svasdssvasds

"แบคทีเรียกินเนื้อคน" กลุ่มไหนต้องระวัง ติดเชื้อลุกลามไว อันตรายถึงชีวิต

"แบคทีเรียกินเนื้อคน" กลุ่มไหนต้องระวัง ติดเชื้อลุกลามไว อันตรายถึงชีวิต

หมอยง เปิดข้อมูล "แบคทีเรียกินเนื้อคน" กลุ่มไหนต้องระวัง หากติดเชื้อ ลุกลามไวแน่ ระบุมีเชื้อตัวอื่นอีกที่ลุกลามไว และกินเนื้อ พบในทะเล

SHORT CUT

  • เกิดการระบาดของโรค "แบคทีเรียกินเนื้อคน" ที่ญี่ปุ่น ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนทำให้หลายประเทศเกิดความวิตกกังวล
  • หมอยง เผย "แบคทีเรียกินเนื้อ" เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ไม่ใช่โรคใหม่ ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กินยากดภูมิต้านทาน หรือมีโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ
  • ยังมีแบคทีเรีย อย่างอื่นอีกหลายชนิดที่อาจจะลุกลามอย่างรวดเร็ว เช่น Clostridium perfringens ทำให้เกิด Gas gangrene

หมอยง เปิดข้อมูล "แบคทีเรียกินเนื้อคน" กลุ่มไหนต้องระวัง หากติดเชื้อ ลุกลามไวแน่ ระบุมีเชื้อตัวอื่นอีกที่ลุกลามไว และกินเนื้อ พบในทะเล

หลังจากที่กรมควบคุมโรค ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่อง การเพิ่มขึ้นของโรคแบคทีเรียกินเนื้อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” ในประเทศญี่ปุ่น ทางการญี่ปุ่นกำลังสืบค้นหาสาเหตุของการเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด 19 ร่วมกับอาจมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย

เชื้อแบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” มีมากกว่า 200 สายพันธุ์

เชื้อแบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” นี้ เป็นเชื้อก่อโรคที่มีมานานแล้ว และมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ ก่อให้เกิดอาการแสดงของโรคได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการน้อยหรือปานกลาง ได้แก่ การติดเชื้อของคอหอย ต่อมทอนซิล และระบบทางเดินหายใจ หรืออาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรง (ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย) ได้แก่

มีการอักเสบอย่างรุนแรงของผิวหนังชั้นลึก หรือเกิดภาวะช็อกที่อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยหนึ่งในอาการแสดงของโรคและอยู่ในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทยคือ “โรคไข้อีดำอีแดง หรือ Scarlet fever” ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ต้อง เฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เกิดได้ทุกช่วงอายุแต่มักเป็นในเด็กวัยเรียน ติดต่อจากคนสู่คนโดยการใกล้ชิดและหายใจรับละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ที่มีเชื้อ หรือละอองเชื้อโรคสัมผัสกับตา จมูก ปาก หรือสัมผัสผ่านมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ เป็นต้น อาการที่พบ คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ และอาจมีผื่นนูนสากๆ ตามร่างกาย (จากเชื้อสร้างสารพิษ) สัมผัสแล้ว มีลักษณะคล้ายกระดาษทราย

โรคแบคทีเรียกินเนื้อ สาเหตุเกิดจากอะไร

โรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) ซึ่งอาจเกิดได้จากแบคทีเรียหลายชนิด (โดย 1 ในเชื้อสาเหตุคือ “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ”) จากการติดตามใน พ.ศ. 2562 - 2566 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 106,021 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยภาวะดังกล่าว 1,048 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายประมาณร้อยละ 1.0 แนวโน้มการรายงานผู้ป่วยคงที่และลดลงในปี พ.ศ. 2566 โดยมีอัตราป่วย 27.35 ต่อแสนประชากร (จากเดิมร้อยละ 32.5 ต่อแสนประชากร) พบรายงานผู้ป่วยตลอดทั้งปีแต่สูงสุดในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมของทุกปี จากการติดตามข้อมูล ยังไม่พบว่าอุบัติการณ์การติดเชื้อนี้มีการเพิ่มขึ้น หรือรุนแรงขึ้นในประเทศไทย

ล่าสุด "หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก Yong Poovorawan เกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้นดังนี้

"แบคทีเรียกินเนื้อ" เกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย ได้หลายชนิด ไม่ใช่โรคใหม่ ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กินยากดภูมิต้านทาน หรือมีโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ

ที่มีข่าวกันมากขณะนี้เกิดจากเชื้อ แบคทีเรีย Streptococcus group A เป็น แบคทีเรีย ที่เกิดโรคได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในคนที่แข็งแรงดีก็จะไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โต สามารถรักษาได้ แต่ถ้าภูมิต้านทานต่ำ และการติดเชื้อที่ผิวหนังก็จะทำให้ลุกลามอย่างรวดเร็วได้ อย่างที่เป็นข่าวในประเทศญี่ปุ่น ในประเทศไทยก็พบได้ แต่ไม่ได้มากมายและสามารถรักษาได้ มียาปฏิชีวนะที่รักษาเชื้อดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมี แบคทีเรีย อย่างอื่นอีกหลายชนิดที่อาจจะลุกลามอย่างรวดเร็ว เช่น Clostridium perfringens ทำให้เกิด Gas gangrene ผมเคยเห็นคนไข้แล้ว น่ากลัวมาก ใครสนใจค้นดูรูปจาก Google คงไม่ยาก

แต่ที่อยากให้เห็นวันนี้ ทีมของผมรายงานผู้ป่วยที่เกิดการอักเสบของแบคทีเรียจะเรียกว่ากินเนื้อก็ได้ ที่เกิดจากแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำทะเล โดยทั่วไปจะเป็น Shewanella algae แต่รายงานนี้เป็นรายงานแรกที่ผมได้รายงานเป็นภาษาอังกฤษ ที่เกิดจากเชื้อ Shewanella haliotis ในผู้ป่วยที่กินยากดภูมิต้านทาน 

แบคทีเรีย ตัวนี้ที่พบครั้งแรกพบใน หอยเป๋าฮื้อ ทีมของเราได้ เผยแพร่ในในวารสาร EID โดยรอยโรคการติดเชื้อเกิดที่ขาเป็นภาพที่ไม่น่าดูเลย จึงต้องขอเบลอภาพดังกล่าว

อาการ โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน

  • ผู้ป่วยจะมีอาการร้อนบริเวณผิวหนัง ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดง เกิดการบวมอย่างรวดเร็ว
  • รู้สึกปวดบาดแผลมากกว่าปกติ โดยอาการปวดไม่สัมพันธ์กับขนาดแผลที่เกิดขึ้น
  • ปวดแขน/ขา ตึงบริเวณกล้ามเนื้อ
  • มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีเหงื่อออก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ หรือท้องเสีย เป็นต้น
  • เกิดภาวะขาดน้ำ โดยมีอาการ เช่น กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย
  • หากมีไข้สูง มีอาการปวด และกดเจ็บบริเวณแผล มีผื่นพุพอง และผิวหนังบริเวณที่เกิดโรคจะมีม่วงคล้ำ หรือถุงน้ำอย่างรวดเร็ว จะต้องรีบให้การรักษาทันที เพราะอาจทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นนั่นเอง ตำแหน่งของโรคมักเกิดที่ขา เท้า หากลุกลามมากขึ้นจะเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจติดเชื้อในกระแสเลือด หรือไตวายได้

กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน

  • พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ เกษตรกรดำนาไม่สวมใส่รองเท้า มีบาดแผลตามร่างกายและได้รับสิ่งสกปรกเข้าไป
  • กลุ่มผู้ที่ใช้ยา Steroid
  • กลุ่มผู้ป่วยโรคผิวหนัง อาจเกิดหลังจากป่วยเป็นโรคไข้สุกใส
  • กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว เช่น ติดสุรา ติดยาเสพติด โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัณโรค เป็นต้น
  • กลุ่มผู้ที่มีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ แล้วไม่มีการทำความสะอาดดูแลแผลให้ดี หรือไม่ถูกต้องจนการติดเชื้อลุกลาม

เชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปในร่างกายอันตรายถึงชีวิต

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เส้นประสาท กล้ามเนื้อและหลอดเลือดถูกทำลาย ถึงขั้นตัดอวัยวะทิ้ง หากอวัยวะในร่างกายไม่ตอบสนองก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจมีแผลเป็นหรืออาจมีโอกาสพิการแขนขาได้เช่นกัน

ที่มา : Yong Poovorawan

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related