svasdssvasds

'โภคิน พลกุล' ถอดรหัสกับดักแก้รัฐธรรมนูญ

'โภคิน พลกุล' ถอดรหัสกับดักแก้รัฐธรรมนูญ

ห้วงเวลาที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ ประกอบกับสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ถึงเวลาที่ต้องร่วมใจกันผลักดักให้สำเร็จ แต่ต้องไม่ติดกับดักใหม่ 'ประชามติ-ม.256' ที่จะนำมาสู่ความเห็นแย้ง หากเริ่มต้นด้วยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

'แก้รัฐธรรมนูญ' เป็นวาระสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 แต่จนผ่านมาถึงการเลือกตั้งปี 2566 การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งแก้ไขรายมาตรา เช่น ปิดสวิตซ์ สว. การแก้ไข ม.256 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ก็ไม่เคยผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา ยกเว้นเสียแต่การแก้ไขระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวให้เป็นบัตรสองใบตามร่างที่เสนอโดยรัฐบาล 

ช่วงการเลือกตั้งปี 2566 การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับมาเป็นประเด็นที่ถูกถามถึงอีกครั้ง และคราวนี้พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็มีความเห็นตรงกันว่า "ต้องแก้" และกลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นในปี 2566 คลอดออกมาเป็นคำถามประชามติว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่มีการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์” และเตรียมนำเสนอสู่คณะรัฐมนตรีในเดือนมกราคม 2567 สร้างความหวังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผลักดันกันมาเกือบทศวรรษเป็นจริง

แต่ โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย เห็นต่างออกไป เพราะแนวทางที่เลือกคือการทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง สูญเสียงบประมาณไปราวๆ 9,000 ล้านบาท และมีโอกาสที่จะไม่สำเร็จสูง ขณะที่การแก้ไขตามมาตรา 256 ที่ต้องได้รับความเห็นชอบ 1 ใน 3 หรือ 84 คน และฝ่ายค้านร้อยละ 20 ในจำนวนเสียงครึ่งหนึ่งของสองสภาที่ใช้ลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยิ่งเป็นเรื่องยาก เมื่อฝ่ายค้านยังเห็นว่าต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ต่างกับรัฐบาลที่ไม่แก้หมวด 1 และ 2 ด้วย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 77 คน สรรหา 23 คน

'โภคิน พลกุล' ถอดรหัสกับดักแก้รัฐธรรมนูญ

ทีมข่าว SPRiNG สัมภาษณ์พิเศษอดีตประธานรัฐสภา มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีมาตรา 256 ที่กำหนดเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะการแก้ไขหมวด 1 อำนาจอธิปไตยและรูปของรัฐ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ของตำแหน่งขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นเหมือนหนองที่ฝังอยู่ และจำเป็นออกเจาะออกก่อนอันดับแรก 

"จัดทำฉบับใหม่ต้องทำประชามติความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ"

ขณะเดียวกัน โภคิน เปิดเผยว่ารู้สึกเสียดายที่ตัวเองได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มุ่งเน้นการแก้หมวด 3 เป็นต้นไป แต่รัฐสภาสมัยที่แล้วกลับส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เลยระบุว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับต้องทำประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาจากการลงประชามติของประชาชน แต่ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กลับเป็นด่านสุดหิน 2 ชั้น เพราะหากจะเป็นการทำประชามติโดยชอบ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52 คนต้องมีคนออกมาใช้สิทธิอย่างน้อย 26 ล้านคน และต้องมีผู้เห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิคืออย่างน้อย 13 ล้านคน จึงจะผ่านประชามติ ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก

อีกทั้งการตั้งคำถามประชามติกับประชาชนครั้งแรก ถ้าถามลอยๆ ว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่ไม่ได้บอกว่าสาระหรือวิธีการยกร่างจะเป็นอย่างไร ประชาชนก็จะมีเนื้อหาให้ตัดสินใจได้น้อย เห็นประโยชน์ในการออกมาลงประชามติน้อย และสุดท้ายการทำประชามติก็จะไม่ชอบ เพราะผู้มาลงคะแนนน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด

'โภคิน พลกุล' ถอดรหัสกับดักแก้รัฐธรรมนูญ

โภคิน อธิบายว่าหากจำแนกขั้นตอนออกมาจะมี 3 ส่วน คือ คนยกร่าง คนพิจารณา และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยในส่วนของคนที่ยกร่าง ได้แก่ คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา 1 ใน 5 อาจจะมาจากทั้งสองสภารวมกันก็ได้ หรือประชาชนเข้าชื่อกันเกิน 50,000 คน แต่ในตัวอย่างปี 2539 เพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด ตอนนั้นแก้ไขเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มผู้ยกร่างเป็นเลือก ส.ส.ร. ที่ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนมายกร่าง และเสนอเข้าสภาเพื่อพิจารณา

