รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย วิเคราะห์ถึงการปรับ ครม. ซึ่งจากกรณีวีไอพีโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลพลิกผัน เกิดม็อบท้าทาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า เหล่านี้คือโจทย์ยากๆ ที่รัฐบาลต้องหาคำตอบ และทางออกให้ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ของรัฐบาลพลิกผันอย่างไม่ทันตั้งตัว หลังเกิดกรณีวีไอพีโควิด อีกทั้งต้องเข้าสู่โหมดบังคับให้ต้องรีบปรับ ครม.อย่างเร่งด่วน หลังจากสมคิดและสี่กุมารลาออกจากคณะรัฐมนตรี
ซึ่งต้องเลือกว่า จะปรับเพื่อแก้เกมการเมือง หรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะหากเดินเกมพลาด จะก่อให้วิกฤตซ้ำซ้อน ทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลอาจย่ำแย่หนักยิ่งขึ้นไปอีก
โดย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และกฎหมายมหาชน ได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในด้านต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์ในการ ปรับ ครม. , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนต่อไป รวมถึงเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน จะส่งผลให้การอยู่ครบเทอมของรัฐบาล ยังมีความเป็นไปได้...หรือไม่ ? ซึ่ง รศ.ดร.ยุทธพร ได้ให้สัมภาษณ์กับสปริงนิวส์ ดังต่อไปนี้
สปริงนิวส์ : จากกรณีที่ ดร.สมคิด และสี่กุมาร ลาออกจากคณะรัฐมนตรี อาจารย์คิดว่า เพราะพวกเขาถูกบีบ สมัครใจ หรือเพราะอะไร ?
รศ.ดร.ยุทธพร : ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของสี่กุมาร เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงยุทธศาสตร์ มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
เพราะเราจะเห็นได้ว่า สี่กุมารเคลื่อนไหวแต่ละครั้ง ก็จะมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น อย่างเช่นเมื่อ 2 - 3 สัปดาห์ที่แล้ว มีเหตุการณ์สภาล่ม ก็เป็นการเคลื่อนไหวของสี่กุมาร
พอเกิดเหตุการณ์โควิดที่ระยอง ก็มีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง แต่คราวนี้สี่กุมารลาออกจากคณะรัฐมนตรี
จุดที่น่าสนใจก็คือ การลาออกในครั้งนี้ มันค่อนข้างย้อนแย้งกับการแถลงเมื่อครั้งก่อน (ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ) ที่สี่กุมารบอกว่า ยังอยากทำงานการเมืองอยู่ ยังปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ
เพราะฉะนั้นแน่นอนว่า การลาออกในครั้งนี้ (ลาออกจาก ครม.) เป็นการเดินเกม เดินยุทธศาสตร์ เพื่อที่จะสร้างให้เกิดปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองกับรัฐบาล เพราะการลาออกของสี่กุมาร ส่งผลกระทบทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจ อย่างชัดเจน
ในแง่ของทางการเมือง การลาออกครั้งนี้ได้ส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่น หรือปัญหาในเรื่องของความชอบธรรมต่อรัฐบาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งแทน ที่มีชื่อออกมา แต่ยังไม่มีคนใดเลยที่ตอบรับอย่างชัดเจน
เมื่อยังไม่มีความชัดเจน ยังมีความอึมครึมในเรื่องของตัวบุคคล โอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของความเชื่อมั่นทางการเมือง ก็มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง แล้วความเชื่อมั่นทางการเมืองตรงนี้ ก็จะส่งผลไปสู่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
เพราะอย่าลืมว่า เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจก็คือ เรื่องการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศ ต้องรอเวลาอีกพักใหญ่ กว่าจะกลับมาได้เหมือนเดิม
เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำก็คือ การขับเคลื่อนด้วยการลงทุน หรือการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งก็ปรากฏอยู่ใน พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ที่วันนี้เป็น พ.ร.บ.แล้ว หรือแม้แต่ในกฎหมายงบประมาณปี 64 ก็น่าจะผ่านได้โดยไม่มีปัญหาอะไร
แต่ว่าปัญหามันอยู่ที่ว่า เมื่อเงินเหล่านี้ลงสู่ระบบการบริโภคของประชาชน ก็เป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งการบริโภคนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีความเชื่อมั่น
แต่เมื่อความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่เกิด ยังมีคำถามเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองมากมาย สิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย
สปริงนิวส์ : หลังจากนี้ อาจารย์คิดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ กับ ดร.สมคิด และกลุ่มสี่กุมาร จะเป็นเช่นใด ?
