svasdssvasds

สรุปสถานการณ์เดือด ช็อกมิ้นต์การเมือง เดือนกรกฎาคม 2566

สรุปสถานการณ์เดือด ช็อกมิ้นต์การเมือง เดือนกรกฎาคม 2566

สถานการณ์การเมืองเดือด เดือนกรกฎาคม 2566 “เพื่อไทย” ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จับตา “ก้าวไกล” จะถูกดีดออกจากสมการพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ หลัง “เพื่อไทย” เจรจากับเหล่าพรรคต่างขั้ว ดูดช็อกมิ้นต์กันอย่างชื่นมื่น

สถานการณ์การเมืองไทย ยังคงร้อนระอุ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม ก็มีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่ “ศึกประธานสภาฯ” ระหว่าง “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” ที่สุดท้ายแล้ว “เพื่อไทย” อาศัยความเขี้ยวทางการเมือง ชงชื่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา”

จาก “พรรคประชาชาติ” ก่อน “วันโหวตประธานสภาฯ” แค่ 2 วัน ทำให้ “ก้าวไกล” ตั้งตัวไม่ทัน พ่ายศึกประธานสภาฯ ไปในที่สุด โดย “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ได้รับการโหวตเป็น “ประธานสภาฯ” แบบไร้คู่แข่ง ในวันที่ 4 กรกฎาคม

ไฮไลต์ถัดมาก็คือ วันที่ 9 กรกฎาคม ในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ที่เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รักษาการเลขาฯ กับฝั่งของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่หวังผลักดันให้ “เดอะมาร์ค รีเทิร์น” แต่สุดท้ายองค์ประชุมไม่ครบ จึงต้องเลื่อนอีเวนต์ดังกล่าวออกไปอีก

ช็อตต่อมา ก่อนที่จะถึงวันโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก แค่ 1 วัน กกต. ก็มีมติยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมพิธาถือหุ้นไอทีวี ในวันที่ 12 กรกฎาคม และเมื่อถึงวันโหวตเลือกนายกฯ 13 กรกฎาคม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ก็ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ได้เสียงสนับสนุน 324 เสียง ไม่ผ่านเกณฑ์ 376 เสียง โดยได้เสียงจาก สว. เพียงแค่ 13 เสียงเท่านั้น

ซึ่งจากคะแนนดังกล่าว ที่เหล่า สว. ส่วนใหญ่ งดออกเสียง ทำให้ในวันที่ 14 กรกฎาคม “ก้าวไกล” ประกาศศึกกับ สว. ด้วยการยื่นแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ สว. และได้เปิดยุทธศาสตร์ 2 สมรภูมิ โดยแนวรบที่ 1 คือการโหวตเรื่องนายกฯ ส่วนแนวรบที่ 2 คือการแก้มาตรา 272

แต่กูรูการเมืองหลายคนก็มองว่า เป็นสิ่งไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะในการแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คนขึ้นไป เรียกว่ายากยิ่งกว่า การโหวตเลือกนายกฯ ด้วยซ้ำ

สรุปสถานการณ์เดือด ช็อกมิ้นต์การเมือง เดือนกรกฎาคม 2566

บทความที่น่าสนใจ

และแล้วก็มาถึงวันโหวตเลือกนายกฯ รอบ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคม โดย 8 พรรคร่วมฯ ยังคงมีมติหนุน “พิธา” ชิงตำแหน่ง โดยในวันเดียวกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติ รับคำร้อง กกต. ปมหุ้นสื่อ และสั่งให้ “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนเหตุการณ์ในสภา จบลงที่สภา (สส.+ สว.) มีมติ ไม่สามารถเสนอ “พิธา” เป็นนายกฯ ซ้ำได้

ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการให้สภาลงมติว่า “สามารถเสนอพิธาเป็นนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่” ก็ทำให้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างหนัก เพราะจริงๆ แล้วสามารถใช้อำนาจประธานสภา ในการวินิจฉัยได้ และทำให้หลายคนนึกถึงคำเตือนของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาฯ คณะก้าวหน้า ที่ย้ำอย่างหนักแน่นหลายครั้งว่า “ก้าวไกล” ต้องยึด “เก้าอี้ประธานสภา” ไว้ให้มั่น หากไม่ต้องการหลุดจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล  

เมื่อ “พิธา” ไปต่อไม่ได้ 8 พรรคร่วมก็ได้มีการประชุม จนมีมติให้ “เพื่อไทย” ขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดย “เพื่อไทย” ได้เชิญพรรครัฐบาลเดิม หรือเหล่าพรรคต่างขั้ว เข้ามาเจรจาในวันที่ 22 และ 23 กรกฎาคม ได้แก่ ภูมิใจไทย , รวมไทยสร้างชาติ , ชาติพัฒนากล้า , ชาติไทยพัฒนา และพลังประชารัฐ

โดยภาพการดูดช็อกมิ้นต์กันอย่างชื่นมื่น ระหว่างแกนนำเพื่อไทย และแกนนำพรรคต่างขั้ว ก็เป็นที่บาดตาบาดใจประชาชนส่วนหนึ่งเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การบุกสาดแป้งที่ทำการพรรคเพื่อไทย ระหว่างแกนนำเพื่อไทย เจรจากับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงเย็นวันที่ 23 กรกฎาคม จนต้องยุติการแถลงข่าวร่วมกันของทั้ง 2 พรรค

สรุปสถานการณ์เดือด ช็อกมิ้นต์การเมือง เดือนกรกฎาคม 2566

ซึ่งผลสรุปจากเจรจา “พรรคต่างขั้ว” มีเงื่อนไขว่า ต้องไม่แก้ มาตรา 112 และหลายพรรคถึงกับระบุว่ามาอย่างชัดเจนว่า ต้องไม่มี “ก้าวไกล” อยู่ในสมการ

แม้ต่อมา “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะออกมาแก้ข่าวว่า ยังไม่ได้ชวน “พรรคต่างขั้ว” เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่เป็นการพูดคุยปรึกษาหารือกัน เพื่อหาทางออกในการจัดตั้งรัฐบาล แต่สังคมก็ไม่ค่อยเชื่อนัก โดยต่างมองว่า สิ่งที่ “เพื่อไทย” ทำ “เป็นการยืมดาบฆ่าคน” ยืมปากพรรคต่างขั้ว ไล่ “ก้าวไกล” ออกจากสมการจัดตั้งรัฐบาล

และด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ออกไปในทางที่ไม่ส่งผลดีนัก ทำให้หลังจากนั้น “เพื่อไทย” ได้ปรับท่าที ลดการเร่งเกมในการจัดตั้งรัฐบาลลง พร้อมทั้งยืนยันว่า การจัดตั้งรัฐบาลยังคงมี 8 พรรคร่วมฯ ที่จับมือกันอย่างเหนียวแน่นเป็นหลัก

ต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “มติสภาที่ว่า ไม่สามารถเสนอพิธาเป็นนายกฯ ซ้ำได้ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่” ทำให้ในวันต่อมา “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภา ต้องออกมาประกาศ เลื่อนกำหนดโหวตนายกฯ รอบ 3 อย่างไม่กำหนด จากเดิมที่ไว้ในวันที่ 27 กรกฎาคม

และในช่วงเวลานั้น ก็มีข่าวสะพัดออกมาเกี่ยวกับการเดินทางไปฮ่องกงเพื่อพูดคุยกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ทั้งคนของ “เพื่อไทย” , พรรคต่างขั้ว รวมถึง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า เพื่อเจรจาหาหนทางในการจัดตั้งรัฐบาล

ก่อนที่เกิดข่าวใหญ่ในระดับแผ่นดินไหวทางการเมือง เมื่อ "อุ๊งอิ๊งค์ - แพทองธาร ชินวัตร" ได้ประกาศในวันที่ 26 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ “ทักษิณ ชินวัตร” ว่า “ทักษิณจะกลับเมืองไทย ในวันที่ 10 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ อย่างแน่นอน    

สถานการณ์ทางการเมืองยังร้อนระอุต่อไป ซึ่งในเดือนกรกฎาคมที่ร้อนแรงแล้ว แต่คาดกันว่า ในเดือนสิงหาคม จะเร่าร้อนยิ่งขึ้นอีกหลายเท่า โดยเฉพาะวันที่ 10 สิงหาคม ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” จะเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากที่อยู่ต่างแดนมาเป็นเวลา 15 ปี

สรุปสถานการณ์เดือด ช็อกมิ้นต์การเมือง เดือนกรกฎาคม 2566

related