สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2563 (ครบ 1 ปี) โดยประชาชน 48 % มีความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในระดับปานกลาง
เมื่อวานนี้ มีรายงานว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2563 (ครบ 1 ปี)
ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มิถุนายน 2545) ที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของรัฐบาล แล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ
โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 1 – 15 สิงหาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
1.1 การติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล พบว่า ประชาชนร้อยละ 78.6 ติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล โดยแหล่งข้อมูลที่ติดตามมากที่สุดคือ โทรทัศน์ (ร้อยละ 93.7)
รองลงมา ได้แก่ อินเทอร์เน็ต เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ (ร้อยละ 50.1) ในขณะที่ประชาชน ร้อยละ 21.4 ไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยให้เหตุผล เช่น ไม่สนใจ ไม่มีเวลา/ไม่ว่าง และไม่ชอบ
1.2 ความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด (ร้อยละ 33.4) และในระดับปานกลาง (ร้อยละ 48.0)
ซึ่งนโยบายที่ประชาชนพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
- โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี
- นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP)
- มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
1.3 เรื่องที่ชุมชน/หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อน ได้แก่
- คนในชุมชนว่างงาน/ไม่มีอาชีพที่มั่นคง (ร้อยละ 29.9)
- สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง/ค่าครองชีพสูง (ร้อยละ 18.7)
- สินค้าเกษตรกรราคาตกต่ำ/ต้นทุนการผลิตสูง (ร้อยละ 18.0)
- ภัยธรรมชาติ (ร้อยละ 16.7)
- ปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 7.3)
1.4 เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ได้แก่
- ปัญหาการว่างงาน (ร้อยละ 41.2)
- ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง (ร้อยละ 20.4)
- ปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ (ร้อยละ 19.1)
- จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค/แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร (ร้อยละ 11.5)
- จัดสวัสดิการของรัฐให้เพียงพอและครอบคลุมทุกพื้นที่ (ร้อยละ 8.5)
1.5 ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 29.8 เชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ 48.7 เชื่อมั่นน้อยและน้อยที่สุด ร้อยละ 18.4 และไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 3.1
2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สสช. มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
2.1 ควรช่วยเหลือกลุ่มคนตกงาน/ว่างงาน โดยควรมีการดำเนินการเชิงรุกในระดับชุมชน/หมู่บ้าน เช่น การจ้างงานชั่วคราว การหาตลาดรองรับสินค้าของชุมชน การจัดอบรมวิชาชีพ
รวมทั้งการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคงและสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่มีสวัสดิการด้านแรงงาน เช่น เกษตรกร ผู้มีอาชีพค้าขาย และรับจ้างทั่วไป
2.2 ควรให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านค่าครองชีพ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น การควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและการลดค่าสาธารณูปโภค
2.3 ควรให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการประกอบอาชีพ เช่น การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การหาตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ การพยุงราคาสินค้าเกษตร และการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรสมัยใหม่ (Smart farmer)