svasdssvasds

สรุปปม ดารุมะซูชิ จากจุดเริ่มต้นถึงวันที่ศาลยกฟ้อง บอนนี่ ไม่เจตนาฉ้อโกง

สรุปปม ดารุมะซูชิ จากจุดเริ่มต้นถึงวันที่ศาลยกฟ้อง บอนนี่ ไม่เจตนาฉ้อโกง

สรุปปมดราม่า ดารุมะซูชิ จากจุดเริ่มต้นถึงวันที่ศาลยกฟ้อง บอนนี่ กรณีขายคูปองบุฟเฟต์-แฟรนไชส์ ชี้เกิดจากบริหารผิดพลาด ไม่เจตนาทุจริตหลอกลวง เจ้าตัวร้องไห้สะอึกสะอื้น โผกอดแม่กลางศาล เผย รู้สึกดีใจมาก เพราะถูกจองจำมา 1 ปี 8 เดือน จากวันนั้นถึงวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ย้อนไปเมื่อช่วงกลางปี 2565 เร้านบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นชื่อดัง “ดารุมะซูชิ” (Daruma Sushi) ได้มีการจำหน่ายวอชเชอร์ราคา 199 บาท โดยมีเงื่อนไขในการซื้อต้องซื้อจำนวน 5 ใบขึ้นไป จนทำให้มีผู้คนแห่ซื้อกันไปเป็นจำนวนมากซึ่งบางรายถึงขั้นเหมาซื้อไปเพื่อทำกำไร

จุดเริ่มต้นดราม่าดารุมะซูชิ

กระทั่งได้เกิดดราม่าขึ้น เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ลงในกลุ่มคนรักบุฟเฟต์ (Buffet Lovers)" ภาพหน้าร้าน "Daruma Sushi" ซึ่งปิดปรับปรุงอย่างไม่มีกำหนด จึงจุดเป็นประเด็น ให้ชาวเน็ตได้ตั้งข้อสงสัยหลังลูกค้าหลายรายจะไปใช้บริการร้าน ดารุมะซูชิ แต่ก็พบว่าหลายๆ สาขาปิดปรับปรุงเช่นกัน แถมบางสาขาเริ่มเก็บของบางส่วนออกจากร้าน ทำให้ลูกค้าที่ซื้อวอชเชอร์ คูปองล่วงหน้า หวั่นใจว่าจะสูญเงินเปล่า

สรุปปม ดารุมะซูชิ จากจุดเริ่มต้นถึงวันที่ศาลยกฟ้อง บอนนี่ ไม่เจตนาฉ้อโกง

ต่อมาร้าน ดารุมะซูชิ ทั้ง 27 สาขามีการปิดอย่างไม่มีกำหนด ส่งผลให้พนักงานร้านทั้ง 27 สาขา ถูกลอยแพ หลังจากนั้นทำให้พนักงานร้าน รวมถึงผู้ได้รับความเสียหาย มีการรวมตัวกันเอาผิดเจ้าของบริษัท และเรียกร้องให้เจ้าของบริษัทออกมาชี้แจงและรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

โดยผู้เสียหายที่ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ หลายสาขา ได้รวมตัวกันรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทดารุมะและผู้บริหาร พร้อมชี้แจงว่า ได้ทำการลงเงินเพื่อเปิดสาขา โดยมีบริษัทดารุมะ เป็นผู้บริหารจัดการและดูแลบัญชีรายรับรายจ่ายทั้งหมดเเต่เพียงผู้เดียว และจะปันผลเป็นรายเดือนให้กับผู้ลงทุน การจัดโปรโมชันต่างๆ เป็นการดำเนินการโดยผู้บริหารบริษัทดารุมะ ซึ่งทางผู้ลงทุนไม่มีส่วนในการบริหารจัดการ

 

ด้าน ผู้จัดการร้าน ออกมาโพสต์ ยืนยันว่า

"ทั้งตัวพนักงาน และ หุ้นส่วนสาขาแฟรนไชส์ทุกท่าน พวกเราไม่มีส่วนรู้เห็น หรือวางแผนกันมาก่อน วันที่ 16 เรายังเปิดร้านรับลูกค้าตามปกติ ไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ที่ตั้งข้อสังเกตว่าทุกสาขาพร้อมใจกันปิด นั่นเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของพวกเรา"

สรุปปม ดารุมะซูชิ จากจุดเริ่มต้นถึงวันที่ศาลยกฟ้อง บอนนี่ ไม่เจตนาฉ้อโกง

ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2565 กลุ่มผู้เสียหายที่ซื้อคูปอง รวมตัวกันเข้าร้องเรียนกับ นายรัชพล ศิริสาคร จากนั้น ทนายรัชพล ได้พาผู้เสียหายเข้าร้องต่อพนักงานสอบสวน​ บก.ปคบ. ให้ทำคดีและรวมสำนวนคดีเพื่อให้ง่ายต่อการทำคดี โดยตนรับเป็นทนายว่าความ มีผู้เสียหายรวมกลุ่มมาขอทำคดีแล้วกว่า 400 ราย เบื้องต้นมีความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

ทังนี้พบว่า  "บอนนี่" หรือ นายเมธา ชลิงสุข เจ้าของดารุมะ ได้เดินทางออกนอกประเทศไป เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ปลายทางคือเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

22 มิถุนายน 2565 ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ได้ทำการจับกุม "บอนนี่" คาสนามบินสุวรรณภูมิ ตามหมายจับศาลอาญารัชดา ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ภายหลังเดินทางกลับมาจากไทเป ไต้หวัน และถูกควบคุมตัวไปสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)

สรุปปม ดารุมะซูชิ จากจุดเริ่มต้นถึงวันที่ศาลยกฟ้อง บอนนี่ ไม่เจตนาฉ้อโกง

ขณะที่นักธุรกิจเจ้าของร้านแฟรนไซด์ ดารุมะซูซิกว่า 6 สาขา ได้เดินทางเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค หลังต้องปิดร้าน หยุดกิจการ ส่งผลทำให้เสียหายกว่า 10 ล้านบาท

จากการสอบสวน "บอนนี่" ให้การปฏิเสธ โดยอ้างการเงินขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์โควิด จึงออกคูปองบุฟเฟต์ราคา 199 บาท เมื่อช่วงต้นเดือน มกราคม 2565 เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในระบบ แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ ประกอบกับถูกทวงหนี้กว่า 100 ล้านอย่างหนัก จึงหลบหนีไปตั้งหลักที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 โดยมีการเปลี่ยนเครื่องที่เมืองดูไบ ภายหลังได้รับชมข่าว ประกอบถูกกดดันอย่างหนัก จึงเดินทางกลับมาไทย

23 มิถุนายน 2565 ตำรวจไม่ให้ประกันตัว บอนนี่ ในชั้นสอบสวน และคุมตัวไปฝากขัง พร้อมคัดค้านการประกันตัวต่อศาล โดยตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานร่วมกันโดยทุจริต หลอกลวง นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวผู้ต้องหา เชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวอาจหลบหนี

ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2565 และ 21 พฤศจิกายน 2565 เริ่มสืบพยานโจทก์ตั้งแต่ 4 กรกฎาคม 2566-20 ตุลาคม 2566 และสืบพยานจำเลยตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566 - 21 ธันวาคม 2566

ศาลยกฟ้อง บอนนี่ เจ้าของดารุมะซูชิ ไม่เข้าเจตนาหลอกลวง

ล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาคดีฉ้อโกงประชาชน ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท ดารุมะ ซูชิ  จำกัด และ นายเมธา ชลิงสุข  หรือ บอนนี่ อายุ 41 ปีกรรมการผู้มีอำนาจ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม - 18 มิถุนายน 2565 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงประกาศขายอาหารบุฟเฟต์ญี่ปุ่นโปรโมชั่นต่างๆ รวมทั้งจำหน่ายคูปองใบละ 199 บาท 250 บาท 299 บาท และ 399 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน Daruma  sushi โดยโอนเงินผ่านบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 แต่ความจริงแล้วพวกจำเลยมิได้มีเจตนาตั้งแต่ต้นที่จะประกอบกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นดังกล่าว เป็นเพียงกลอุบายให้หลอกลวง จนมีผู้เสียหาย 988 ราย หลงเชื่อซื้อคูปอง เป็นความผิด 988 กรรม