เช่นเดียวกัน โภคิน มองว่า หากการแก้ไขหมวดไหนบ้าง กลายเป็นประเด็นขัดแย้ง เราแก็ไม่ต้องไปแก้ไขทั้งฉบับ แต่เริ่มจากร่างแก้ไขเพิ่มเติม เน้นการแก้ไขมาตรา 256 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน พ่วงกับคำถามเลือกตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่าง เพื่อไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ เมื่อยกร่างเสร็จก็เอาเข้าสภา ถ้าผ่านก็ประกาศใช้ แต่ถ้าไม่ผ่านก็ค่อยไปทำประชามติอีกครั้ง วิธีการนี้จะทำประชามติเพียงแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น แต่ต่อไปจะแก้ไขเพิ่มเติมอีกเท่าไรก็เป็นเรื่องง่ายขึ้น

"วันนี้บ้านเมืองมันถึงเวลาแล้ว การแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกอย่างให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ จะผิดถูก จะดีไม่ดี ประชาชนเป็นคนรับผิดชอบ"

ขณะเดียวกัน โภคิน เสนอว่า วันนี้เรามี สส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว และกำลังจะมี สว. ที่มาจากการเลือกกันเองตามกลุ่มวิชาชีพ ไม่มีใครแต่งตั้ง ทำไมเราไม่ทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เริ่มจากการแก้มาตรา 256 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วก็เคยศึกษาจนตกผลึกกันมาแล้วว่า ส.ส.ร. ควรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด 200 คน จึงไม่จำเป็นต้องมาเถียงกันอีก ส่วนที่ใครจะกลัวว่า ส.ส.ร. จะถูกครอบงำโดยพรรคการเมือง ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถมีใครมาให้ใบสั่งได้ เพราะต่อให้มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง ก็มีหลากหลายพรรคและพวกเขาก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้จะไม่ถูกใจทุกคน แต่คงไม่ร่างเพื่อตอบโจทย์ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่ออตบโจทย์ทุกคนในสังคมให้ได้มากที่สุด แม้ไม่มีใครบอกได้ว่าแบบไหนที่ดีที่สุด แต่ถ้ากระบวนการมันถูกต้อง กระบวนการมาจากประชาชน ประชาชนก็จะเป็นผู้รับผิดชอบ

โภคิน เล่าว่า บรรยากาศบ้านเมืองในปี 2539-2540 ตอนนั้นตัวเองเป็นรัฐมนตรีประจำสำนันายกรัฐมนตรีและดูแลการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ด้วย บรรยากาศในสังคมเป็นผลพวงมาจากการขึ้นสู่อำนาของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และกลัวว่าจะกลายเป็นรัฐทหาร คนอยากเห็นความเป็นประชาธิปไตย แม้สุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร. ยกร่างขึ้นมาจะเป็นไปด้วยสิ่งที่คิดว่าดี เช่น ผู้ตรวจการณ์แผ่นดิน แต่ สส. ในขณะนั้นไม่เข้าใจหรือยังไม่เห็นการทำงานร่วมกันได้สำเร็จในอนาคตของกลไกที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญ ก็เกิดการรณรงค์ธงเขียวให้รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าตกไปก็ต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่า

"เรามาจากการเลือกตั้งเต็มที่แล้วกลับไปกังวลอะไร...ปัญหาที่มีตลอดคือการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ทั้งปี 2517 และปี 2540 ที่บอกว่าดีก็ถูกฉีกทิ้ง แต่ฉบับไม่ดีไม่มีใครฉีก ต้องรอวิกฤต และกว่าจะแก้ได้ก็เถียงกันอยู่แบบนี้ พอฉบับไม่ดีก็กดทับและยอมไป แต่เราต้องตื่นขึ้นมาใหม่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการฉีกรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้ แม้ไม่มีรัฐธรรมนูญก็ต้องยึดถือ"

โภคิน กล่าวทิ้งท้ายว่า เราตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมากว่า 20 ปี เพราะกติกาใหญ่ไม่ได้เขียนให้คนมีส่วนร่วม แล้วเมื่อไรเราจะขจัดความขัดแย้งไปได้ ตัวเองจึงไม่อยากให้บรรยากาศมันกลับไปสู่แบบเดิมที่คิดว่าเอื้อใคร ถ้าขั้นตอนไหนจะทำให้รู้สึกแบบนั้นก็ปรับได้ แต่เราต้องแก้ปัญหาสำคัญคือเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมทั้งกระบวนการและเนื้อหา และรัฐต้องเชื่อในประชาชน

รับชมเพิ่มเติม:

related