svasdssvasds

รีวิว ซีรีส์ไซไฟแห่งปี ‘อนาฅต’ ตอน 'ศาสดาต้า' เมื่อพระไม่ใช่สิ่งจำเป็น ?

รีวิว ซีรีส์ไซไฟแห่งปี ‘อนาฅต’ ตอน 'ศาสดาต้า' เมื่อพระไม่ใช่สิ่งจำเป็น ?

ในอนาคต คุณจะให้ใครสอนศาสนาพุทธให้ ? ระหว่าง ‘AI ไร้มลทิน’ ที่แตกฉานในพระไตรปิฎก หรือ ‘พระปุถุชนธรรมดา’ ที่ไม่ได้ขาวสะอาด แต่เป็นมนุษย์ !

SHORT CUT

  • ต่อให้ AI จะมีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็ว แต่การสอนธรรมะไม่ได้เป็นเพียงการถ่ายทอดข้อมูลหรือข้อธรรมะอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น
  • บนโลกนี้คงไม่มีใครเข้าใจธรรมะได้เท่าคนที่เคยทำผิดพลาด แต่สามารถกลับตัวกลับใจได้ เพราะมนุษย์เราไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์แบบมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
  • สุดท้าย ธรรมะ ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนจะตีความ และปรับให้เข้ากับชีวิตตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกหรือผิดชัดเจน

ในอนาคต คุณจะให้ใครสอนศาสนาพุทธให้ ? ระหว่าง ‘AI ไร้มลทิน’ ที่แตกฉานในพระไตรปิฎก หรือ ‘พระปุถุชนธรรมดา’ ที่ไม่ได้ขาวสะอาด แต่เป็นมนุษย์ !

ในยุคแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไม่มีวันหยุดยั้ง โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของชีวิต ตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงวัฒนธรรมและความเชื่อต่างๆ

ศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสนาที่มีรากฐานจากความสงบและปัญญา อาจดูเหมือนอยู่ห่างไกลจากกระแสเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่แท้จริงแล้ว พุทธศาสนาเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ เช่น ‘ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ’ ได้

ซีรีส์ดราม่า-ไซไฟแห่งปี ‘อนาฅต’ ผลงานคนไทย ที่ได้เปิดให้รับชมแล้วบน Netflix ตอนนี้ ได้ตั้งคำถามถึงเรื่องดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ โดยตอนหนึ่งที่มีชื่อว่า ศาสดาต้า (Buddha Data) มีการชวนให้เราเกิดความสงสัยว่า เมื่อ AI เป็นที่ปรึกษาธรรมะได้ยอดเยี่ยม แถมพกติดตัวไปไหนก็ได้ แล้วเราจะยังมี ‘พระ’ ไว้สอนศาสนาอยู่ทำไม ?

เรื่องย่อ ศาสดาต้า (Buddha Data)

เรื่องย่อ ศาสดาต้า (Buddha Data)

‘อนาฅต’ เล่าเรื่องของ ‘โลกอนาคต’ ที่ตอนนั้นเมืองชาวพุทธในเมืองไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้กราบไหว้พระ หรือเน้นมาปฏิบัติธรรมที่วัดอีกแล้ว แต่ชาวพุทธกลับไปศรัทธาปัญญาประดิษฐ์ที่เรียกว่า ULTRA อุปกรณ์ AI แบบพกพาที่หน้าที่เหมือนไลฟ์โค้ชสอนธรรมะให้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา จึงทำให้ ‘วัด’ และ ‘พระสงฆ์’ ถูกลดบทบาทลง เป็นเหมือนกลุ่มที่ใกล้สูญพันธุ์ ไม่ได้เป็นที่พึงทางใจของสังคมเหมือนในอดีตอีกต่อไป 

ทำบุญชาตินี้ ต้องได้บุญชาตินี้ ถึงสมเหตุสมผล ?

ที่มาของโครงการ ULTRA เริ่มจากความต้องการกอบกู้ศาสนาพุทธ ‘นีโอ (รับบทโดย เอม ถาวรศิริ) ’ ซีอีโอหนุ่มมาดน่าเลื่อมใส เพราะเขามองว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศาสนาพุทธถูกมองในแง่ลบ คือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระสงฆ์และสถาบันบางกลุ่มที่ทำพุทธศาสนาต้องมัวหมอง

แต่นีโอก็ยังมองว่าศาสนาเป็นสิ่งจำเป็น จึงสร้างทางเลือกใหม่ขึ้นมา ภายใต้แนวคิดผู้ที่จะมาสอนธรรมะจะต้องเป็นตัวแทนของพระธรรมโดยสมบูรณ์อย่างที่ศาสนาควรจะเป็น จึงกลายมาเป็น ULTRA ที่จดจำพระไตรปิฎกได้ทั้ง 84,000 ข้อ ประมวลผลอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมันยังเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องใช้ข้อมูลขอมนุษย์แม้แต่น้อย หรือพูดให้ชัดคือ มันเป็นผู้สอนศาสนาที่บริสุทธิ์ ไร้มลทิน จึงเป็นภูมิปัญญาที่ใกล้เคียงพระพุทธเจ้ามากที่สุดนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ULTRA ยังมาพร้อมกับระบบ ‘ทำบุญชาตินี้ ต้องได้ใช้ชาตินี้’ ที่สามารถให้แต้มบุญผู้ที่ทำดี ไม่ว่าจะเล็กน้อยอย่างทิ้งขยะให้ถูกถัง หรือ ให้อาหารคนยากไร้ แต่ถ้าทำให้มันเห็น ULTRA ก็จะคำนวณแต้มบุญออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งผู้ใช้ยังเอาไปเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าต่างๆ ได้ เหมือนกับคะแนนส่วนลดจากบัตรเครดิตเลยทีเดียว

