SPRiNG ชวนไปตกหมึกที่รัฐตรังกานู มาเลเซีย สำรวจเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม เรียนรู้ประมงพื้นบ้าน และประสบการณ์ดี ๆ ที่อยากให้คุณลองมาสักครั้ง
บพท. หรือ บริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาในระดับพื้นที่ ล่าสุด ได้จัดทำโครงการวิจัยในจังหวัดนราธิวาส โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนไทย-มาเลเซีย ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ข้ามพรมแดน หรือ Cross-border Tourism
เราได้ยินคำว่า “การท่องเที่ยวข้ามแดน” (Cross-Boarder Tourism) กันมาสักพักหนึ่งแล้ว เที่ยวในประเทศก็สนุกดี แต่ก็อยากมีประสบการณ์ท่องเที่ยวต่างประเทศเหมือนกัน ติดที่ไม่รู้ว่ารูทท่องเที่ยวไหนบ้างที่น่าสนใจ กว่าจะถึงปลายทางมีอะไรให้ทำบ้าง
SPRiNG ชวนท่องเที่ยวไปกับรูท “สุไหงโก-ลก ตรังกานู” ตั้งต้นกันที่จังหวัดนราธิวาส ผ่านด่านสุไหงโก-ลก มุ่งสู่ปลายทางรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย พาไปเดินชมเมือง แวะซื้อสินค้าที่ถูกกว่าไทย 7 เท่า และไฮไลท์สำคัญคือออกเรือร่วมตกหมึกใน “ฤดูกาลตกหมึก” ประจำปี 2025
จังหวัดนราธิวาสมีต้นทุนที่ดีในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหารการกิน และภาษา แน่นอนว่าคนที่นี่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายู ร้อยทั้งร้อยพูดภาษายาวีได้ แปลว่าสามารถติดต่อพูดคุยกับนักท่องเที่ยวได้อย่างสบาย ๆ
สถิติบอกว่านักท่องเที่ยวจากมาเลเซียข้ามมาเที่ยวฝั่งไทยมากที่สุด ติดอันดับ 1 ทุกปี รองลงมาคือ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 67 - กุมภาพันธ์ 68 นราธิวาสมีจำนวนนักท่องเที่ยว 545,432 คน เป็นต่างชาติถึง 360,756 คน ชาวไทย 184,676 คน
จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่บริเวณด่านสุไหงโก-ลกพบว่า มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียข้ามด่านมาเที่ยวนราธิวาสราว 10,000 คน/วัน ส่วนฝั่งไทยข้ามไปยังนับว่าน้อยอยู่มาก ชาวมาเลเซียที่เข้ามา ส่วนใหญ่มาเที่ยวห้าง แวะคาเฟ่ พักผ่อน ชิมอาหาร (ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมอยู่แล้ว) เช่น ซุปหางวัว เมนูปลากุเลา หรือโรตี เป็นต้น
นราธิวาสมีที่เที่ยวหลายแห่งให้ไป หลัก ๆ ที่ต้องไปให้ได้คือ หาดนราทัศน์ อ่าวมะนาว มัดยิด 300 ปี หรือพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม ซึ่งรวบรวมคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่กว่า 1,000 ปี สำหรับวัยรุ่น ก็จะไปรวมตัวกันที่คาเฟ่ ถ่ายรูปกัน
การหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 67 - กุมภาพันธ์ 68 นราธิวาสกวาดรายได้จากการท่องเที่ยวไปกว่า 1,970 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวไทย 586 ล้าน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,384 ล้าน
ไม่ว่าอยู่จังหวัดใดในไทย คุณก็สามารถมาเที่ยวที่นราธิวาสได้ เพราะมีเครื่องบินตรง สะดวกสบายสุด ๆ และนำไปสู่ไฮไลท์สำคัญที่อยากจะชวนเปิดโลกไปพร้อม ๆ กันคือ การข้ามด่านสุไหลโก-ลก ขับรถไปเที่ยวที่ตรังกานู
สิ่งที่ต้องเตรียมคือ พาสปอร์ต ถ้ามีรถให้คนขับ ขับรถเข้าด่านไปคนเดียว ส่วนคนที่มาด้วยต้องลงจากรถแล้วเข้าพบเจ้าหน้าที่ประทับตราเข้าเมือง ปั้มลายนิ้วมือ กรอกเอกสารเข้าเมืองทางออนไลน์ แค่นี้จบ ! เสร็จแล้วก็มุ่งหน้าสู่ตรังกานูกันเลย
ระหว่างทางมีร้านอาหาร ร้านฟาสต์ฟูด (KFC) คาเฟ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต อยู่เป็นระยะ หรือใครอยากแวะซื้อเสื้อผ้า รองเท้าวิ่ง รองเท้ากีฬา ก็มีเหมือนกัน ข้อดีคือ สินค้าราคาไม่แพงเกินไป สินค้าส่วนใหญ่ตั้งราคาถูกกว่าที่ไทย
*หมายเหตุ 1 RM = 7.7 บาทไทย
ในแง่วัฒนธรรม ตรังกานูกับนราธิวาส มีจุดร่วมกันอยู่หลายข้อ ทั้งสองเป็นรัฐอิสลาม ดังนั้น อาหารการกิน ภาษา ก็จะเหมือน ๆ กัน แล้วตรังกานูมีอะไรให้ทำบ้าง ส่วนใหญ่แล้วคนที่มาที่นี่ก็หวังมาเที่ยวชายหาด ออกเรือชมทะเลสวย ๆ กัน ไม่ก็ขับรถรวมกลุ่มกันมาเที่ยว จากด่านสุไหลโก-ลก ถึงใจกลางเมืองตรังกานู ใช้เวลาขับรถประมาณ 2 ชม.