รศ.ดร.ยุทธพร : ผมคิดว่า ดร.สมคิดและสี่กุมาร กับนายกฯ คงไม่ถึงขั้นที่จะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดี หรือถึงขั้นแตกหัก
เพราะว่าอย่างน้อยที่สุด ดร.สมคิด ก็เป็นบุคคลที่นายกฯ ร้องขอให้เข้ามาทำงาน นับตั้งแต่รัฐบาล คสช.
ในแง่ความสัมพันธ์อันดี ผมคิดว่า ยังมีมากกว่าพรรคพลังประชารัฐ เพียงแต่นายกฯ อาจจะลั้งไว้ไม่อยู่ ต้องปล่อยให้มีการปรับเปลี่ยนไปสภาพการณ์
แต่จุดที่น่าสนใจก็คือ นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มีการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจมาแล้วถึง 3 ทีม ในช่วงเวลา 6 ปี เท่ากับว่าแต่ละทีมมีเวลาทำงานเฉลี่ยเพียงแค่ 2 ปี
ฉะนั้น เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี ภายในหนึ่งปีนับจากนี้ก็ไม่ควรมีการปรับเปลี่ยนอีก ไม่เช่นนั้นมันจะกระทบกับความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย แล้วกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
สปริงนิวส์ : การจากลาอย่างไม่สู้ดีนี้ มีโอกาสจะทำให้ ดร.สมคิด และสี่กุมาร เปลี่ยนขั้วทางการเมืองหรือไม่ ?
รศ.ดร.ยุทธพร : คงเป็นเรื่องยาก เพราะวันนี้อย่าลืมว่า ในพรรคเพื่อไทยเอง ก็มีบุคลากรทางการเมืองจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ ดร.สมคิด ในระยะหลังภาพก็ผูกติดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างเยอะ
ดังนั้นโอกาสที่จะกลับไปอยู่กับคุณทักษิณ คงไม่ง่ายแล้ว เชื่อว่า ดร.สมคิด มีอยู่สองทางเลือกก็คือ ทำงานการเมืองกันต่อกับสี่กุมาร แล้วในอนาคตอาจนำไปสู่การตั้งพรรคการเมือง กับอีกทางหนึ่งก็คือ ยุติบทบาททางการเมือง
สปริงนิวส์ : จากกระแสข่าวในการปรับ ครม. ที่ระบุว่า ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ได้รับการทาบทามให้เป็น รมว.พลังงาน ส่วนปรีดี ดาวฉาย อาจเป็น รมว.คลัง อาจารย์มองว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ?
รศ.ดร.ยุทธพร : ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อที่เราได้ยินกันมา อย่างน้อยก็ 1 เดือน แต่เรายังไม่ได้ยินสัญญาณตอบรับจากท่านเหล่านี้เลย เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดความอึมครึมว่า ท้ายที่สุดแล้วหน้าตาของคณะรัฐมนตรีจะออกมาอย่างไร
และยิ่งอึมครึมนานเท่าไหร่ ก็ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ หรือความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล การเร่งปรับคณะรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด ก็จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในเรื่องของการทำงาน แล้วก็ทำให้ภาพลักษณ์ต่างๆ ของรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น
ทุกวันนี้ พอเกิดความอึมครึม สิ่งที่สังคมตีความกันก็คือ ไม่มีใครกล้าที่จะเข้ามาในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง และสถานการณ์ที่ยังไม่เห็นทางออก เพราะวิกฤตครั้งนี้ (โควิด-19) มันไม่ใช่วิกฤตระดับภูมิภาค แต่มันเป็นวิกฤตทั้งโลก เป็นวิกฤตที่ต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟู
แต่ถึงแม้จะมีชื่อบุคลเหล่านี้ที่ประสบความสำเร็จในแต่ละแวดวง ผมก็เชื่อว่าการพลิกฟื้นเศรษฐกิจก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างมากที่สุดอาจจะเป็นความเชื่อมั่นในระยะสั้นๆ เป็นผลในทางจิตวิทยา แต่ปัญหาระยะยาวที่ต้องแก้ไขก็คือ เรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจ เรื่องความเป็นธรรม เรื่องการกระจายรายได้ การกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ และสังคมต่างๆ ให้กับพี่น้องประชาชน
สปริงนิวส์ : ในส่วนของกระทรวงพลังงาน ที่กำลังถูกจับตาเป็นพิเศษ อาจารย์คิดว่า ระหว่าง ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ใครมีโอกาสได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้ ?
รศ.ดร.ยุทธพร : ผมคิดว่าโอกาสของคุณไพรินทร์มีความเป็นไปได้สูง คือแน่นอนที่สุดว่า สิ่งที่นายกปรารถนาก็ดี หรือพี่น้องประชาชนปรารถนา เราต้องการเห็นรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถ เป็นบุคคลที่มีความเหมาะสม มีความเชี่ยวชาญ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์
แต่ในสภาพความเป็นจริงทางการเมืองไทย เราหลีกเลี่ยงไม่ได้กับเรื่องของโควต้ารัฐมนตรี แต่ว่าในภาวะวิกฤตแบบนี้ โควต้ารัฐมนตรีอย่างเดียวอาจจะนำพาบ้านเมืองไปไม่ได้
ซึ่งนายกฯ ก็คงมีการแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือคณะรัฐมนตรีซึ่งท่านต้องเอาไว้ข้างตัว นั่นก็คือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และหนึ่งในนั้นก็คือกระทรวงพลังงาน
อีกส่วนหนึ่งก็อาจเป็นไปตามโควต้า ให้กับบรรดากลุ่มต่างๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มอื่นๆ ในพรรคร่วมรัฐบาล
กระทรวงพลังงาน ก็ถือว่าเป็นกระทรวงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งเชื่อว่า สุดท้ายนายกฯ ต้องมีการพูดคุยกับบรรดาสมาชิกในพลังประชารัฐ ที่จะต้องขอกระทรวงนี้เอาไว้ เพื่อการทำงานในเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล
สปริงนิวส์ : ในส่วนของผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวพลังงาน ที่ทางพรรคสนับสนุนสุริยะ แต่มีกระแสข่าวว่า นายกฯ ทาบทามไพรินทร์ แล้วอย่างนี้จะทำให้บิ๊กตู่ กับบิ๊กป้อม เกิดความขัดแย้งกันหรือไม่ ?
รศ.ดร.ยุทธพร : ผมคิดว่า ทั้ง 3 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ยังไงเขาไม่มีปัญหากันในส่วนตัวแน่นอน เพราะทั้งสามเติบโตในหน้าที่ราชการพร้อมๆ กัน ฉะนั้นความสัมพันธ์ทั้ง 3 ท่าน จึงไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมงาน แต่เป็นมิตรภาพ เป็นพี่เป็นน้อง
เพราะฉะนั้นการที่จะบอกว่า 3 ท่านจะแตกหักกัน มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมากๆ อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างในเรื่องการทำงาน แต่สุดท้ายทุกอย่างก็จบลงได้
ดังนั้น ถ้าบอกว่า พล.อ.ประวิตร อยากจะสนับสนุนกลุ่มสามมิตรให้ได้ตำแหน่งที่มันดูดีขึ้นกว่าเดิม แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็อาจจะมีการพูดคุยกัน อย่างเช่น ขอ 100 ได้สัก 80 เพราะมีความจำเป็นอยู่หลายประการ
ในการปรับ ครม. ครั้งนี้ กลุ่มสามมิตรคงได้รับการขยับปรับเปลี่ยน เพราะว่ากระทรวงเดิมที่เขาได้คือ อุตสาหกรรม กับยุติธรรม
ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว มันก็ยังไม่ถึงกระทรวงเกรดเอ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส. ที่กลุ่มมี 30 - 40 คน
แต่อย่าลืมว่า ก็มีกลุ่มอื่นๆ อีก เช่น กลุ่มมังกรน้ำเค็ม มี ส.ส. 20 - 30 คน กลุ่มด้ามขวาน มี ส.ส. 13 คน ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองอะไร
ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ ก็คือประเด็นที่ต้องมีการเคลียร์ให้ลงตัวอีกสักรอบหนึ่งในพลังประชารัฐ ซึ่งเชื่อว่าทุกอย่างจะจบลงด้วยดี
สปริงนิวส์ : จากกรณีวีไอพีโควิด ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก นำไปสู่การเกิดม็อบท้าทาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้อาจส่งผลให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม ?