การที่ ULTRA เป็นทั้งผู้สอนธรรมะที่สมบูรณ์แบบ และทำให้เราเห็นผลบุญในชาตินี้ ทำให้คนในสังคมตั้งทุกระดับใช้มันกันอย่างบ้างคลั่ง จนเกิดเป็นปรากฏการณ์แย่งกันเป็นคนดีไปทั่ว

“พระก็ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อความอยู่รอด” 

ในขณะเดียวกัน อีกตัวละครหนึ่ง ไม่ได้ คือ ‘พระอเนก (รับบทโดย เร แม๊คโดแนลด์) ’ อดีตวิศวกรไอทีบริษัทดังที่ยังคง เชื่อมั่นในศาสนาวิถีเดิม และเริ่มทนไม่ไหว ที่ต้องมาเห็นความเสื่อมถอยของศาสนาพุทธ ที่เกิดจากความคลั่ง ULTRA ทำให้เขาตัดสินใจ ร่วมมือกับ อดีตเพื่อนร่วมงานรุ่นน้อง ‘อะตอม (รับบทโดย เผือก-พงศธร จงวิลาส) ’ เพื่อสร้าง AI สอนธรรมะ ขึ้นมาแข่งกับ ULTRA

พระอเนกต้องการสร้าง AI ที่ยังคงใกล้เคียงกับพุทธศาสนาดั้งเดิม ตั้งแต่ ตัวโมเดลก็ใช้เป็นพระพุทธรูป ส่วนเสียงและภาพก็ใช้ต้นแบบจากเจ้าอาวาสของวัดตัวเอง แถมเมื่อใช้งานก็จะมี แต้มจิตตะเป็นรางวัล และชื่อก็ยังตั้งว่า IBUDDA เพื่อให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้ามากที่สุด จนทำให้หลังเปิดตัว IBUDDA จึงได้รับความนิยม และเป็นคู่แข่งรายใหญ่ของ ULTRA ให้อีกด้วย

ไม่ว่าอย่างไร ธรรมะก็ต้องมีความเป็นมนุษย์

ไม่ว่าอย่างไร ธรรมะก็ต้องมีความเป็นมนุษย์

ตลอดทั้งเรื่องกว่า 1 ชั่วโมง ศาสดาต้า เต็มไปด้วยการตั้งคำถามถึงธรรมะ การทำบุญ และการเป็นพระคืออะไร ซึ่งหนังก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ถูกต้องแบบตรงๆ แต่เหมือนบอกอ้อมๆ ว่า ต่อให้เทคโนโลยีจะเข้ามาทำแทนมนุษย์ได้ทุกอย่าง แต่ มนุษย์ก็ยังต้องการมนุษย์ด้วยกัน เพื่อมีปฏิสัมพันธ์เชิงจิตวิญญาณต่อกัน

เมื่อดูจบเราจะเห็นว่า ทั้ง BUDDA และ ULTRA ต่างก็มีข้อเสีย เพราะต่อให้ AI จะมีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็ว แต่การสอนธรรมะไม่ได้เป็นเพียงการถ่ายทอดข้อมูลหรือข้อธรรมะอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น ธรรมะต้องอาศัยการตีความและการประยุกต์ใช้ในบริบทของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ AI ยังไม่สามารถทำได้อย่างลึกซึ้งเหมือนมนุษย์

ในทางกลับกัน แม้พระปุถุชนธรรมดา จะเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง เคยทำผิดพลาด อาจจำพระไตรปิฎกไม่ได้ทั้ง 84,000 ข้อ แต่เพราะพวกเขาเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นมนุษย์ที่เคยหลงผิดไม่ต่างจากเรา และบนโลกนี้คงไม่มีใครเข้าใจธรรมะได้เท่าคนที่เคยทำผิดพลาด แต่สามารถกลับตัวกลับใจได้ เพราะมนุษย์เราไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์แบบมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

สุดท้าย ธรรมะ ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนจะตีความ และปรับให้เข้ากับชีวิตตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกหรือผิดชัดเจน แต่สาระสำคัญคือ โลกนี้เราควรมีเพื่อนมนุษย์ที่เป็นที่ถึงทางจิตใจของเราได้ ซึ่งจะช่วยให้เราได้รับคำแนะนำที่จริงใจ อบอุ่น และเมตตา ในแบบที่ AI ทำไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

 

 

related