไดไปยังชั้น 3 เพื่อไปยังเคาน์เตอร์เช็กอิน

แต่ถ้าในวันข้างหน้า ต้องเดินทางด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศ อาจจะต้องเดินเหนื่อยขึ้นมาหน่อย เพื่อไปยังอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (Terminal 1) ใช้เวลาเดินเท้าเพิ่มประมาณ 5 นาที

สำหรับเที่ยวบินในประเทศ เคาน์เตอร์สายการบินจะปิดเช็กอิน 45 นาทีก่อนเวลาเครื่องออก จึงควรเผื่อเวลาจากสถานีกลางบางซื่อไว้อย่างน้อย 3 ชั่วโมงกำลังดี เผื่อเกิดรถไฟฟ้าเสียระหว่างทาง จะได้หาทางนั่งแท็กซี่ได้ทัน

 

 

 

ถ้าเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีหลักสอง วันจันทร์-ศุกร์ ประตูสถานีจะเปิดในเวลาประมาณ 05.20 น. จากข้อมูลกำหนดเวลาให้บริการ รถไฟฟ้าออกจากสถานีหลักสองเที่ยวแรก 05.30 น. ถึงสถานีท่าพระเวลา 05.43 น.

ถ้าเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ออกจากสถานีหลักสองเที่ยวแรก 05.57 น. ถึงสถานีท่าพระเวลา 06.02 น. จากนั้นเดินขึ้นไปบนชานชาลา 3-4 เพื่อเปลี่ยนเส้นทางไปสถานีบางซื่อใช้เวลาประมาณ 20 นาที

ส่วนสถานีสุขุมวิท (ทิศทางไปบางซื่อ) เที่ยวแรก 05.59 น. (วันหยุด 06.02 น.) ไปสถานีบางซื่อใช้เวลาประมาณ 23 นาที สถานีลาดพร้าว เที่ยวแรก 05.54 น. (วันหยุด 05.55 น.) 

ในกรณีที่ไม่ทันเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีท่าพระ ชานชาลา 3-4 ความถี่ในการเดินรถ ช่วงเช้า เวลา 05.30-07.00 น. ความถี่ 5 นาที แต่หลังจากเวลา 07.00-09.00 น. ช่วงบางโพ-ท่าพระ ความถี่ 6.58 นาที หลังจากนั้นความถี่ 6.30 นาที

รวมดราม่า "รถไฟฟ้าสายสีแดง" จากวันแรกสู่ 20 บาทตลอดสาย

ช่วงเย็น เวลา 16.30-17.30 น. ความถี่ 5 นาที เวลา 17.30-21.00 น. ความถี่ 3.50 นาที และหลังเวลา 21.00 น. ความถี่ 7.15 นาที ส่วนวันหยุด ความถี่ 7.15 นาที (ยกเว้นวันเสาร์ เวลา 15.30-19.00 น. ความถี่ 5.55 นาที)

สรุปก็คือ ถ้ามาจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ยิ่งบ้านไกลถึงหลักสอง ภาษีเจริญ เผื่อเวลาสัก 3-4 ชั่วโมงก่อนเครื่องบินออกกำลังดี เพราะจะต้องเผื่อเวลาเดินเท้า รอเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีท่าพระ และเปลี่ยนเส้นทางสถานีบางซื่อ

ส่วนขากลับ แต่ละเที่ยวบินมักจะจอดไม่เหมือนกัน ถ้าจอดแบบบัสเกต (Bus Gate) ต้องรอรถบัสมารับ หรือถ้าเครื่องจอดที่อาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 5 (Pier 5) ต้องเดินเท้าไปอีกประมาณ 10 นาที จะถึงสายพานรับกระเป๋า

จากทางออกผู้โดยสารขาเข้าในประเทศ ให้เดินเลี้ยวซ้ายไปยังบันไดเลื่อน ก่อนถึงร้านเบอร์เกอร์คิง จะมีป้ายระบุ “รถไฟฟ้าสายสีแดง SRT Red Line” ให้ขึ้นไปที่ชั้น 2 แล้วเดินไปตามร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และศูนย์อาหารเมจิก ฟู้ด พอยต์

จากจุดนี้จะใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 10 นาที ถึงสถานีรถไฟดอนเมือง แม้จะมีกำหนดเวลาแน่นอน แต่เอาเข้าจริงล่าช้าไปประมาณ 3 นาที เช่น ตามกำหนดเวลาจะถึงสถานีดอนเมือง 21.47 น. มาถึงจริง 21.50 น.

มีคนสงสัยว่า ถ้าเป็นเที่ยวบินดึกจะนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงทันไหม จากที่ดูข้อมูลพบว่า เที่ยวบินสุดท้ายคือ FD3428 มาจากเชียงใหม่ ถึงสนามบินเวลา 23.55 น. ไหนจะรับกระเป๋า ไหนจะเดินบนทางเชื่อม ถ้าแบบนี้ยังไงก็ไม่ทัน

แต่ถ้าเที่ยวบินถึงดอนเมืองก่อนเวลา 23.00 น. ยังพอมีลุ้น เพราะรถไฟฟ้าสายสีแดงเที่ยวสุดท้าย ไปสถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมืองเวลา 00.07 น. โดยก่อนหน้านี้จะมีขบวนรถผ่านเวลา 23.07 น., 23.27 น. และ 23.47 น.

แต่เมื่อถึงสถานีกลางบางซื่อหลังเที่ยงคืน จะไปไหนมาไหนต่อไม่ได้ นอกจากโทร.เรียกแท็กซี่อย่างเดียว เพราะรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินขบวนสุดท้ายไปปลายทางหลักสอง (ทิศทางไปรัชดาภิเษก สุขุมวิท) หมดไปเมื่อตอน 23.33 น.

ถ้าจะนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดง ให้ทันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ไปรัชดาภิเษก สุขุมวิท ขบวนสุดท้าย แนะนำให้เที่ยวบินมาถึงสถานีดอนเมืองไม่เกิน 4 ทุ่มครึ่งดีที่สุด เพราะถ้านั่งขบวนเวลา 22.07, 22.27, 22.47 น. ยังทันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

ส่วนคนที่จะไปลงบางโพ บางพลัด สิรินธร บางยี่ขัน จรัญฯ 13 ปลายทางสถานีท่าพระ (ชานชาลา 3-4) รถผ่านสถานีบางซื่อเที่ยวสุดท้ายเวลา 00.05 น. ถ้านั่งขบวนเวลา 23.07 และ 23.27 น. น่าจะยังทันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

แต่ต้องเผื่อเวลาอย่างน้อย 5 นาที ก่อนรถไฟฟ้าเที่ยวสุดท้ายจะออกจากสถานี และเพื่อความรวดเร็วแนะนำให้พกบัตรโดยสารเตรียมพร้อมเอาไว้เลย จะช่วยประหยัดเวลาได้มากโข

เมื่อลงบันไดเลื่อนชานชาลา 3-4 ไปยังโถงด้านล่างแล้ว ให้เดินตรงไป ไม่ต้องหันหลังกลับ จะเจอประตู AFC Gate ถัดไปทางซ้ายมือจะมีอุโมงค์ทางเชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อ กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะปิดเวลา 00.05 น.

ฟังดูแล้ว คุณผู้อ่านอาจมองว่า ไม่อย่างนั้นเดินไปขึ้นรถเมล์ A1 และ A2 ที่ประตู 8 แล้วไปต่อรถไฟฟ้าที่สวนจตุจักรไม่ดีกว่าหรือ ผู้เขียนก็เห็นด้วยอยู่บ้าง แต่เช็กแอปฯ VIABUS ระหว่างเดินไปรับกระเป๋าที่สายพานหน่อยก็ดี

สิ่งที่อยากจะให้ปรับปรุง สำหรับการบริการรถไฟฟ้าสายสีแดง อย่างแรกเลยก็คือ “ที่นั่งพักคอย” เพราะช่วงเวลาที่ยืนรอรถไฟเข้าสู่ชานชาลา 20 นาที ยิ่งยืนนาน ยิ่งเมื่อย ขนาดรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ยังมีที่นั่งอยู่เลย