รศ.ดร.ยุทธพร : ณ ตอนนี้ แม้จะมีม็อบเกิดขึ้น แต่ว่าม็อบต่างๆ ไม่ได้ปักหลักพักค้าง เป็นม็อบที่จบลงภายในระยะเวลาที่จำกัด
แต่ถ้ามีม็อบเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นระยะเรื่อยๆ แน่นอนว่าระยะยาวมีผล มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการชุมนุมใหญ่ แต่ในระยะสั้นก็ยังอยู่ในขอบเขตที่รัฐบาลน่าจะกำกับได้อยู่
ดังนั้นในปีที่ 2 ของรัฐบาล ก็คือบทพิสูจน์ที่สำคัญว่า รัฐบาลจะอยู่ต่อได้ครบเทอมหรือไม่ ในปีที่ 2 เป็นงานหนัก แล้วก็เป็นงานที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย นั่นคือวิกฤตในเรื่องโควิด
ตรงนี้คืองานหนักของรัฐบาล ถ้าไม่สามารถผ่านพ้นไปได้ บรรดาม็อบของกลุ่มนิสิตนักศึกษา ก็จะถูกผนวกกับความไม่พอใจของผู้คน อาจทำให้เกิดการชุมนุมใหญ่ แต่ระยะสั้น คงยังไม่ถึงขั้นนั้น
สปริงนิวส์ : จากที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลลากยาวนั้น น่าจะเป็นเหตุผลทางการเมือง มากกว่าการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร ?
รศ.ดร.ยุทธพร : คือ ณ วันนี้ มันก็เกิดการวิจารณ์ในสังคมอยู่แล้วนะครับว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น เป็นเหตุผลทางการเมือง หรือป้องการระบาดของโควิด-19
เพราะข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ มันก็ชัดเจนแล้วว่า ในเมื่อประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศถึง 50 วันแล้วเนี่ย มันก็เกินกำหนดระยะเวลามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
รวมถึงสาธารณสุข การแพทย์ ก็พร้อมอยู่แล้ว ดังนั้นมันก็มีเหตุผลเดียว คือเหตุผลทางการเมือง
เพราะถ้ามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ ก็ยังน่าจะควบคุมกำกับสถานการณ์ไว้ได้ แต่ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็มีโอกาสเหมือนกันที่การชุมนุมจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ
สปริงนิวส์ : สุดท้ายนี้ อาจารย์คิดว่า อะไรคือสิ่งประชาชนต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้เห็นทิศทางและอนาคตของประเทศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ?
รศ.ดร.ยุทธพร : สิ่งที่ต้องจับตาในเวลานี้ ก็คือการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นการปรับคณะรัฐมนตรีในเชิงยุทธศาสตร์
หลายคนอาจจะมองหรือวิเคราะห์ว่า การปรับรัฐมนตรีครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการต่อรองภายในพรรคพลังประชารัฐ หรือภายในพรรคร่วมรัฐบาล แต่ผมไม่มองอย่างนั้น ตรงนั้นเป็นเพียงประเด็นรองลงไป ประเด็นหลักคือ การวางคนให้ตรงกับยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา
วันนี้เครื่องไม้เครื่องมือของรัฐบาลมีพร้อมหลายอย่างแล้ว พ.ร.ก. 3 ฉบับ ผ่านเป็น พ.ร.บ. แล้ว ในเรื่องงบประมาณแผ่นดิน ก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นขาดอยู่อย่างเดียวคือ คนที่จะมาเติมในยุทธศาสตร์เหล่านี้
ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ จะส่งผลสำคัญต่อพี่น้องประชาชน ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ การฟื้นฟู การเยียวยาแก้ไขหลังวิกฤตโควิด - 19
เพราะฉะนั้นสิ่งที่สังคมต้องจับตามองก็คือ ต้องดูว่าคนที่มาทำงานมีเหมาะสม มีฝีไม้ลายมือ ได้รับการยอมรับ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์หรือไม่
เพราะตรงนี้จะเป็นจุดตั้งต้นที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา และสิ่งที่ต้องทำกันต่อก็คือ การแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง เพราะถ้าแก้แต่เฉพาะหน้า ประเทศชาติก็จะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้