svasdssvasds

ธนาธรโชว์วิสัยทัศน์ ยกระดับไทย 5 ด้าน ชี้กู้มาใช้กับเงินดิจิทัลไม่จำเป็น

ธนาธรโชว์วิสัยทัศน์ ยกระดับไทย 5 ด้าน ชี้กู้มาใช้กับเงินดิจิทัลไม่จำเป็น

ธนาธรโชว์วิสัยทัศน์ เปลี่ยนประเทศ 5 ด้าน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ชี้ไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงิน 5 แสนล้านกับดิจิทัลวอลเล็ต แต่ควรลงทุนทำประปา-อัพเกรดโรงเรียนและอาชีวะ-รถเมล์อีวี-จัดการขยะ-เทเลเมดิซีน ที่ใช้เงินแค่ 456,900 ล้านเท่านั้น

วันที่ 17 พ.ย. 66 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดบรรยายสาธารณะในหัวข้อ “ประเทศไทยควรได้อะไร หากต้องใช้ 5 แสนล้าน” เพื่อเสนอให้ใช้งบประมาณของประเทศอย่างคุ้มค่า สร้างการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมๆ กัน

โดยธนาธรเสนอหากมีเงิน 5 แสนล้าน สิ่งที่ควรทำก็คือการกระจายเงินไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 ด้าน นอกเหนือจากงบประมาณประจำที่รัฐต้องจ่ายอยู่แล้ว ได้แก่

• สร้างระบบแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ทั่วประเทศ 60,900 ล้านบาท

• รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด 88,000 ล้านบาท

• น้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ 67,000 ล้านบาท

• ลงทุนเพิ่มศักยภาพโรงเรียน 121,000 ล้านบาท

• จัดการขยะอย่างถูกสุขลักษณะทั่วประเทศ 120,000 ล้านบาท

รวม 456,900 ล้านบาท

ธนาธรโชว์วิสัยทัศน์ เปลี่ยนประเทศ 5 ด้าน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

ทั้งนี้ธนาธรสรุปว่า การใช้เงินเกือบ 5 แสนล้านพัฒนาประเทศ 5 ด้านนี้ หากไม่ใช้เงินกู้ 5 แสนล้าน แต่ใช้งบประมาณแผ่นดินปกติ ทยอยทำ 8 ปี ก็จะตกปีละ 60,000 ล้าน ซึ่งตนเชื่อว่าสามารถหาได้โดยไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม เพราะแต่ละโครงการต้องค่อยๆ ทยอยทำอยู่แล้ว ไม่สามารถเกิดขึ้นทีเดียวภายใน 2-3 ปีได้ และถึงแม้ 5 แสนล้านจะเป็นจำนวนเงินที่มาก แต่ตนถือว่าคุ้มค่าอย่างยิ่งหากนำมาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทย เดินหน้าสู่การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าและมีรายได้สูง ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาอีกต่อไป

 

สาธารณสุข

ธนาธรเสนอว่าการทำเทเลเมดิซีน หรือการแพทย์ทางไกล (telemedicine) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ ไม่ต้องรอคิวตรวจที่โรงพยาบาลนานหลายชั่วโมง โดยมีเครื่องตรวจวัดความดัน ค่าน้ำตาลในเลือด สัญญาณชีพต่างๆ ในทุกหมู่บ้าน เก็บขึ้นคลาวด์อย่างเป็นระบบ สามารถพบแพทย์ได้ผ่านหน้าจอ หากอาการป่วยไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เทเลเมดิซีนไม่เพียงทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย ประหยัดค่าใข้จ่ายและเวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาล แต่ยังจะทำให้ไทยมีระบบจัดเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชนที่สามารถใช้คาดการณ์งบประมาณด้านสาธารณสุได้

คมนาคม

ธนาธรเสนอว่าควรมีการจัดทำบริการรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์การลดฝุ่นละออง PM2.5 ลดการใช้พลังงานฟอสซิล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใข้พลังงานโดยประชาชนจะใช้รถส่วนตัวน้อยลง ยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การทำงาน การประกอบธุรกิจของประชาชนครั้งใหญ่ ที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างระบบอุตสาหกรรมรถเมล์ไฟฟ้า เพราะในอนาคตเทรนด์โลกคือการใช้รถไฟฟ้าอยู่แล้ว ซึ่งรถเมล์ในไทยจะถูกทยอยเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด

ประปา

ธนาธรกล่าวว่าประเทศที่เจริญแล้วล้วนมีน้ำประปาที่ดื่มได้ เพื่อลดรายจ่ายของประชาชน โดยจากข้อมูลของ Rocket Media Lab คนไทยต้องทำงานถึง 27 นาทีเพื่อซื้อน้ำกิน 1 วัน แต่คนฝรั่งเศสใช้เวลาเพียง 9 นาทีเท่านั้นในการทำงานเพื่อให้ได้เงินมาซื้อน้ำกิน 1 วัน น้ำประปาอาจสามารถสามารถทำให้ดื่มได้ใน 99 วัน และยังมีการพัฒนาต่อยอดติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์ เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำ และออกบิลค่าน้ำอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้คนเดินจดมิเตอร์ สิ่งนี้สามารถเกิดได้ทั่วประเทศ โดยใช้งบ 67,000

การจัดการขยะ

ธนาธรกล่าวว่า เมืองไทยลงทุนเรื่องจัดการขยะน้อยเกินไปมาก ทำให้ขยะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในเทศบาลตำบลหนองพอก ร้อยเอ็ด คณะก้าวหน้าได้ทำให้เห็นแล้วว่า หากท้องถิ่นจริงจังในการแยกขยะเปียกจากขยะแห้งและขยะรีไซเคิล จะสามารถลดปริมาณขยะได้ทันทีอย่างน้อย 50% และสามารถฝังกลบหรือเผาขยะ และขายขยะต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น ธนาธรเสนอให้ใช้งบประมาณ 120,000 ล้าน เพื่อลงทุนซื้อรถขยะที่มีประสิทธิภาพ สร้างบ่อขยะและโรงเผาขยะที่สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐานสากล ไม่ปล่อยมลภาวะหรือสารพิษปนเปื้อน

การศึกษา

ธนาธรย้ำว่าการลงทุนในการศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็นและคุ้มค่าอย่างสูงสุด เพราะในยุคเทคโนโลยีดิสรัปต์ คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนทักษะของอนาคต เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อให้รอดจากภาวะ AI และระบบ automation เข้ามาแทนที่มนุษย์ ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับอาชีวะศึกษาน้อยเกินไป เพราะมัวแต่คิดว่าเด็กอาชีวะต้องตีกัน ทั้งที่ในประเทศพัฒนาแล้ว ทักษะและวิชาชีพช่าง เป็นสิ่งที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีอย่างสูงและได้รับการสนับสนุนอย่างมากโดยรัฐ ซึ่งเราสามารถเพิ่มการลงทุนในโรงเรียนและอาชีวะศึกษาได้ โดยการปรับปรุงอาคารสถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย ให้กับโรงเรียนแห่งละ 500,000 - 3 ล้านบาท และสถานศึกษาระดับอาชีวะ แห่งละ 20 ล้านบาททุกแห่งทั่วประเทศ รวม 121,000 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

related