โดยเฉพาะสถานีดอนเมือง เห็นผู้โดยสารนับสิบคนเดินมาจากสนามบินดอนเมือง สะพายกระเป๋าเป้ใบใหญ่ๆ บางคนก็ลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่เข้ามา เห็นแล้วรู้สึกสงสาร คิดในใจไม่คิดจัดหาเก้าอี้ม้านั่งหน่อยหรือ

อย่างต่อมาคือ เรื่องป้ายบอกทาง ทางสนามบินดอนเมือง ยังไม่มีป้ายบอกทางไปรถไฟฟ้าสายสีแดง ตอนออกจากประตูสายพานรับกระเป๋า จะมีก็ต่อเมื่อบันไดเลื่อนหน้าร้านเบอร์เกอร์คิง ที่อยู่ห่างออกไปมากโข

ส่วนสถานีดอนเมือง ก็ยิ่งสับสนเข้าไปใหญ่ เพราะเมื่อข้ามสะพานลอยไปแล้ว กลับไม่มีป้ายบอกว่า ทางเข้าสถานีไปยัง AFC Gate ของรถไฟฟ้าสายสีแดงไปทางไหน เช่นเดียวกับป้ายบอกทางไปสนามบินดอนเมืองก็มีน้อยมาก

และเมื่อมาถึงสถานีกลางบางซื่อ ลงบันไดเลื่อนไปยังโถงชั้นล่าง ปรากฏว่าเมื่อมีประตู AFC Gate ทั้งสองด้าน ไม่มีป้ายบอกทางว่า ไปรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต้องออกประตูไหน คนที่หลงเดินย้อนกลับก็ต้องเสียเวลาถามพนักงานอีก

ถ้ารถไฟฟ้าสายสีแดง กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินบูรณาการความร่วมมือกันได้ ก็ควรมีคำแนะนำเรื่องตารางเวลา โดยเฉพาะ “ขบวนที่เชื่อมต่อเที่ยวสุดท้ายสายสีน้ำเงิน” ติดไว้ทุกสถานี เหมือนที่สายสีน้ำเงินทำไว้กับสายสีม่วง

เบื้องต้น ลองเทียบขบวนสุดท้ายจากสถานีรังสิต ไปให้ทันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ถ้าไปสถานีหลักสอง (ผ่านรัชดาภิเษก สุขุมวิท สีลม) เวลา 23.00 น. ถึงสถานีกลางบางซื่อ 23.23 น. เผื่อเวลาเปลี่ยนขบวนรถ 10 นาที

ถ้าไปสถานีท่าพระ (ผ่านบางพลัด สิรินธร บางยี่ขัน) แนะนำเที่ยวเวลา 23.20 น. ถึงสถานีกลางบางซื่อ 23.43 น. เพราะถ้าไปเที่ยวเวลา 23.40 น. ถึงสถานีกลางบางซื่อ 00.03 น. ถ้าบวกเวลาเดินเท้าไปเปลี่ยนเส้นทางยังไงก็ไม่ทัน!

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอความหวังโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) พ่วงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่กลุ่มซีพีรับสัมปทาน แต่เมื่อเห็นความคืบหน้าแล้ว คงต้องรออีกนานกว่าจะได้ใช้

รวมทั้งส่วนต่อขยายสายสีแดงที่เป็น Missing Link ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ถ้าเกิดขึ้นได้จริง คนที่บ้านอยู่โซนใจกลางเมืองอย่างหัวลำโพง เยาวราช สีลม ก็ไม่ต้องไปนั่งอ้อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอีก เผลอๆ หัวลำโพงก็ไม่ต้องปิด

แต่ถ้ารถไฟฟ้าสายสีแดงหยุดอยู่เพียงแค่นี้ ผู้โดยสารที่ต้องการใช้รถไฟฟ้าจริงๆ คงต้องเหนื่อยกันอีกนาน

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 กลุ่มคนรักรถไฟ รุมสับความล้มเหลวของ "รถไฟฟ้าสายสีแดง" หลังยอดผู้โดยสารน้อย ลดเที่ยววิ่งสายตลิ่งชัน นอกเวลาเร่งด่วนเหลือ 30 นาทีต่อขบวน ขณะที่ชั่วโมงเร่งด่วนก็ยังต้องรอ 20 นาทีต่อขบวน ชี้ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ไม่มีผู้ใช้บริการมาจาก

  • เส้นทางที่มีอยู่สั้นเกินไป ยังไปไม่ถึงชานเมืองที่แท้จริง
  • ที่ตั้งสถานี ไม่สะดวกกับผู้ใช้งาน เข้าถึงยาก
  • ระบบฟีดเดอร์ยังไม่พร้อม สะดวกไม่พอ เส้นทางไม่ครอบคลุม
  • ไม่มีอาคารจอดแล้วจร แบบที่ได้มาตรฐาน (โดยเพจหนึ่งเปิดเผยว่า ที่ปรึกษาตอนออกแบบโครงการได้ระบุว่า "คนมาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นคนที่บ้านอยู่ใกล้ๆ เขาจะใช้วิธีเดินมาหรือขี่จักรยานมาใช้บริการ")
  • ไม่มีระบบตั๋วร่วม ทำให้ค่าโดยสารแพง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องต่อหลายสาย
  • ในเส้นทางเดียวกัน มีตัวเลือกที่ดีกว่าทั้งเวลา และราคา ที่ใกล้เคียงกัน

ล่าสุดวันที่ 9 สิงหาคม 2566 มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องบันไดเลื่อน และลิฟต์ของรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีดอนเมือง ที่ไม่ได้เปิดใช้งานมานานกว่า 2-3 เดือน การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า การรถไฟฯได้รับรายงานจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟท.) ผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง เกี่ยวกับปัญหาระบบการทำงานของบันไดเลื่อน ทางเลื่อน และลิฟต์ที่สถานีรังสิต หลักหก ดอนเมือง หลักสี่ และทุ่งสองห้องในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงชำรุด 

รวมดราม่า "รถไฟฟ้าสายสีแดง" จากวันแรกสู่ 20 บาทตลอดสาย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และความปลอดภัยของผู้โดยสารจึงมีความจำเป็นต้องปิดระบบบันไดเลื่อน ลิฟต์ ทางเดินเลื่อนเป็นการชั่วคราวเพื่อทำการตรวจสอบในด้านความปลอดภัยทั้งหมดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา 

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบ และรวบรวมข้อมูลเสนอผู้รับผิดชอบแล้ว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดหาเอกชนเพื่อเข้าดำเนินการซ่อมแซม ซึ่งจะต้องใช้เวลาดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ โดยจะดำเนินการแก้ไขพร้อมกับทดสอบการใช้งานของบันไดเลื่อนใหม่ และเปิดให้บริการได้ตามปกติภายในเดือนกันยายน 2566

ทั้งนี้มีรายงานจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) แจ้งว่า ผลการให้บริการตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของระบบรถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางชื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และ รถไฟฟ้า สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 ซึ่งเป็นวันแรกของการให้บริการ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มติเห็นชอบนั้น พบว่า มีจำนวนผู้

โดยสารใช้บริการรถฟฟ้าทั้ง 2 สาย รวมทั้งหมด 94,446 คน/เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากวันที่ 15 ต.ค. 66 ที่มีผู้โดยสารจำนวน 50,564 คน/เที่ยว/วัน

  • รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางชื่อ-ตลิ่งชัน วันที่ 16 ต.ค. 66 มีจำนวนผู้โดยสาร 25,439 คน/เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากวันที่ 15 ต.ค. 66 ที่ยังไม่มีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย มีจำนวน 16,561 คน/เที่ยว/วัน 
  • รถไฟฟ้าสายสีม่วง วันที่ 16 ต.ค. 66 มีผู้โดยสารจำนวน 69,007 คน/เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากวันที่ 15 ต.ค. 66 ที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 34,003 คน/เที่ยว/วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related