svasdssvasds

ดัน "ส่งเสริมการมีบุตร" เป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหา "ประชากรลด" ได้จริง?

ดัน "ส่งเสริมการมีบุตร" เป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหา "ประชากรลด" ได้จริง?

ปัญหาเด็กเกิดน้อยจะส่งผลโดยตรงกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบในวงกว้าง รัฐบาลเตรียมประกาศ "ส่งเสริมการมีบุตร" เป็นวาระแห่งชาติภายในเดือน มี.ค. นี้ หลังจากประเทศไทยประสบปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ประชากรของประเทศไทยยังเต็มไปด้วยความท้าทาย ซึ่งสามารถแบ่งเป็น "ช่วงเกิด" โดยพบว่าการเกิดลดลงเป็นอย่างมากในรอบ 6 ทศวรรษที่ผ่านมา และยังมีปัญหาการเกิดที่ไม่พร้อมและอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตลอดจนการเกิดไม่ได้ในกลุ่มผู้ที่อยากมีบุตรแต่ร่างกายไม่เอื้อ และ "ช่วงเติบโต" ซึ่งเด็กที่โตมาอย่างน้อยร้อยละ 15 ไม่ได้เข้าสู่บริการด้านสุขภาพหรือได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมเท่าที่ควรจะเป็น มีเด็กได้เกือบร้อยละ 25 มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า และยังพบปัญหาการตายก่อนวัยอันควร

ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ประชากรเด็กและวัยแรงงานจะลดลง ซึ่งในแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาวที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2565 ก็ได้มีการระบุถึงการส่งเสริมให้สังคมมีการเกิดดี อยู่ดี แก่ดี และตายดี ด้วย

ปัญหาเด็กเกิดน้อยจะส่งผลโดยตรงกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบในวงกว้าง การแก้ไขปัญหาจึงจะมีความยุ่งยากมากกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเด็กเกิดมาก-ประชากรขยายตัวเร็ว ซึ่งขณะนั้นใช้มาตรการทางสาธารณสุข การคุมกำเนิด ฯลฯ เข้ามาแก้ไขได้ แต่ปัญหาเด็กเกิดน้อยตรงกันข้าม คือไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมิติทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว

ดัน "ส่งเสริมการมีบุตร" เป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหา "ประชากรลด"

 

“เกิดน้อย ตายน้อย” สังคมสูงวัยอย่างเป็นทางการ

ประชากรไทยมีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายมาตั้งแต่ปี 2564 และเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2566 ทำให้เกิดความท้าทายว่าจำนวนประชากรที่มีคุณภาพจะเพียงต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งมิติเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตหรือไม่

เมื่อจำนวนประชากรลดน้อยลง การพัฒนาคนในเชิงคุณภาพจึงถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการพัฒนาในช่วง 2,500 วันแรก นับตั้งแต่ปฏิสนธิ โดยการพัฒนาคนในช่วงต้นของชีวิต ต้องการการสนับสนุนในทุกมิติ ที่ครอบคลุมการสร้างสุขภาพดี ตั้งแต่การวางแผนครอบครัว การดูแลก่อนและหลังตั้งครรภ์ การได้รับโภชนาการที่เหมาะสมและเพียงพอ การดูแล สนองตอบเชิงบวกต่อความต้องการเด็ก โอกาสสำหรับการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ การปกป้องคุ้มครองให้อยู่รอด ปลอดภัย รวมถึงต้องสนับสนุนกลุ่มประชากรบางส่วนที่อยากมีแต่ยังไม่สามารถมีบุตรได้ อาทิ กลุ่มผู้มีบุตรยาก กลุ่มผู้ มีความหลากหลายทางเพศ

เร่งสร้างคุณภาพตั้งแต่ก่อนเกิด

ที่ผ่านมารัฐบาลได้การส่งเสริมการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ เช่น การให้ความรู้กับพ่อแม่ผ่านทางโรงเรียนพ่อแม่ทั้งในระยะตั้งครรภ์และระยะหลังคลอด การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยในทุกมิติ โดยมีทั้งการออกกฎหมายและแนวทางดำเนินการรองรับในมิติต่าง ๆ มีหลาย หน่วยงานและเครือข่ายที่มีบทบาทรับผิดชอบในการวางแผนและดำเนินการด้านการส่งเสริมการเกิดและการเติบโต ที่มีคุณภาพ