นอกจากนี้ จำเลยยังหลอกลวงประกาศขายแฟรนไชส์ ให้ผู้สนใจร่วมลงทุนราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท ถึง 2.5 ล้านบาท ต่อสาขา โดยมีผู้เสียหาย 11รายหลงเชื่อชื้อแฟรนไชส์ จากจำเลยเป็นความผิด 11 กรรม

คำฟ้องระบุอีกว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม - 18 มิถุนายน 2565 ยังร่วมกันฟอกเงินโดยรับโอนเงินที่ได้จากการกระทำผิดจำนวน 150.7 ล้านบาทเศษ เข้าบัญชีธนาคารตนเองเพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง ซึ่งการได้มาแล้วโอนเข้าบัญชีธนาคารอื่นหลายครั้งหลายหน

โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด และร่วมกันคืนเงินหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายแต่ละราย ตามความเสียหายรวม 42.3 ล้านบาทเศษด้วย

วันนี้ทนายจำเลยที่ 1 และเบิกตัวจำเลยที่ 2 จากเรือนจำมาฟังคำพิพากษา

ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์ร่วม จำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 2 ได้ร่วมกันเปิดร้านอาหารดารุมะซูชิ จำหน่ายอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟ่ต์ โดยมีการขายคูปองอาหารตามโปรโมชัน ตามเพจเฟชบุ๊กและแอปพลิเคชันดารุมะซูชิ รวมทั้งเปิดขายแฟรนไชส์ ให้ผู้สนใจร่วมลงทุน โดยที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารแล้วจะแบ่งผลกำไรให้ตามที่ตกลงไว้ ขณะเกิดเหตุมีร้านอาหารดารุมะซูชิทั้ง 27 สาขา

ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ทางร้านได้ประกาศปิดปรับปรุงกิจการชั่วคราว เนื่องจากขาดสภาพคล่องทำให้ผู้ที่ซื้อคูปองไม่สามารถมาใช้บริการที่ร้านอาหาร ได้รับความเสียหายจำนานมาก

ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยทั้ง 2 มีเจตนาทุจริตฉ้อโกงผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้ง 2 ได้เปิดร้านอาหารมาตั้งแต่ พ.ศ. 2559 และมีผู้บริโภคสนใจจำนวนมาก ทำให้สามารถขยายกิจการได้อีกหลายสาขา และมีการขายคูปองทำโปรโมชัน ผู้ที่ใช้บริการก็ยังนำคูปองมาใช้บริการได้ตามปกติ

จนกระทั่งเกิดการบริหารงานและการคาดการณ์ที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 2 ประกอบกับเกิดเหตุสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาปลาแซลมอนซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ราคาสูงขึ้น จนทำให้จำเลยที่ 2 ขาดสภาพคล่องไม่สามารถชำระค่าปลาแซลมอน เลยบริหารกิจการต่อไปไม่ได้

แม้การตั้งราคาโปรโมชัน 199 บาท จะต่ำกว่าราคาทุนของราคาปลาแซลมอนที่ขายกิโลกรัมละ 300 บาท แต่เห็นว่าเป็นการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อแข่งขันทางตลาด ดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการจำนวนมาก

อีกทั้งการขายแฟรนไชส์ให้คนที่ร่วมลงทุน เป็นการตกลงทำสัญญาแบ่งผลกำไรให้ตามสัดส่วน แล้วทางจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่ได้บังคับซื้อขายร้านแฟรนไชส์ เป็นความพอใจระหว่างกัน