แต่นอกจากที่เที่ยวที่ว่าไปแล้ว ตรังกานูยังมีห้างสรรพสินค้า มัสยิดคริสตัล ฯลฯ สิ่งที่น่าจะคุ้นเคยกับคนไทยมากที่สุดคือ อากาศที่ค่อนข้างร้อน ร้อนทั้งวัน ร้องตั้งแต่เช้า ตกค่ำแล้วอากาศถึงเย็นลง โดยเฉพาะเมื่ออยู่กลางทะเล
เปิดฉากอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ “ฤดูกาลตกหมึก" ประจำปีของรัฐตรังกานู หรือ Musim Candat Sotong Terengganu 2025 ซึ่งมักจัดในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีหมึกชุมมากที่สุด
SPRiNG มีโอกาสเข้าร่วมงานเปิดฤดูกาลตกหมึกด้วยการออกเรือออกสู่ท้องทะเลกว้างพร้อมกันกว่า 100 ลำ เราตั้งต้นกันที่ท่าเรือท่องเที่ยวมารัง (Jeti Pelancongan Marang) ชาวประมงบนเรือให้ข้อมูลว่า ต้องออกไปไกลจากชายฝั่งราว 10 กิโลเมตร ไปยังแหล่งที่มีหมึกชุกชุม
ทั้งนี้ เรือแต่ละลำก็มีความแตกต่างกัน บางลำออกไปเพื่อไดหมึกโดยเฉพาะ ส่วนเรือของเรานั้นออกไปตกหมึกแบบ Manual ตกได้ทีละตัวด้วยคันตกหมึก เห็นแบบนี้ไม่ง่าย ! ชาวประมงเล่าให้ฟังว่า แม้ทะเลจะมีหมึกเยอะ แต่ไม่ใช่ใครก็ตกได้
เคล็ดลับคือ ปล่อนเอ็นเบ็ดลงไปจนสุดก้นทะเล จากนั้นให้เผื่อช่องว่างระหว่างพื้นไว้เล็กน้อย จากนั้นออกแรงดึงขึ้นเป็นระยะ สิ่งที่ยากคือ เราแทบจะเดาไม่ออกเลยว่าตอนนั้นหมึกติดหรือยัง บางจังหวะก็เดาถูก ได้หมึกตัวเบ้อเริ่ม บางจังหวะก็คว้าน้ำเหลวไป
บนเรือมีชาวประมงราว 7-8 คน แต่ละคนมีหน้าที่ของตัวเอง สิ่งที่ทุกคนฉกาจมากคือ สกิลตกหมึก หย่อนลงไปไม่นาน คีบบุหรี่ไว้ คุยกันเพลิน ๆ พวกเขาจะรู้ทันทีว่าจังหวะกระตุกแบบไหนที่หมึกติดแล้ว เห็นมากับตา ไม่พลาดสักช็อตเดียว !
อุตสาหกรรมประมงมีความสำคัญกับรัฐตรังกานูมาก ชาวประมงท้องถิ่นเล่าให้ฟังว่าช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม ของทุกปี ชาวปะมงแถบนี้ จะมารวมตัวกันที่ตรังกานู เพื่อเปิดทัวร์ประมงรองรับนักท่องเที่ยว ส่วนเดือนอื่น ๆ ก็จะไปทำปละมงรูปแบบอื่น กล่าวคือ ชาวประมงและผู้ประกอบการ มีรายได้ตลอดทั้งปี
แต่ละปี กิจกรรมตกหมึกของรัฐตรังกานูดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่า 30,000 คนทั่วโลก ทั้งไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ จีน ฝรั่งเศส ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากที่สุดก็คือ ตกหมึก/ไดหมึกนี่แหละ เรียกได้ว่าเป็นฤดูกาลที่หลาย ๆ คนรอคอยเลยก็ว่าได้ ที่สำคัญคือ สามารถบินตรงมาได้เลย
เสน่ห์อย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวก็คือ การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม อาหารการกิน กับคนท้องถิ่น ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากที่ไหน การท่องเที่ยวข้ามแดนถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ นราธิวาสเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีด่านข้ามแดนเยอะ และนี่ก็เป็นเรื่องราวจาก รูท สุไหงโก-ลก ตรังกานู ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง
*หมายเหตุ ทีมข่าวสปริงนิวส์ได้ร่วมเดินทางนราธิวาส-มาเลเซีย ภายใต้การดูแลของ บพท.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง