svasdssvasds

สรุปให้! หลุดว่อนเอกสาร "มีชัย - บิ๊กตู่" ปมวาระนายกฯ 8 ปี

สรุปให้! หลุดว่อนเอกสาร "มีชัย - บิ๊กตู่" ปมวาระนายกฯ 8 ปี

จากกรณีที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีมติเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยปม 8 ปี ล่าสุดได้มีเอกสารที่อ้างว่าเป็นของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และเอกสารที่อ้างว่าเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหลุดมาในโซเชียล

 จากกรณีที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีมติเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยปม 8 ปี และให้ "พล.อ.ประยุทธ์" ส่งคำชี้แจงภายใน 15 วัน ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการขอคำชี้แจงจากนายมีชัย ฤชุพันธ์ุ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  "นายปกรณ์ นิลประพันธุ์" เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เกี่ยวกับบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500/2561 ในช่วงที่ผ่านมา 

ปรากฎว่า ทั้ง"นายมีชัย  และนายปกรณ์" รวมถึงทีมกฎหมายของนายกรัฐมนตรี ได้ส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  

 ทั้งนี้โลกโซเชียล ได้มีการเผยแพร่ เอกสารคำชี้แจงโดยอ้างว่าเป็นของ "นายมีชัย ฤชุพันธุ์" จำนวน 3 หน้า โดยมีเนื้อหาชี้แจงปมการนับวาระดำรงตำแหน่งของ "พล.อ.ประยุทธ์" ซึ่งสาระสำคัญอยู่หน้าที่สอง กำหนดให้นับวาระดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ไว้ดังนี้ 

ข้าพเจ้ามีความเห็นในประเด็นดังกล่าวดังต่อไปนี้ 

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ตามที่ปรากฎในพระบรมราชโองการในวรรคห้า และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ผลบังคับใช้ จึงมีตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560  เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบก่อนวันที่รัฐธรรมนูยแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องปม 8 ปีนายกฯ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ช่วงรอคำวินิจฉัย

• เปิดขั้นตอน ระยะเวลาการพิจารณาวินิจฉัยปม 8 ปีนายกฯ ของศาลรัฐธรรมนูญ

• มติ กกต. ไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปม 8 ปีนายกฯ อ้าง ส.ส.ยื่นศาลฯ แล้ว

2. ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ (มาตรา 160 ) ที่มา (มาตรา 88 ) วิธีการได้มา (มาตรา 159 และมาตรา 272 ) กรอบในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 164 ) ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง (มาตรา 158 วรรคสี่ ) และผลจากการพ้นตำแหน่ง (มาตรา 168 ) ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา  และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ บทบัญญัติต่างๆเหล่านั้น จึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใชับังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ โดยหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดขึ้นย่อมต้องมุ่งหมายที่จะใช้กับคณะรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช  2560  

สรุปให้! หลุดว่อนเอกสาร "มีชัย - บิ๊กตู่" ปมวาระนายกฯ 8 ปี

3. อย่างไรก็ตาม การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก่อน แต่ประเทศไทยไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า " 

สรุปให้! หลุดว่อนเอกสาร "มีชัย - บิ๊กตู่" ปมวาระนายกฯ 8 ปี

ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชกรแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ... " โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติและการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้เป็นการเฉพาะ

4. โดยผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560  และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นไป

สรุปให้! หลุดว่อนเอกสาร "มีชัย - บิ๊กตู่" ปมวาระนายกฯ 8 ปี

 สำหรับรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้านั้น ขอเรียนว่า เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน  2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้  ในรายงานการประชุมดังกล่าวมีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ  ดังจะเห็นได้ว่าในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาความมุ่งหมายของมาตรา 183 ที่บันทึกไว้ว่า " ประธานกรรมการกล่าวว่า การตีความว่าหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาตรากฎหมายโดยกำหนดให้ตนเองได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ ย่อมถือเป็นกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาดำเนินการไปโดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ประสงค์ให้บุคคลดังกล่าวได้รับเงินนั้น อาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากโดยหลัก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีอำนาจตราพระราชกฤษฏีกาได้ และการกำหนดค่าตอบแทนต่างๆไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอาจตราพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฏีกาเกี่ยวกบบำเหน็จบำนาญได้"  ซึ่งเป็นความที่ฝืนต่อความเป็นจริง และข้าพเจ้าไม่พูดเช่นนั้น เพราะย่อมรู้อยู่เป็นพื้นฐานว่า การตราพระราชกฤษฏีกาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  มาตรา 175 ) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้  หรือฝ่ายนิติบัญญัติมอบอำนาจให้ผ่านทางพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้  ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปก รายงานการประชุมทุกครั้งว่า "บันทึกการประชุมนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใดๆ ผู้นั้นรับผิดชอบ"

 ล่าสุดวันนี้ (7 ก.ย.) มีรายงานว่า ได้มีการเผยแพร่เอกสาร อ้างว่า เป็นเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพิจารณาคำร้องวาระ 8 ปีนายกรัฐมนตรี โดยเอกสารดังกล่าวมีทั้งสิ้น 23 หน้า ชี้แจงรายละเอียดเป็นข้อๆ ทั้งสิ้น 8 ข้อ ดังนี้

ข้อ 1 ยืนยันว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จากปี 2557 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตนเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งแรก ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ตนก็ยังคงดำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จนมีการเลือกตั้ง และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งผู้ร้องไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกได้ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตน ตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ด้วยเช่นกัน การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนครั้งแรก จึง ”ขาดตอน” จากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ (6 เม.ย. 2560) จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลา การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก กับการเป็นนายกรัฐมนตรี หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้

 ส่วนการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ วันที่ 6 เม.ย. หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้ง ในปี 2562 ดังนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรี หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไปแล้ว

ข้อ 2 การกำหนดระยะเวลา 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 เป็นการกำจัดสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติโดยชัดแจ้งว่า หมายรวมถึงความเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น และโดยหลักตีความทางกฎหมายแล้ว หากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน จะตีความในทางจำกัดสิทธิบุคคลไม่ได้ ซึ่งตรงกับแนวทาง ของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่ตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 มาเพื่อพิจารณากรณีวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน  ได้แก่  

• นายมีชัย ฤชุพันธุ์ 

• นายนรชิต สิงหเสนี 

• นายธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย  

• นายประพันธ์ นัยโกวิท

• นายปกรณ์ นิลประพันธ์ 

• นายอัชพร จารุจินดา

• นายอุดม รัฐอมฤต

โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 7 คน เห็นว่า บทบัญญัติ กำหนดวาระ 8 ปี ดังกล่าว หมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น

สรุปให้! หลุดว่อนเอกสาร "มีชัย - บิ๊กตู่" ปมวาระนายกฯ 8 ปี

ข้อ 3 ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยถึงสถานะความเป็นรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 และ 2561 เกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีของ ว่า คณะรัฐมนตรี ที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ถือเป็นรัฐมนตรี นับจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 

ข้อ 4 ยืนยันว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตน ไม่ขัดกับหลักมาตรฐานสากล และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศ ตามมาตรฐานสากล เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม ไม่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจอยู่แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยาวนานเกินไป ไม่ปล่อยให้คนทุจริต มีอำนาจทำการทุจริตได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และข้อกำหนดนี้มิใช่ทำเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง 

 ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ยังระบุคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ข้าพเจ้าสำนึกและปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตลอดมาด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและด้วยความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในหน้าที่และประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน สูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด ข้าพเจ้าเชื่อว่า สำนึกในการปฏิบัติหน้าที่และดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อํานาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอันเป็นหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ไม่ใช่เฉพาะแต่ฉบับ 2560 

 นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ข้าพเจ้าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ตราบใด ที่ข้าพเจ้าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตน ในลักษณะที่เป็นเหตุให้เสียหายต่อประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์สาธารณะของประชาชนแล้ว ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้า ก็ไม่ได้ขัดต่อหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อย่างใด 

ข้าพเจ้าเชื่อโดยสุจริต บนพื้นฐานของหลักกฎหมาย หลักนิติธรรมและมาตรฐานสากลว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้า ในปัจจุบันยังไม่เกิน 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2557 ซึ่งสิ้นสุดลงไปแล้ว มานับรวมกับนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ได้

สรุปให้! หลุดว่อนเอกสาร "มีชัย - บิ๊กตู่" ปมวาระนายกฯ 8 ปี

ข้อ 5 บันทึกการประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 เมื่อปี 2561 ที่ระบุความเห็นของ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สามารถนับรวมระยะเวลาก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ได้นั้น พบว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่บันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงบทสนทนาของนายมีชัย กับนายสุพจน์ ไข่มุก เท่านั้น 

ข้อ 6 ข้ออ้างที่ระบุ ว่า ข้าพเจ้าไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ว่า เป็นนายกรัฐมนตรีมาต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถนำมาพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้ 

ข้อ 7 ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตีความและใช้รัฐธรรมนูญ วินิจฉัยลักษณะและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไม่ใช่ตามข้อเท็จจริงรับรู้โดยทั่วไปของประชาชน เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะการรับฟังข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไป เป็นหลักที่ใช้ในการฟังพยานหลักฐานของศาลเท่านั้น ไม่ใช่หลักกฎหมายที่ใช้ในการตีความกฎหมาย

 ข้อ 8 ขอกล่าวโดยสรุปว่า การกล่าวหาว่า ตนดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ร้อง และขอย้ำว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อาจนับ จากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 ได้ เพราะความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของข้าพเจ้าได้สิ้นสุดลงแล้ว และขาดตอนไปแล้ว นับจากวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ และการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกไม่เกิน 8 ปีนั้นหมายถึง การดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น

 ดังนั้น ข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ยังไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและตามหลักนิติธรรม จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้ายังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 และตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ขอยื่นแก้ข้อกล่าวหา ลงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ล่าสุดเมื่อเวลา 14.30 น. ของวันที่ 7 ก.ย. 65 นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดแถลงว่า ขณะนี้ปมวินิจฉัย "นายก 8 ปี"  ถือว่าอยู่ในกระบวนการพิจารณา ส่วนที่การที่มีการเผยแพร่คำชี้แจงของฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง กอปรกับมีข่าวสารรั่วไหล ทำให้ศาลรธน.ต้องพึงระมัดระวัง เพิ่มความรอบคอบแม้ไม่ทราบว่าหลุดจากไหน อย่างไร เป็นเรื่องที่ศาลรธน. ต้องเพิ่มมาตรการเข้มงวดรัดกุม และยังยืนไม่ได้ว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ เพราะเห็นพร้อมกันกับสื่อ

 เลขาศาลรธน. แจกแจง ขั้นตอนการพิจารณา ปมนายกฯ 8 ปีว่า  ระยะเวลา กฎหมายกำหนดไว้ในคดีบางเรื่อง เช่น พรก. ร่างแก้ไขรธน. สนธิสัญญา กำหนดกรอบเวลาเฉพาะเจาะจง 15- 30 วัน แต่กรณีนี้ ไม่มีกรอบเวลา ส่วนการประชุมศาลรธน. วันพรุ่งนี้ เป็นเรื่องสำคัญ ศาลให้ความสำคัญการกำหนดเวลาเมื่อหนึ่งเมื่อใด นั้นมีจุดเดียวที่ศาลกำหนด ถ้าเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการพิจารณา เพียงพอต่อการวินิจฉัย ให้ยุติ เพื่อกำหนดประเด็นการวินิจฉัยจากนั้นศาลรธน.จะนัดอ่านความเห็นของแต่ละท่าน ปรึกษากัน และลงมติ 

เลขาธิการศาลรธน. อธิบายต่อว่า โดยปกติคำร้องคู่กรณี โดยประเพณีปฏิบัติจะลงมติ ช่วงเช้า และอ่านช่วงบ่าย ถ้าเรื่องไม่อยู่ในการไต่สวน จะนัดคู่ความล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 7 วัน มาฟัง แต่ถ้าเรื่องระหว่างไต่สวน สามารถแจ้งคู่กรณีไต่สวนครั้งหลังสุดและนัดได้เลย แต่กรณีนี้ไม่มีการไต่สวน ก็จะนัดไม่ต่ำกว่า 5- 7 วัน

"ส่วนการคาดการณ์จากบุคคลนอกผลวินิจฉัยเป็นอย่างไร  "ศาลรธน." รับฟัง แต่ศาลรธน.ยึดสำนวนข้อเท็จจริงในการพิจารณา ไม่ได้ตำหนิบุคคลใดทั้งสิ้น  ศาลรธน.มีความเป็นอิสระ ตั้งมั่นอยู่ในความยุติธรรม ตุลาการศาลรธน. ทั้ง เก้าท่าน ล้วนอิสระ  และเมื่อหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่เป็นที่ยุติว่าเพียงพอหรือยัง จึงเป็นเรื่องไกลเกินไปที่จะด่วนสรุปว่า ศาลรธน.ตัดสินแล้ว อย่างไรก็ตาม การประชุมพรุ่งนี้ หากมีความคืบหน้าอย่างไร ขึ้นอยู่กับศาลมีข่าวสารอะไรหรือไม่ก็จะแจ้งให้ทราบต่อไป"  

 ทั้งนี้ "ประธานศาลรัฐธรรมนูญ" ฝากย้ำและแสดงความเป็นห่วงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ไม่รู้ว่ามีที่มาจากไหน  ขอให้สื่อได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และความห่วงใยจากศาลรธน.ด้วย

 

ที่มา : nationtv

 

 

related