ทั้งนี้ จำเลยที่ 2 ก็มิได้กีดกันหากผู้ซื้อแฟรนไชส์จะเข้ามาร่วมบริหารงาน และในทุกๆ วันจะมีระบบส่งอีเมล์แจ้งรายละเอียดเรื่องรายรับรายจ่ายแต่ละวันให้ทราบ แล้วทุกร้านของดารุมะซูชิ จะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดให้สามารถดูออนไลน์ได้ตลอดเวลา ไม่ได้ปิดบังข้อมูล

ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 2 เจตนาจะหลอกลวงเป็นการบริหารงานผิดพลาด มิได้มีเจตนาจะทุจริต เหตุที่เกิดจึงเป็นการผิดสัญญาเป็นความผิดทางเเพ่ง

ปัญหาประการต่อมาว่า จำเลยทั้ง 2 ร่วมกันฟอกเงินหรือไม่ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า จำเลยที่ 2 ได้มีการโอนเงินบางส่วนให้กับมารดาบุญธรรมเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งโอนเงินเข้าบัญชีชื่อเพื่อนสนิท แต่เป็นการชำระหนี้ที่กู้ยืมมา นอกจากนี้มีการโอนเงินไป บ.แห่งหนึ่งแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยเป็นเงินสกุลดอลลาร์ ก็เพียงเพื่อไว้ใช้ระหว่างอยู่ต่างประเทศเท่านั้น

ด้วยเหตุข้างต้นจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 2 มีความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน พยานหลักฐานโจทก์และผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมนำสืบมานั้น ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 2 กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง บอนนี่ ได้ร้องไห้สะอึกสะอื้น โผกอดมารดาบุญธรรม และกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ร่วมรับฟังว่ารู้สึกดีใจมาก ตนถูกจองจำมา 1 ปี 8 เดือน ยังไม่พร้อมให้สัมภาษณ์

แหลมเกตโมเดล

จากเคสของดารุมะ หากย้อนกลับไปปี 2562 เคยมีเคส Voucher ที่เป็นคดีความใหญ่เช่นกัน อย่างร้านซีฟู้ดชื่อดัง “แหลมเกต” ที่เปิดโปรขาย Voucher หลักร้อย เสิร์ฟอาหารทะเลคุณภาพดี พร้อมร้านที่ตกแต่งบรรยากาศถ่ายภาพสวยงาม

สรุปปม ดารุมะซูชิ จากจุดเริ่มต้นถึงวันที่ศาลยกฟ้อง บอนนี่ ไม่เจตนาฉ้อโกง

อย่างไรก็ตามเมื่อลูกค้าเข้าไปใช้บริการ รับประทานอาหารปรากฏว่ารายการอาหารไม่ตรงตามที่โฆษณา และให้จ่ายเงินค่าอาหารเพิ่ม บางรายได้จองนัดหมายกับร้านเพื่อเข้าไปรับประทานอาหารไว้แล้ว แต่ไม่อาจเข้าไปรับประทานอาหารได้ 

อีกทั้งระยะหลังทางร้านได้นำวัตถุดิบคุณภาพต่ำมาขายให้ลูกค้าจนถูกตำหนิ ทางร้านได้แจ้งขอยกเลิกและงดให้บริการทุกโปรโมชั่น

สรุปปม ดารุมะซูชิ จากจุดเริ่มต้นถึงวันที่ศาลยกฟ้อง บอนนี่ ไม่เจตนาฉ้อโกง

ต่อมาร้านได้ประกาศปิดตัว เนื่องจากแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว โดยมีการแจ้งว่าจะคืนเงินให้กับผู้เสียหาย แต่ปรากฏว่าทางร้านไม่สามารถนำเงินมาคืนได้ ทำให้ผู้เสียรวมตัวร้องทุกข์

สุดท้าย 10 มิ.ย.2563 ผู้บริหารแหลมเกตซีฟู้ด ถูกศาลอาญาจำคุก 1,446 ปี ฉ้อโกงประชาชน หลอกขายวอยเชอร์โปรบุฟเฟ่ต์ซีฟู้ด สุดท้ายยกเลิกไม่คืนเงินลูกค้า ปรับ 3.6 ล้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related