svasdssvasds

"หาวบ่อย" เสี่ยงโรค สัญญาณความผิดปกติที่มีมากกว่า "ง่วง"

"หาวบ่อย" เสี่ยงโรค สัญญาณความผิดปกติที่มีมากกว่า "ง่วง"

หาวบ่อยๆ อาจจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่หากถี่มากเกินไปอาจบ่งบอกโรคทางกายอื่น ๆ ได้ด้วยนะ นอกจากนี้หากต้องเผชิญกับอาการหาวบ่อย ๆ จากความง่วง ความเมื่อยล้า สามารถปรึกษาแพทย์หรือไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาตามอาการ

ปกติแล้วการ หาว เป็นกระบวนการที่มักเกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ มีลักษณะอาการ คือ อ้าปากแล้วสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ นำอากาศเข้าสู่ปอด ก่อนจะหายใจออกมา หาวอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือยาวนานหลายวินาทีก่อนที่คนจะอ้าปากเพื่อหาว

โดยกระบวนการหาวอาจเกิดร่วมกับการมีน้ำตาไหล การยืดกล้ามเนื้อ หรือการเกิดเสียงในขณะหาวได้ด้วยเช่นกัน

และการหาวอาจเกิดได้จากการพูดถึงหรือการเห็นผู้อื่นหาว มีแนวคิดว่าที่มนุษย์หาวตาม ๆ กัน (contagious yawn) อาจเป็นการสื่อสารทางสังคมของมนุษย์ชนิดหนึ่ง

แต่ถ้าหากอาการหาวมากผิดปกติคือมีการหาวมากกว่าหนึ่งครั้งในหนึ่งนาที ซึ่งอาจเกิดจากความง่วง หรืออาจถูกกระตุ้นจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ ก็เป็นได้

แล้วหาวบ่อยเกิดจากอะไรล่ะ ?

สาเหตุของการหาวมากผิดปกติ

ความง่วง เหนื่อยล้าจากการนอนหลับไม่เพียงพอ การนอนหลับไม่เพียงพอนั้นสามารถเกิดได้จากระยะเวลาการนอนหลับที่สั้นเกินไป หรืออาจเกิดจากการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในขณะที่นอนหลับ อาจเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้ในอนาคต

และการนอนหลับไม่เพียงพอสามารถส่งผลอื่น ๆ ต่อร่างกายได้ เช่น ไม่มีสมาธิ ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้า รู้สึกอยู่ไม่สุข เหนื่อยเพลีย ปวดเมื่อยร่างกาย หากสงสัยว่าตนมีภาวะนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทดสอบการนอนหลับ (sleep test)

หรือเกิดจากผลข้างเคียงจากยา เช่น กลุ่มยานอนหลับ ยาช่วยคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้ปวดบางชนิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การหาวมากผิดปกติอาจเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคและภาวะที่ต้องการการรักษา เช่น มีปัญหาในการนอน เช่น ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ หรือโรคลมหลับ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ เนื่องจากไม่สามารถนอนหลับสนิทได้ ภาวะเลือดออกภายในหัวใจ หรือเนื้อเยื่อบริเวณหัวใจ

ส่วนภาวะอาการป่วยรุนแรงที่มีโอกาสพบได้น้อย แต่อาจทำให้เกิดอาการหาวบ่อย ๆ ได้แก่

-กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

-โรคลมชัก

-ตับทำงานล้มเหลว (ตับวาย)

-เนื้องอกในสมอง

-โรคปลอกประสาทอักเสบ

-ร่างกายขาดสมรรถภาพในการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย

-โรคหลอดเลือดสมอง

แม้อาการหาวไม่ได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ แต่สามารถปรึกษาแพทย์หรือไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาได้ หากมีอาการหาวบ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะซักถามเกี่ยวกับอาการและความถี่ในการหาว พฤติกรรมการนอนว่าผู้ป่วยพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ สอบถามประวัติทางการแพทย์และการรักษา

รวมทั้งอาจทำการตรวจร่างกายในเบื้องต้นด้วย หากแพทย์มีข้อสงสัยเพิ่มเติมถึงอาการป่วยที่เป็นสาเหตุ อาจส่งตรวจผู้ป่วยเพิ่มเติม เช่น ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test หรือ Polysomnography) , ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram: EEG), ตรวจเลือด และ การฉายภาพด้วยเครื่องสแกนสนามแม่เหล็กไฟฟ้า

แม้ว่าอาการหาวไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเหมือนอาการป่วยอื่น ๆ ทุกคนทุกเพศทุกวัยล้วนต้องหาว เช่นเดียวกันกับสัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ เพราะการหาวเป็นกระบวนการหนึ่งของร่างกายที่เป็นไปตามธรรมชาติ

แต่ถ้าหากมีอาการหาวบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากโรคหรือภาวะเจ็บป่วยที่รุนแรง ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมจากแพทย์อย่างเร่งด่วน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคลมชัก ตับวาย เพื่อเข้ารับการรักษาตามอาการต่อไป

related