กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น เป็นการระบาดลักษณะ Small wave โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวภาคตะวันออก และภาคใต้ และจะขึ้นสูงสุดหลังปีใหม่หรือเดือนมกราคม
วันนี้ (4 ธันวาคม 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรค โควิด 19 ของประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ช่วงขาขึ้นของการระบาดลักษณะ Small wave โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ มีการจัดกิจกรรมคนรวมกลุ่มกันจำนวนมาก
จึงแนะนำให้ประชาชนเร่งเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยข้อมูลการศึกษาวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นสายพันธุ์เดิมที่ใช้จริงในประเทศไทย (real world data) ในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ International Journal of Infectious Diseases พบว่า
วัคซีนจะลดความรุนแรงและการเสียชีวิตลงร้อยละ 89 ในผู้ที่รับวัคซีน 3 เข็ม และกลุ่มที่ได้ 4 เข็ม ไม่พบภาวะรุนแรงหรือการเสียชีวิตเลย ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยี่ห้อใดก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "หมอธีระ" ชี้ โควิด-19 แพร่เชื้อได้ทั้งที่ยังไม่มีอาการ แพร่ไว ป่วยนานขึ้น
• น่ากังวล! กรมควบคุมโรคเผย พบผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 4,914 คน ดับ 74 ราย ในรอบ 7 วัน
• "หมอยง" เผยสถานการณ์พีคที่ 2 ของปี ผู้ป่วยไม่เคยติดโควิด ติดเชื้อสูงขึ้น
กระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน 4 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต ขณะนี้วัคซีนได้เตรียมพร้อมแล้วในทุกพื้นที่ รวมทั้งท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีข้อสั่งการให้ทุกจังหวัดเปิดหน่วยบริการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนโควิดได้ง่าย และรับบริการได้อย่างสะดวก แม้จะไม่ได้ลงทะเบียนนัดล่วงหน้า
จึงขอเน้นย้ำว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด 19 อยู่ในช่วงขาขึ้น ประชาชนควรเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังจากเข็มสุดท้าย 4 เดือน อย่างไรก็ตามกรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการหารือกับคณะผู้เชี่ยวชาญถึงเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนรุ่นใหม่ หรือวัคซีน 2 สายพันธุ์ ซึ่งหากพบว่าผลการศึกษาสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 อย่างชัดเจน ก็จะเร่งดำเนินการจัดหามาให้บริการประชาชนในปีหน้า” นายแพทย์ธเรศ กล่าว
ด้านศาสตราจารย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การระบาดของโควิด 19 เป็นไปตามฤดูกาลในรอบของปี ในระลอกนี้การระบาดจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา และจะขึ้นสูงสุดหลังปีใหม่หรือเดือนมกราคม และจะไปเริ่มลดลงตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จนเหลือน้อยมากในเดือนมีนาคม และจะไปขึ้นการระบาดรอบใหม่ของปีในฤดูฝนหรือเดือน มิถุนายน ถึงเดือนกันยายน เป็นไปตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้นในขณะนี้ แทนที่จะรอไปถึงเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ ซึ่งอยู่ในช่วงขาลง สำหรับวัคซีนในบ้านเรา ถึงแม้จะเป็นสายพันธุ์เดิม การกระตุ้นในระดับเซลล์ เพื่อลดความรุนแรงของโรค สามารถทำได้ดีมาก และเนื่องจากการลดความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มที่ฉีด มากกว่าชนิดของวัคซีนที่ฉีด ดังนั้นขณะนี้อยู่ในขาขึ้นตามฤดูกาล จึงอยากให้ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 4 เข็ม โดยเข้ารับการฉีดให้เร็วที่สุดไม่รอจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือรอวัคซีนรุ่นใหม่