svasdssvasds

ถอดบทเรียน"น้องจีฮุน" สสส.-ศวปถ. เสนอ 4 มาตรการแก้ปัญหาลืมเด็กในรถ

ถอดบทเรียน"น้องจีฮุน" สสส.-ศวปถ. เสนอ 4 มาตรการแก้ปัญหาลืมเด็กในรถ

สสส.-ศวปถ.วอนให้เหตุการณ์ “น้องจีฮุน” ลืมเด็กในรถ เป็นกรณีสุดท้าย เสนอหน่วยงานรับผิดชอบ เน้นกำกับเข้มข้น-ต่อเนื่อง พร้อมเพิ่มขั้นตอน "Double Check" เฝ้าระวังดูแล สร้างความปลอดภัยนักเรียนบนรถรับ-ส่ง ให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

 จากเหตุการณ์ที่ น้องจีฮุน นักเรียนชั้น ป.2 อายุ 7 ขวบ ถูกลืมบนรถรับ-ส่งนักเรียน และเสียชีวิตภายในรถตู้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลของกรมควบคุมโรคปี 2557-2563 มีกรณีลืมเด็กในรถโดยเฉพาะเด็กเล็ก ถูกลืมไว้ในรถมากถึง 129 ครั้ง ในจำนวนนี้มีเด็กเสียชีวิต 6 ราย เป็นรถตู้รับ-ส่งนักเรียน 5 ราย และเป็นรถส่วนบุคคลของครู 1 ราย

 เมื่อเด็กติดอยู่ในรถ และจอดตากแดดเป็นเวลานาน อุณหภูมิในรถจะเพิ่มขึ้น 10 องศาเซลเซียส และค่อยเพิ่มขึ้นได้ถึง 40-50 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิดอาการ "ฮีทสโตรก" เกิดภาวะเลือดเป็นกรด อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ทั้งระบบหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด และไต จนทำให้เสียชีวิต 

 จึงขอเน้นย้ำการดูแลเช็กเด็กก่อนขึ้นลงรถทุกครั้ง เพื่อให้เคสน้องจีฮุน เป็นเหตุการณ์สุดท้ายในการลืมเด็กบนรถจนเสียชีวิตในที่สุด

มาตรการในแก้ไขปัญหาเด็กติดในรถ

1. การเช็กจำนวนเด็กนักเรียนทั้งก่อนขึ้นรถและหลังลงจากรถ

2. การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างที่หลายๆ โรงเรียนทำ คือ ระบบสแกนบัตรนักเรียน เพื่อให้ผู้ปกครองและครูทราบว่าเด็กเข้าโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว และการติดกล้องในรถเพื่อบันทึกภาพสำหรับตรวจเช็ค

3. การฝึกฝนให้นักเรียนสามารถช่วยเหลือตนเองบนรถขั้นเบื้องต้นได้ เช่น สอนการเปิดประตู การบีบแตร การร้องขอความช่วยเหลือ

4. การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิตในรถรับ-ส่งนักเรียน เช่น ค้อนทุบกระจกกรณีฉุกเฉิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ครอบครัวน้องจีฮุน ร้อง ก.ยุติธรรม แจ้งข้อหา "ครู-คนขับ" ทิ้งเด็กไว้ในรถ

• หลีกเลี่ยงเหตุสลด ลืมเด็กไว้ในรถ ด้วย 3 วิธีสอนลูกเอาตัวรอดเบื้องต้น

• ลืมเด็กไว้ในรถโรงเรียน ใช้เทคโนโลยี แก้ได้แค่ปลายเหตุ ต้องเริ่มที่คน

 ซึ่งทั้ง 4 ข้อ ยังขาดการติดตามกับดูแล ศวปถ. จึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกข้อกำหนดในการดูแลเฝ้าระวัง และทำการตรวจสอบแบบ 2 ชั้น หรือ "Double Check" เหมือนการเช็คผู้โดยสารบนเครื่องบิน ที่เช็คทั้งก่อนขึ้นเครื่องบิน บนเครื่องบิน และหลังลงจากเครื่องบิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเด็กนักเรียนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการกำหนดบทบาทหน้าที่ครูหรือเจ้าหน้าที่ ที่จะมาทำหน้าที่ในแต่ละครั้งให้ชัดเจน และมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

 นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า การลืมเด็กในรถรับ-ส่งนักเรียน และรถส่วนตัวของผู้ปกครองพบได้บ่อยครั้ง แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 นักเรียนเรียนออนไลน์จึงไม่ค่อยพบปัญหานี้ แต่ขณะนี้โรงเรียนในหลายจังหวัดเปิดภาคเรียนได้ตามปกติ จึงต้องดูแลความปลอดภัยให้เป็นเรื่องพื้นฐานและเข้มงวดมากขึ้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายมองให้เห็นปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ

 นอกจากปัญหาการลืมเด็กในรถแล้ว สสส.ยังให้ความสำคัญกับปัญหารถรับ-ส่งนักเรียนด้านอื่นๆ อีก อาทิ อุบัติเหตุบนถนนของรถรับ-ส่งนักเรียน ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มพบมากขึ้นจากการเปิดเรียน ข้อมูลที่รวบรวมโดย ศวปถ. ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย.65 พบอุบัติเหตุรถรับ-ส่งนักเรียน 16 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บมากกว่า 165 คน การป้องกันอุบัติเหตุในรถรับ-ส่งนักเรียน จึงควรต้องมีทั้ง กำหนดเป็นนโยบายสำคัญของโรงเรียน มีมาตรฐานรถและคนขับ การคาดเข็มขัดนิรภัยบนรถ กำกับความเร็วของรถรับ-ส่งนักเรียน และสร้างเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนดูแลในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกด้าน

related