ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ปิดฉาก 36 ปี ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันยังรักอุดมการณ์ของพรรค แต่ขอโอกาสมีลมหายใจเป็นของตนเองสักครั้งหนึ่งในช่วงบั้นปลายชีวิตทางการเมือง เพื่อจะได้สนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ๆ
ไตรรงค์ สุวรรณคีรี กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กขอประกาศลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
“ผมขอมีลมหายใจเป็นของตนเอง ใส่เสื้อฟ้าเป็นครั้งสุดท้าย 36 ปีกับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 15.00 น. ของวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ผมได้ให้เลขาส่วนตัวไปยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และทุกตำแหน่งในพรรคประชาธิปัตย์แล้วครับ ผมลาออกทั้งๆ ที่ยังรักพรรคประชาธิปัตย์อยู่ แต่ผมไม่ได้รักที่ตัวตึก หรือตัวบุคคล ผมไม่เคยยึดมั่นในสิ่งลวงตาเหล่านั้นที่ผมรักก็คือ “อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์” ที่ได้ประกาศไว้ในวันก่อตั้งพรรคเมื่อปี พ.ศ.2489 จึงได้เข้าเป็นสมาชิกมาตลอดเวลา 36 ปี
“อย่างไรก็ดี ผมก็ยังเชื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัย อุดมการณ์ ปี 2489 ทั้ง 10 ข้อ จึงต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคให้เข้ากับบริบทใหม่ๆ ของประเทศและของโลก
ข่าวที่น่าสนใจ
เท่าพิภพ ชี้ กฎหมายสุราก้าวหน้า วัดพลังในสภา บิ๊กตู่ยังมีราคาอยู่หรือไม่ ?
18 ปีตากใบ ทักษิณขอโทษ ชี้ การสูญเสียเกิดจากทหาร ช่วงบิ๊กป้อมเป็น ผบ.ทบ.
ทักษิณ เย้ยบิ๊กตู่ ! ถ้าแก้ยาเสพติดไม่ไหว ยินดีช่วย เอาอยู่ภายใน 6 เดือน
“ที่สำคัญที่สุดก็คือเพื่อล้อมกรอบมิให้ผู้บริหารหรือสมาชิกแสดงท่าทีที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในอุดมการณ์ เช่นต้องไม่มีใครมีท่าทีทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า พรรคฯ ตั้งตัวเป็นศัตรูกับทหารของชาติ เพราะทหารในปัจจุบันแตกต่างไม่เหมือนกับทหารสมัยก่อนแล้ว
“ส่วนศัตรูของอุดมการณ์ต้องเขียนใหม่ให้ชัดว่า ไม่ใช่เฉพาะเผด็จการทหาร แต่หมายรวมถึงเผด็จการรัฐสภาด้วย และในนโยบายต่างประเทศต้องเขียนใหม่ให้ชัดว่า เราจะเป็นมิตรกับทุกประเทศ แม้ว่าระบอบการเมืองการปกครองจะแตกต่างจากของของเราที่กำลังใช้อยู่ เป็นต้น
“แต่ต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้อธิปไตยของชาติต้องถูกครอบงำโดยประเทศอื่นอย่างเด็ดขาด ซึ่งทั้งหมดนี้ผมได้พูดให้สมาชิกและผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ฟังโดยละเอียดแล้วเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 ที่โรงแรม Kantary Hill จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าพรรคฯ ก็ได้พยายามปรับปรุงจุดยืนและท่าทีคล้ายๆ อย่างที่ผมเคยแนะนำไว้อยู่บ้างคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์
“แต่ก็ยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ อีกหลายพรรคที่มีจุดยืนด้านอุดมการณ์ที่ตรงกับใจของผม ที่ผมอยากสนับสนุนโดยเฉพาะมีอยู่หลายพรรค ที่เกิดใหม่จากคนที่ต้องออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถจะบอกใครได้ (เพราะเกรงใจกัน) แต่เมื่อไปตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาก็ได้มีการประกาศจุดยืนแห่งอุดมการณ์พร้อมมีนโยบายปฏิรูปหลายประการเหล่านี้ทำให้ผมเห็นด้วยและอยากสนับสนุน
“ผมจึงอยากขอโอกาสมีลมหายใจเป็นของตนเองสักครั้งหนึ่งในบั้นปลายชีวิตทางการเมืองของผม เพื่อจะได้สนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ๆ (ที่ใหม่กว่าพรรคประชาธิปัตย์) การแสดงออกจะได้สามารถทำได้อย่างเปิดเผย จะได้ไม่รู้สึกว่าผมแอบเป็นกบฏลับๆ ต่อพรรคประชาธิปัตย์ เพราะผมยังรักและสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ แต่ก็จะสนับสนุนพรรคการเมืองอื่นๆ ทุกพรรคที่ผมเห็นด้วยกับอุดมการณ์และนโยบาย จะยินดีให้ความช่วยเหลือตามที่ถูกร้องขอโดยไม่หวังผลอะไรเป็นการตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้นเพราะว่าแก่แล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ได้มีพรรคการเมืองใหม่ๆ มาขอคำปรึกษาไปแล้วถึง 5 พรรคครับ
“ส่วนการสนับสนุนช่วยเหลือหลายๆ พรรคควรจะทำอย่างไรนั้น มันเป็นศิลปะที่ผมเรียนรู้มาและจะลองนำมาปฏิบัติดูในรูปแบบที่ว่าต้องรวมมิตรและแยกศัตรูในเชิงอุดมการณ์ให้ชัดเจน ถ้าได้ผลก็ดี ถ้าไม่ได้ผลก็ไม่เป็นไรเพราะผมยึดถือคำว่าสันโดษ ตามภาษาพระที่สันโดษแปลว่าได้ก็ดี ไม่ได้ก็ได้ (ไม่ใช่ตามภาษาคนที่หมายถึงการอยู่คนเดียว) และผมเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง จึงไม่คิดว่าทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเสียหายเพราะพรรคฯ เขามีบุคลากรมากอยู่แล้วส่วนมาก ก็มีความสามารถตามความเห็นของผู้บริหาร และผมก็ไม่เคยจะทำร้ายพรรคฯ หรือพูดจาใดๆ ให้พรรคฯ ต้องเสียหายและเสียน้ำใจกัน
“อย่างไรก็ดีผมก็ยังคงต่อต้านและปฏิเสธทั้งพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ใช้โวหารแบบปลิ้นปล้อน โกหกตอแหล ใส่ความ หลอกลวง หน้าอย่างหลังอย่าง เป็นพวกเล่นการเมืองเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของชาติที่ควรจะเป็นผลประโยชน์สูงสุด เพราะผมเห็นว่า คนเช่นนี้ลงมาเล่นการเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก โดยการอ้างชาติและประชาธิปไตยเพื่อเป็นการบังหน้าและให้ประชาชนหลงผิดในสาระสำคัญเท่านั้น
“โดยเนื้อแท้แล้วคนเช่นนี้เป็นพวกที่พร้อมจะขายชาติเพื่อแลกเงินพร้อมจะทำลายและบิดเบือนคำสอนอันเป็นหัวใจของศาสนาต่างๆ เพียงเพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากคนที่โง่ๆ ตลอดจนเป็นพวกที่พร้อมจะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ (ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง) เพื่อเปลี่ยนระบบการเมืองการปกครองของประเทศให้เป็นระบอบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ซึ่งเป็นระบบที่แสนจะไม่เหมาะกับบริบทและประวัติศาสตร์ของชาติไทย หากแต่จะนำมาซึ่งความแตกแยกที่รุนแรง ศีลธรรมจะตกต่ำการไร้ยางอายในการทำชั่วจะมีมากขึ้นเหมือนอย่างหลายประเทศทั้งในเอเชียและในละตินอเมริกา
“เพราะผมเห็นว่าอธิปไตยและเอกราชของชาติอาจจะเกิดความเสียหายได้ ถ้าประเทศต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของนักการเมืองที่มีคุณสมบัติเลวๆ ดังกล่าวข้างต้นก็โดยที่นักการเมืองอย่างนั้นจะเป็นคนที่เห็นแก่ลาภ (เงิน) ยศ และสรรเสริญของตนเองและพรรคพวกมากกว่าเกียรติยศและศักดิ์ศรีของประเทศชาติ
“ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะได้เห็นตัวอย่างมาแล้วว่าครั้งหนึ่งพวกเขาได้เคยแอบทำการตกลงลับๆ ที่จะอนุญาตให้มหาอำนาจบางประเทศ มาตั้งฐานทัพในประเทศเพื่อจะได้สะสมอาวุธไว้ข่มขู่บางประเทศที่พวกเขาแย่งชิงความยิ่งใหญ่ในการเป็นเจ้าโลกกันอยู่ในปัจจุบันนี้
“โชคดีที่เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์มีคณะองคมนตรีและมีสถาบันกองทัพทั้ง 3 เหล่าเป็นเกราะกำบังให้ ประเทศของเราจึงไม่ต้องตกอยู่ในสภาพเหมือนประเทศยูเครนอย่างที่เราเห็นๆกันอยู่ในปัจจุบัน
“ปล. ผู้ที่แอบทำความตกลงลับ ๆ (MOU) ดังกล่าวบางคนได้เสียชีวิตไปแล้ว ขอให้ทุกคนจงอโหสิเพราะไม่มี “ทาน” ใด ๆ จะได้บุญเท่ากับ “อภัยทาน” …ผมไม่ได้พูดแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ตรัสไว้เช่นนั้นครับ
“หมายเหตุ ผมยังคงเป็นมิตรที่ดีของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เฉพาะที่เป็นคนดีอยู่เหมือนเดิมทุกประการโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงครับ แต่ขอให้ทุกคนโปรดทราบเจตนาบริสุทธิ์ของผมว่าการลาออกในครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการประสานกับพรรคการเมืองอื่น ๆ จะได้มีพลังและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการเคลื่อนไหวแบบเงียบๆ เพื่อจะได้ตะล่อมให้บ้านเมืองเดินหน้าไปในทิศทางที่ผมเห็นว่าน่าจะปลอดภัยที่สุด โดยที่ผมไม่หวังอะไรเป็นการตอบแทนโดยส่วนตัวเลยไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดๆ ซึ่งผมเคยแจ้งความในใจส่วนนี้ให้คุณจุรินทร์ หัวหน้าพรรค และคุณนิพนธ์ รองหัวหน้าพรรค ทราบแล้วเมื่อตอนที่ท่านทั้งสองมาเยี่ยมผมที่บ้านพักหลังการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดสงขลาและชุมพรครับ”