svasdssvasds

"หมอธีระ" ชี้ โควิด-19 แพร่เชื้อได้ทั้งที่ยังไม่มีอาการ แพร่ไว ป่วยนานขึ้น

"หมอธีระ" ชี้ โควิด-19 แพร่เชื้อได้ทั้งที่ยังไม่มีอาการ แพร่ไว ป่วยนานขึ้น

"หมอธีระ" เปิดข้อมูลระบาดของโควิด-19 รอบนี้ เสี่ยงแพร่เชื้อทั้งที่ไม่แสดงอาการ แพร่ได้ไวขึ้น มีอาการป่วยนานขึ้น ช่วงวันที่ 8-10 วันยังกระจายเชื้อได้

หลังจากที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบสายพันธุ์ XBC หรือเดลตาครอน รายแรกของไทย ปัจจุบันผู้ติดเชื้อหายเป็นปกติแล้ว ส่วนโอมิครอน BA.2.75 และลูกหลาน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็น 63.3% จาก 42.9% ย้ำยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น

 ล่าสุด รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน โดยระบุว่า 

อัพเดตความรู้โควิด-19

 Puhach O และคณะ จากมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทำการทบทวนความรู้วิชาการในปัจจุบันเกี่ยวกับธรรมชาติของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Nature Reviews Microbiology เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

สาระสำคัญที่ควรรู้

"ระยะฟักตัว"

หลังจากติดเชื้อ จนกระทั่งเริ่มเกิดอาการ มักใช้เวลาราว 4.6-6.4 วัน

"ระยะเวลาป่วย/มีอาการ"

โดยเฉลี่ยแล้วอาจมีอาการป่วยนานไปได้ถึงราว 10 วัน

"ช่วงที่จะเสี่ยงแพร่เชื้อให้ผู้อื่น"

 ผู้ที่ติดเชื้อ แม้จะยังไม่ได้เริ่มมีอาการ แต่ตรวจพบปริมาณไวรัสสูง และสามารถแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้ตั้งแต่ประมาณ 3 วันก่อนป่วย (pre-symptomatic transmission)

ทั้งนี้ไวรัสจะมีปริมาณสูงสุดช่วงเริ่มมีอาการ และพบว่าสามารถตรวจพบไวรัสที่สามารถแพร่แก่ผู้อื่นได้นานไปจนถึง 8-10 วันหลังจากที่เริ่มมีอาการป่วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ภูมิคุ้มกันโควิดอยู่ได้กี่เดือน ติดแล้วไม่ต้องฉีดวัคซีนจริงไหม?

• หมอธีระวัฒน์ ชี้อาการโควิดไม่เหมือนเดิม แนะเฝ้าระวังอาการรุนแรงวันต่อวัน

• พบโควิดลูกผสม "เดลตาครอน" รายแรกในไทย ไม่พบสัญญาณรุนแรง

ประโยชน์ของ ATK หรือ rapid antigen test

 แม้ ATK จะมีความไวต่ำกว่าวิธี RT-PCR ค่อนข้างมาก แต่ผลการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่ามีประโยชน์ในการใช้ประเมินสถานะของผู้ป่วยในการแพร่เชื้อแก่ผู้อื่น (infectiousness)

ATK หรือ rapid antigen test มักมีสมรรถนะในการตรวจได้ผลบวก เมื่อปริมาณไวรัสสูงกว่า RT-PCR โดย ATK ตรวจได้ผลบวกเมื่อปริมาณไวรัสราว 10^4 -10^6 copies/ml ในขณะที่ RT-PCR ตรวจได้ผลบวก แม้มีไวรัสเพียง 10^2- 10^3 copies/ml

 ทั้งนี้โดยปกติแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อแล้วมีปริมาณไวรัสสูงราว 10^6 นั้น เทียบได้พอๆ กับการตรวจ RT-PCR ได้ค่า Ct ประมาณ 25 ซึ่งถือว่ามีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นได้

...ดังนั้น การใช้ ATK เพื่อช่วยตรวจประเมินสถานะของผู้ป่วยว่ายังมีผลบวกหรือไม่นั้น ก็ย่อมมีประโยชน์สำหรับประเมินความพร้อมในการออกจากช่วงเวลาแยกตัว (exit strategy)

...จึงเป็นที่ส่วนตัวแล้วแนะนำมาตลอดว่า "หากติดเชื้อ ควรแยกตัวจากผู้อื่นอย่างน้อย 7-10 วัน จนแน่ใจว่าอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK อีกครั้งได้ผลลบ" ก่อนจะออกไปใช้ชีวิตพร้อมป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดไปจนครบสองสัปดาห์

สถานการณ์ปัจจุบัน จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง

เลี่ยงการกินดื่มใกล้ชิดร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน

เลี่ยงสถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

เลือกร้านอาหาร สถานที่บริการ ที่มีพนักงานป้องกันตัวโดยใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง

ล้างมือเสมอ เวลาจับต้องสิ่งของสาธารณะ

ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด เพื่อลดโอกาสป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID

สำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เวลาออกไปชีวิตประจำวัน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ที่มา : Thira Woratanarat 

ไม่ควรหลงเชื่อคำลวงด้วยกิเลส หรือความเชื่องมงาย ที่ไร้สาระ และไม่อยู่บนฐานความรู้วิชาการที่ถูกต้องพิสูจน์ได้

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

related