รวมถึงมีหน่วยงานในระดับภูมิภาคและท้องถิ่นซึ่งมีความเข้าใจบริบทของพื้นที่ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ รวมถึงบูรณาการการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ

จำนวน "เด็กเกิดใหม่" น้อยที่สุดในรอบกว่า 70 ปี

จากข้อมูลจากสถิติสาธารณสุขปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 485,085 คน ซึ่งเป็นจำนวนการเกิดที่ต่ำที่สุดและเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 500,000 คน สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 มีประชากรผู้สูงอายุมากถึงกว่า 12 ล้านคน

ทั้งนี้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้รวบรวมจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ สิ้นปี 66 พบว่ามีจำนวนราษฎรทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 66,052,615 คน ลดลงจากสิ้นปี 65 จำนวน 37,860 คน หรือลดลงร้อยละ 0.06 เป็นผู้มีสัญชาติไทย 65,061,190 คน ไม่มีสัญชาติไทย 991,425 คน โดยจากจำนวนทั้งหมดนี้เป็นราษฎรเพศชาย 32,224,008 คน และเพศหญิง 33,828,607 คน

จังหวัด/ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร 5,471,588 คน ส่วนสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดที่มีจำนวนราษฎรน้อยที่สุดคือ 187,993 คน

จังหวัดที่มีจำนวนราษฎรตั้งแต่ 1 ล้านคนขึ้นไปมีทั้งหมด 21 จังหวัด ดังนี้

  1. กรุงเทพฯ 5,471,588 คน
  2. นครราชสีมา 2,625,794 คน
  3. อุบลราชธานี 1,869,608 คน
  4. เชียงใหม่ 1,797,074 คน
  5. ขอนแก่น 1,779,373 คน
  6. ชลบุรี 1,618,066 คน
  7. บุรีรัมย์ 1,573,230 คน
  8. อุดรธานี 1,558,528 คน
  9. นครศรีธรรมราช 1,540,953 คน
  10. ศรีสะเกษ 1,450,333 คน
  11. สงขลา 1,431,959 คน
  12. สมุทรปราการ 1,372,970 คน
  13. สุรินทร์ 1,367,842 คน
  14. นนทบุรี  1,308,092 คน
  15. เชียงราย 1,298,977 คน
  16. ร้อยเอ็ด 1,284,836 คน
  17. ปทุมธานี 1,219,199 คน
  18. สกลนคร 1,142,657 คน
  19. ชัยภูมิ 1,113,378 คน
  20. สุราษฎร์ธานี 1,075,788 คน
  21. นครสวรรค์ 1,021,883 คน

ล่าสุดวานนี้ 14 กุมภาพันธ์ 2567 รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมอนามัย เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ ภายใต้แนวคิด “Give Birth Great World การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่”

สนับสนุนให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง จัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร บริการให้คำปรึกษา วางแผนการตั้งครรภ์ วินิจฉัยและรักษาภาวะมีบุตรยาก รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) และพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลให้สามารถให้บริการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ได้มากขึ้น

รัฐบาลมีนโยบายผลักดันและส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ ในการพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศได้ในเดือน มี.ค.นี้ โดยมีสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีบุตรแต่ไม่อยากมีคู่ ให้มีโอกาสที่จะมีบุตรได้

ทั้งนี้ ประเทศไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยที่สุดในรอบกว่า 70 ปี และจำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย ทำให้จำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2564 และหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป คาดการณ์ว่า ในอีก 60 ปี ข้างหน้า จำนวนประชากรไทยจะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคน เท่านั้น ซึ่งจะเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศในอนาคต

ส่องนโยบาย "ส่งเสริมการมีลูก" ของแต่ละประเทศ

  • ประเทศสวีเดน 

มีนโยบายสำคัญอย่าง “สปีดพรีเมียม” ที่ผู้เลี้ยงดูสามารถได้ค่าตอบแทนในวันหยุดเท่ากันกับการลาหยุดเลี้ยงดูลูกคนก่อน ถ้ามีลูกคนต่อไปภายใน 30 เดือนจากที่มีลูกคนแรก เพื่อส่งเสริมให้พ่อแม่สามารถวางแผนให้ลูกอายุใกล้เคียงกัน และได้ใช้เวลาดูแลเด็กอย่างต่อเนื่องโดยไม่ถูกรบกวนให้พ่อแม่ได้ประโยชน์มากขึ้น ทั้งนี้การลาหยุดงานในสวีเดนนั้น มีความยืดหยุ่นมากเพราะสามารถจัดสรรได้ว่าจะหยุดเต็มเวลา ครึ่งเวลา หรือหยุดแบบไหนจนกว่าลูกจะอายุ 12 ปี รวมถึงปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการมีลูกก็คือการที่บริษัทมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นและมักอนุญาตให้คนทำงานจากบ้านได้ และเมื่อค่าใช้จ่ายการดูแลเด็กลดลง อัตราการเกิดของสวีเดนก็พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2565 อัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate : TFR) อยู่ที่ 1.84

  • ประเทศสิงคโปร์ 

สิงคโปร์ได้ออกมาตรการมากมายเพื่อส่งเสริมการมีลูก เช่น เบบี้โบนัส โดยตั้งแต่ปี 2544 หากมีลูกสองคนพ่อแม่จะได้รับเบบี้โบนัสทั้งหมด 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 207,050 บาท) รวมถึงมีกองทุนช่วยเหลือแม่ที่ทำงาน โดยแม่ที่มีลูกคนแรกสามารถยกเว้นภาษีเงินได้ 15% และลดเพิ่มอีกหากมีลูกคนต่อ ๆ ไป

ทั้งนี้รัฐบาลยังอุดหนุนศูนย์เด็กเล็กเอกชนกว่า 320 แห่ง ในช่วงระหว่างปี 2564-2568 เพื่อให้ศูนย์เด็กเล็กมีราคาที่เข้าถึงได้และลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองที่เลี้ยงดูเด็ก นอกจากนี้ หากกรณีที่ต้องการเทคโนโลยีสนับสนุนการมีลูก (Assisted Reproductive Technology) รัฐจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ 75% 

  • ประเทศเกาหลีใต้ 

เกาหลีใต้ทุ่มงบประมาณอุดหนุนการดูแลเด็กเพิ่มขึ้น 8 เท่า เป็น 0.9% ของ GDP ปี 2557 รวมถึงมีการปรับปรุงนโยบายลาพักของผู้เลี้ยงดูเด็กให้ยาวนานขึ้น

  • แม่สามารถลางานมาเลี้ยงลูกได้ 90 วัน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือพาร์ทไทม์
  • พ่อลาได้ 10 วัน โดยยังได้เงินเดือนเต็มจำนวน
  • รวมถึงพ่อแม่สามารถใช้วันหยุดดูแลลูกได้จนถึงอายุ 8 ปี ซึ่งหยุดได้เป็นเวลาหนึ่งปีและสามารถแบ่งเป็นครั้งละ 3 เดือนได้

แต่นโยบายครอบคลุมในกรณีที่เป็นพ่อแม่โดยสายเลือดเท่านั้น และเกิดปรากฏการณ์ทำให้ผู้หญิงที่กำลังจะคลอดลูกมักไม่ได้รับการจ้างงาน 

แม้ในหลายประเทศรัฐบาลจะพยายามออกมาตรการเพื่อสนับสนุนให้คนมีลูก แต่ด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ความชัดเจนของนโยบายที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก ซึ่งการตัดสินใจมีลูกนั้นอาจไม่ได้ยึดโยงกับนโยบายครอบครัวเพียงเท่านั้น แต่สัมพันธ์กับความมั่นคงทางแรงงาน เพราะงานที่มั่นคงมีผลต่อการมีลูก จะเห็นได้ว่านโยบายเพิ่มอัตราการมีลูก ต้องอาศัยความครอบคลุมทั้งเรื่องครอบครัว แรงงาน สุขภาพ และพร้อมรองรับกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลต่อคนรุ่นใหม่ด้วย

World Bank Data คาดการณ์จำนวนประชากรทั่วโลก ตั้งแต่ปี 1960 จนถึงในปี 2050 พบว่า ประเทศที่จะมีประชากรสูงสุด คือ อินเดียจะมีประชากรอยู่ที่ 1,639,176,000 ล้านคน รองลงมาได้แก่ จีน ไนจีเรีย สหรัฐอเมริกาและปากีสถาน ตามลำดับ

ส่วนการคาดการณ์จำนวนประชากรในภูมิภาคอาเซียน มีตัวเลขที่น่าสนใจโดยเฉพาะกับประเทศไทย

ลำดับจำนวนประชากรในภูมิภาคอาเซียน มีดังนี้

ประเทศไทย มีประชากรลดลงอยู่ที่ -6%

  • ในปี 2022 70,078,000 คน
  • ในปี 2050 65,940,000 คน

ประเทศอินโดนีเซีย มีประชากรเพิ่มมากขึ้น 19%

  • ในปี 2022 279,135,000 คน
  • ในปี 2050 330,905,000 คน

ประเทศฟิลิปปินส์ มีประชากรเพิ่มมากขึ้น 28%

  • ในปี 2022 112,509,000 คน
  • ในปี 2050 144,488,000 คน

ประเทศเวียดนาม มีประชากรเพิ่มมากขึ้น 11%

  • ในปี 2022 98,954,000 คน
  • ในปี 2050 109,605,000 คน

ประเทศเมียนมาร์ มีประชากรเพิ่มมากขึ้น 13%

  • ในปี 2022 55,227,000 คน
  • ในปี 2050 62,253,000 คน

ประเทศมาเลเซีย มีประชากรเพิ่มมากขึ้น 22%

  • ในปี 2022 33,181,000 คน
  • ในปี 2050 40,055,000 คน

ลำดับจำนวนประชากรในภูมิภาคอาเซียน

ประเทศกัมพูชา มีประชากรเพิ่มมากขึ้น 27%

  • ในปี 2022 17,169,000 คน
  • ในปี 2050 21,861,000 คน

ประเทศลาว มีประชากรเพิ่มมากขึ้น 27%

  • ในปี 2022 7,481,000 คน
  • ในปี 2050 9,480,000 คน

ประเทศสิงคโปร์ มีประชากรเพิ่มมากขึ้น 7%

  • ในปี 2022 5,498,000 คน
  • ในปี 2050 5,899,000 คน

ประเทศติมอร์ เลสเต มีประชากรเพิ่มมากขึ้น 47%

  • ในปี 2022 1,369,000 คน
  • ในปี 2050 2,019,000 คน

ประเทศบรูไน มีประชากรเพิ่มมากขึ้น 11%

  • ในปี 2022 445,000 คน
  • ในปี 2050 492,000 คน

จากข้อมูลพบว่าไทยจะเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ประชากรลดลงเมื่อเทียบจากปี 2022 อยู่ในลำดับที่ 4 ของชาติในอาเซียน

ซึ่งถ้าดูตามตัวเลขอัตราเกิดหรือจำนวนเด็กแรกเกิดของประเทศไทยที่ลดลงนั้น เริ่มต้นและลดลงเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 40 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่มีประชากรเกิดมากกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปีราวปี พ.ศ.2506-2526 ซึ่งเราเรียกการเกิดเกิน 1 ล้านคนต่อปีในช่วงนั้นว่า ยุค Baby Boom จากนั้นก็เริ่มลดลงจนกระทั่งในปี พ.ศ.2564 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่มีจำนวนเด็กแรกเกิดต่ำกว่าจำนวนคนที่ตายไป 

ที่มา : nationalhealth 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง